คุณพ่อ คุณแม่คงเคยพบกับปัญหาที่ลูกน้อยงอแง ดื้อ และไม่ยอมทำตามคำสั่ง อยากได้นู่น อยากได้นี่ นั่นแสดงว่า ลูกเอาแต่ใจตัวเอง สาเหตุหลักๆ ของการเอาแต่ใจตัวเองของลูก มาจาก 2 ส่วนคือ มีปัญหาเรื่องการควบคุมอารมณ์ และการอบรมเลี้ยงดูที่ส่งผลถึงลูกโดยที่พ่อแม่ไม่รู้ตัว
เด็กเอาแต่ใจคืออะไร?
เด็กเอาแต่ใจ คือเด็กที่มีอารมณ์โกรธรุนแรง เมื่อไม่ได้ในสิ่งที่ตัวเองต้องการ ไม่ยอมทำตามคำสั่ง ปัญหานี้อาจสร้างความเครียดให้คุณพ่อ คุณแม่ จากการวิจัย Attention Deficit Hyperactivity Disorder – ADHD เด็กที่มีปัญหาเอาแต่ใจตัวเองส่วนใหญ่อาจเป็นโรคสมาธิสั้น เพราะมีนิสัยวู่วาม ควบคุมอารมณ์ไม่ได้ คุณพ่อ คุณแม่ เป็นส่วนสำคัญที่จะป้องกันปัญหาลูกเอาแต่ใจตัวเอง และเป็นคนจุดนิสัยเอาแต่ใจตัวเองนั้นขึ้นมาเช่นเดียวกัน ถ้ารักลูกก็ไม่ควรทำร้ายลูกด้วยการตามใจตั้งแต่ต้น ปลูกฝังนิสัยที่ดีได้ตั้งแต่ยังเล็ก ไม่เช่นนั้นลูกจะโตขึ้นและกลายเป็นคนเห็นแก่ตัว
อาการของเด็กเอาแต่ใจตัวเอง
- ไม่สามารถแยกแยะระหว่างความต้องการ และความอยากได้ แสดงความต้องการเกินจำเป็น
- ไม่ทำตามคำสั่ง กฎเกณฑ์ และคำแนะนำ ไม่หยุดกระทำในสิ่งที่ห้าม เมื่อพูดว่า “อย่า” “หยุด”
- โต้แย้งในทุกๆ เรื่อง และยืนยันที่จะทำตามวิธีการของตัวเองโดยไม่มีเหตุผล โต้เถียงไม่เลิกรา
- มีความอดทนต่ำเมื่อถูกกดดัน บ่นเบื่อตลอดเวลา และร้องกวน แสดงอารมณ์ร้ายบ่อยๆ
- ให้ความสำคัญกับตัวเอง รู้สึกว่าตัวเองมีอำนาจและอภิสิทธิ์เหนือกว่าคนอื่น ขาดความเห็นใจ
- กระทำในสิ่งที่ไม่ยุติธรรมกับคนอื่น ไม่เคารพสิทธิผู้อื่น บังคับคนอื่น เห็นคนอื่นเป็นสิ่งของไม่ใช่คน
- เมื่อกระทำความผิดชอบกล่าวโทษผู้อื่น แสดงออกถึงความเห็นแก่ตัว ก้าวร้าว หยาบคาย
สาเหตุของเด็กเอาแต่ใจ
การเลี้ยงดูของพ่อแม่ด้วยความใจอ่อน และยอมตามใจในช่วงเริ่มแรกของชีวิตวัยเด็ก และไม่กำหนดขอบเขตที่ชัดเจน ปล่อยให้ลูกร้องไห้ อาละวาด แสดงอารมณ์ร้ายๆ แสดงให้เห็นว่าพ่อแม่ยอมให้ลูกอยู่เหนือกว่า ทำอะไรก็ได้ตามใจ นั่นคือการปลูกฝังนิสัยเอาแต่ใจให้ลูกโดยไม่รู้ตัว ซึ่งอาจกลายเป็นปัญหาของสังคมในอนาคต โดยสาเหตุหลักๆ มีดังนี้
1.คุณพ่อ คุณแม่ตามใจ เอาใจลูก ทำให้ลูกรู้สึกพอใจตลอดเวลา
2.ซึมซับนิสัยของคนรอบข้างที่เอาแต่ใจ เช่น เพื่อนที่โรงเรียน หรือพ่อแม่เป็นต้นแบบความเอาแต่ใจไม่รู้ตัว
