การใช้จุกหลอก สามารถแก้ปัญหาการดูดนิ้วของลูกที่อาจส่งผลต่อการขึ้นของฟันในอนาคตของลูกน้อยได้ หากคุณพ่อ คุณแม่สามารถควบคุมการใช้จุกหลอกอย่างเหมาะสม แต่ปัญหาหนึ่งที่อาจเกิดขึ้นคือการติดจุกหลอก จนบางครั้งก็ไม่สามารถ เลิกจุกหลอก ได้ ซึ่งโดยทั่วไปแล้วควรเลิกให้ได้ก่อน 1 ขวบ
เลิกจุกหลอก ต้องรู้จักข้อดีข้อเสีย
โดยทั่วไป ความช้าเร็วในการเลิกจุกหลอกของแต่ละครอบครัวนั้นไม่เท่ากัน แต่ก็ไม่ควรเลิกช้าเกิน 3 ขวบ เพราะอาจจะส่งผลต่อการเรียงของฟันได้เช่นกัน การใช้จุกหลอกนั้น มีทั้งข้อดี และข้อเสีย
- ข้อดี ของการใช้จุกหลอก คือ สามารถแก้ปัญหาการดูดนิ้วของลูกที่อาจส่งผลต่อการขึ้นของฟันในอนาคตของลูกน้อยได้ และสามารถแก้ปัญหาเมื่อลูกน้อยติดการดูดนมแม่จนบางครั้งก็เกินความจำเป็นจนสำลัก หรืออาเจียนออกมาเพราะกระเพาะรับนมแม่ไม่ไหว หรือหากขาดการดูดไปแล้วลูกน้อยจะร้องไห้งอแง
- ข้อเสีย ของการใช้จุกหลอก คือ ถ้าไม่ดูแลทำความสะอาดให้ดีอาจเป็นแหล่งสะสมของเชื้อโรค การใช้จุกหลอกอย่างไม่เหมาะสมก็อาจจะทำให้ฟันผุฟันเก และนอกจากนี้ การใช้จุกหลอกพร้อมสายคล้องคออาจทำให้ลูกน้อยเกิดความเสี่ยงสายรัดคอจนเสียชีวิตได้ คุณพ่อคุณแม่จึงควรใช้จุกหลอกอย่างรอบคอบ
วิธีการใช้จุกหลอก
1.ควรให้ลูกน้อยใช้จุกหลอก เมื่อดูดนมแม่อิ่มแล้ว หรือใช้ในกรณีที่คลอดก่อนกำหนด หรือมีอาการป่วย เพื่อให้ธรรมชาติในการดูดยังคงดำเนินต่อไป
2.ไม่ควรให้จุกหลอกแทนการดูดนมเมื่อหิว ไม่ควรใส่จุกหลอกเข้าไปในปากลูกทุกครั้งเมื่อร้องงอแงควรหาสาเหตุว่าลูกน้อยร้องไห้เพราะอะไรก่อน
3.ควรทำความสะอาดจุกหลอก นึ่งฆ่าเชื้อทุกครั้ง หรือใส่ลงไปในน้ำเดือด 5 นาทีก่อนใช้งาน และหลังใช้งาน
4.ตรวจสอบจุกหลอกว่ามีสภาพสมบูรณ์หรือไม่ หากมีรอยแตก ฉีกขาดควรทิ้งทันที และควรเปลี่ยนจุกหลอกทุกๆ 2 เดือน
5.อย่าให้ลูกดูดจุกหลอกทั้งวัน เมื่อลูกน้อยเริ่มคลาน หรือเดินไปรอบๆ ได้แล้ว เพราะจะส่งผลต่อพัฒนากรทางการพูด และการขึ้นของฟันได้
อ่าน “วิธีเลิกจุกหลอก” คลิกหน้า 2
วิธีเลิกจุกหลอก
1.จำกัดเวลาในการใช้จุกหลอก โดยให้ใช้เฉพาะเวลานอนไปจนถึง 1 ขวบก็ควรเลิกได้แล้ว
2.เลิกแบบค่อยเป็นค่อยไป บอกลูกว่า เขาจะใช้จุกนมหลอกได้เมื่อถึงเวลานอน (กลางวันและกลางคืน) เท่านั้น
3.ลดความน่าสนใจ หรือความน่าใช้ของจุกนมหลอกลง โดยจุ่มลงไปในน้ำผัก ซึ่งรสชาติไม่ได้แย่อะไรนัก แต่ก็ทำให้จุกนมหลอกไม่น่าดูดเหมือนเคย
4.ไม่ทำโทษ หรือทำให้อับอาย เพื่อบังคับให้ลูกน้อยเลิกจุกหลอก
5.ให้ลูกน้อยได้มีส่วนร่วมในการตัดสินใจว่าจะเลิกได้ด้วยตนเอง
อ่าน “วิธีเลิกจุกหลอก (ต่อ)” คลิกหน้า 3
วิธีเลิกจุกหลอก (ต่อ)
6..เน้นที่ความอยากจะเป็นเด็กโต ให้ลูกรวบรวมจุกนมหลอกทั้งหมดที่มีอยู่ แล้วพาไปร้านขายของเล่นเพื่อให้เขา แลก จุกนมหลอกเหล่านั้นกับของเล่นสำหรับเด็กโต
7.ชื่นชมลูกน้อย เมื่อเขาสามารถเลิกจุกหลอกได้ด้วยตนเอง หรืออาจให้รางวัลกับลูกน้อย
8.ให้ลูกน้อยแสดงความรู้สึกว่าทำไมจึงไม่อยากเลิกใช้จุกหลอก
9.ถ้าลูกน้อยร้องขอจุกหลอกอีกครั้ง ให้บอกว่าไม่มีจุกหลอกแล้ว
10.ใช้คนที่ลูกเชื่อฟัง หรือน่าเชื้อถือเป็นตัวช่วย ออกคำสั่งห้ามดูดจุกนมหลอกอีก เช่น ทันตแพทย์ เชื่อเถอะว่า คุณพ่อคุณแม่จะไม่เห็นจุกนมหลอกคาอยู่ในปากของเขาอีกเลย
บทความโดย: กองบรรณาธิการนิตยสารเรียลพาเรนติ้ง
อ่านบทความเพิ่มเติม คลิก!!
ลูก”ติดจุกหลอก” อยากให้เลิกแต่ไม่รู้ทำอย่างไร คลิก!
จุกหลอก 5 ข้อดี 5 ข้อเสีย ที่ควรรู้ก่อนใช้
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่