3.มีความรู้สึกอยากโดดเด่น เป็นคนแตกต่างจากคนอื่น อยากเอาชนะคนอื่น ชอบบังคับคนอื่นให้ทำตาม
4.เกิดจากความล้มเหลวในการเลี้ยงดูของพ่อแม่ ในการเปลี่ยนแปลงความคิดและพฤติกรรมของลูกน้อย
5.คุณพ่อ คุณแม่ไม่สามารถปลูกฝังคุณธรรม จริยธรรมภายในจิตใจให้ลูกได้ ลูกไม่ศรัทธาในศาสนา
6.โดยพื้นฐานของนิสัยลูกเป็นคนเห็นแก่ตัว ไม่เต็มใจเสียสละให้ผู้อื่น ปฏิเสธการกระทำที่ดี
อ่านต่อ “วิธีการแก้ปัญหาลูกน้อยเอาแต่ใจ” คลิกหน้า 2
วิธีการแก้ปัญหาลูกน้อยเอาแต่ใจ
1.หลังจากที่ลูกโตเกิน 2 ขวบ นิสัยเอาแต่ใจตัวเองควรที่จะค่อยๆ หายไป แต่ถ้ายังแสดงออกถึงความเอาแต่ใจอย่างต่อเนื่อง คุณพ่อ คูณแม่ควรพูดคุยกับลูกจริงจัง ว่าลูกควรเลิกพฤติกรรมอะไรบ้าง
2.ตั้งกฎเกณฑ์ภายในบ้าน เช่น ใช้คำว่า “อย่า” เท่าที่จำเป็น ตั้งเป้าหมายการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมที่ชัดเจน ไม่ใจอ่อน และยอมให้กับพฤติกรรมกรีดร้องอาละวาดมาเอาชนะกฎเกณฑ์ที่ตั้งไว้ได้
3.ให้ตัวเลือกกับลูก เพื่อให้เขาได้ตัดสินใจ เช่น เลือกเสื้อผ้าที่ใส่ อาหารที่รับประทาน หนังสือที่จะอ่าน เพื่อให้ลูกเข้าใจว่าตอนไหนบ้างที่ลูกเลือกได้ และตอนไหนบ้างที่ต้องทำตามคำสั่ง หรือกฎที่กำหนดไว้
4.ถ้าเป็นเรื่องของความปลอดภัย และกฎเกณฑ์ของสังคม ลูกต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด เช่น คาดเข็มขัดนิรภัย หรือนั่งคาร์ซีทสำหรับเด็ก ไม่ทำร้ายร่างกายผู้อื่น และไม่ทำลายข้าวของ เป็นต้น
5.เมื่อลูกต่อต้านต้องเตรียมตัวรับมือ เพราะไม่มีเด็กเอาแต่ใจคนไหนยอมทำตามได้ง่ายๆ ควรอธิบายให้ลูกเข้าใจถึงความจำเป็น และความต้องการ เพื่อให้ลูกแยกแยะให้ชัดเจน สนับสนุนให้ลูกทำในสิ่งที่จำเป็น
6.เป็นตัวอย่างที่ดีให้กับลูก ให้ลูกมีส่วนร่วมแสดงความเสียสละ อดทน และควบคุมตัวเอง และไม่ปกป้องลูกมากจนเกินไป ไม่อำนวยความสะดวกให้ลูกมากเกินจำเป็น ปล่อยให้ลูกเรียนรู้บางเรื่องด้วยตัวเอง
7.เสริมสร้างความมั่นใจ และการแก้ปัญหาให้ลูก สอนลูกมีความอดทนอดกลั้นต่ออารมณ์ เพราะทุกอย่างไม่สามารถเป็นได้ดังใจ สอนให้ลูกรู้จักการรอคอย ควบคุมอารมณ์โกรธ
8.ไม่ชมลูกเกินจำเป็น ควรให้คำชมเมื่อลูกทำความดี หรือสามารถทำสิ่งที่ยากได้สำเร็จ จงจำไว้ว่าการรักลูก ต่างจากการตามใจลูก แสดงความรักต่อลูก ด้วยการสอนให้ลูกเก่ง ซื่อสัตย์ ใส่ใจความรู้สึกของคนอื่น
เครดิต: ถามครู.com, โรงเรียนอนุบาลเศรษฐบุตร
Save