AMARIN Baby And Kids – เพื่อลูกฉลาดและมีความสุข

ลงโทษ Time out!! วิธีการนี้ดีหรือไม่…ลูกจะรู้สึกอย่างไร?

ลงโทษลูกแบบ timeout ดีหรือไม่ดี

ลงโทษ Timeout คือวิธีการลงโทษลูก ให้เด็กสงบสติอารมณ์โดยภาษาบ้านๆ ที่เข้าใจกันคือ ให้ไปหลบเข้ามุม เงียบๆ คนเดียวซะ …แต่วิธีนี้อาจทำให้เด็กรู้สึกเสียใจและโกรธพ่อแม่ได้  ซึ่งนักจิตวิทยาทั่วโลกกำลังรณรงค์ให้มาลงโทษเชิงบวกที่เรียกว่า ไทม์อิน (Time in) แทน!!

มีงานวิจัย และการศึกษาต่างๆ ที่ออกมาชี้ว่า การลงโทษด้วยความรุนแรงไม่เกิดผลในทางบวกแก่เด็กแต่อย่างใด จนนำไปสู่การใช้วิธี “Time Out” หรือการให้เด็กได้พักสงบสติอารมณ์ รวมถึงให้เด็กได้สำนึกผิดกับสิ่งที่ตนเองทำลงไปในระยะเวลาที่เหมาะสมกับอายุของพวกเขา แต่การใช้วิธี Time Out นี้ก็มีเทคนิคแฝงอยู่เช่นกัน

การ ลงโทษ Time out!! กับลูก…วิธีการนี้ดีหรือไม่?

การลงโทษลูกแบบ Time out

โดยคุณหมอสินดี จำเริญนุสิต กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านพฤติกรรมจากโรงพยาบาลเวชธานี มีคำแนะนำเกี่ยวกับการลงโทษด้วยวิธี Time Out มาฝากกันค่ะ

วิธี time out เป็นวิธีหนึ่งในการปรับพฤติกรรม เพราะเป็นเหมือนการถอนสิ่งที่เด็กชอบออก นั่นคือ เด็กจะไม่ได้รับความสนใจจากใครเลย ไม่มีของเล่น ไม่มีอะไรให้ทำ ณ ขณะที่ time out อยู่

แม้ว่า time out เป็นวิธีที่ดี แต่ก่อนจะมี time out ต้องมี time in ก่อน คือ เวลาที่ดีร่วมๆ กัน เด็กต้องมีความผูกพันกับผู้ที่จะลงโทษเขาก่อน มีความรู้สึกว่าตนเองมีคุณค่า มีคนรัก เขาถึงจะมีพฤติกรรมที่ดีหลังทำ time out ค่ะ (ลองคิดง่ายๆ ถ้าเจ้านายเรา ออกกฎอะไรมาสักอย่างหนึ่ง เราจะอยากทำตามก็ต่อเมื่อเรารู้สึกว่าเจ้านายคนนี้เห็นคุณค่าเรา หรือมีสัมพันธภาพที่ดีกันมาก่อน) ดังนั้นไม่ใช่ว่าใครก็ได้ที่จะมา time out เด็กนะคะ วิธีการ คือ 

– กำหนดพฤติกรรมที่เป็นเป้าหมายที่จะลดให้ชัดเจน ด้วยการพูดคุยบอกกล่าวเด็กไม่ใช่นึกอยากทำก็ทำโดยที่ไม่ได้ตกลงกันมาก่อน

– เลือกสถานที่ที่จะนั่งให้เหมาะสม ควรเป็นที่ที่ยังมองเห็นกันได้อยู่ ห้ามใช้ ห้องน้ำ ระเบียงบ้านหรือห้องนอน

– อธิบายให้เด็กฟังขั้นตอนต่างๆ ที่จะเกิดขึ้น ในขณะที่เขายังมีอารมณ์ดีๆ อยู่ ว่าเขาต้องไปนั่งบริเวณนั้นๆ ถ้าทำพฤติกรรมไม่ดีดังกล่าว

– เมื่อเกิดพฤติกรรมขึ้น ให้ส่งเขาไปนั่งในที่ที่กำหนดไว้โดยใช้เวลา 1 นาที/อายุ 1 ปี ขณะนั้นเราจะไม่ตอบสนองเขาไม่ว่ากรณีใดๆ ทั้งสิ้น (การร้องไห้ของลูกก็เช่นกัน หากคุณแม่ได้ทำตามขั้นตอนทั้งหมดแล้ว ลูกก็ยังร้องไห้ ขอให้คุณแม่ใจแข็งค่ะ คิดในใจว่า เรากำลังช่วยให้ลูกควบคุมอารมณ์ของตนเอง เพราะถ้าเราหนักแน่น ลูกจะร้องไห้สั้นลงเรื่อยๆ จนกระทั่งไม่ร้องและเรียนรู้ว่า เขาเองก็สามารถควบคุมอารมณ์เองได้ โดยที่ไม่ต้องใช้ความรุนแรง)

– หากเขาไม่ยอมนั่งเองหรือทำร้ายตัวเองขณะนั่งไปด้วย เราอาจต้องจับเขานั่งตักและกอดรัดเขาไว้ให้แน่น แต่ห้ามพูดหรือตอบสนองเขา เมื่อเสร็จแล้วจึงพูดคุยกับเขาด้วยเหตุผลสั้นๆ

จากนั้นให้คุณพ่อคุณแม่ลองทบทวนว่าที่ผ่านมา เราได้ทำตามขั้นตอนนี้หรือไม่ และหากเรามั่นใจว่าจะใช้วิธีนี้ ต้องใจแข็ง หนักแน่น เพราะหากมีเพียงครั้งเดียวที่เราใจอ่อน ลูกก็จะเรียนรู้ว่า พฤติกรรมอะไรที่จะทำให้เขาได้สิ่งที่เขาต้องการ ดังนั้น ต้องอย่าให้เขาสับสนว่าเราต้องการสอนอะไรเขากันแน่นะคะ

อ่านต่อ >> “การลงโทษ Timeout เขาทำกันอย่างไร?” คลิกหน้า 2


ขอบคุณข้อมูลจาก : www.manager.co.th

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids

 

เทคนิคลงโทษลูกแบบ time out

ลงโทษ Timeout เขาทำกันอย่างไร?

การลงโทษลูกแบบ time out

ปรับเปลี่ยนวิธี Timeout

ทั้งนี้ถ้าการใช้ เวลานอกŽ ในช่วงนี้ไม่เวิร์คอีกต่อไป ก็คงถึงเวลาต้องปรับกลยุทธ์กันหน่อยแล้ว คือแทนที่จะใช้วิธีนี้รับมือหลังจากที่ลูกทำผิด ก็ลองเปลี่ยนมาสอนให้ลูกรู้จักแยกตัวออกไปเองก่อนที่สถานการณ์จะย่ำแย่จนไม่อาจควบคุมได้โดย

อธิบายวัตถุประสงค์ของการใช้ Time out หรือเวลานอกŽ ตอนที่สถานการณ์ยังคงสงบดีอยู่คุณก็อธิบายให้ลูกเข้าใจว่า ถ้าเขาหงุดหงิด ไม่พอใจคุณ หรือตื่นเต้นมากซะจนลืมทำตามกฎ ตอนนี้เขาก็น่าจะโตพอจนรู้จักสงบจิตสงบใจได้เองแล้ว คือเมื่อใดที่อารมณ์เสียหรือโกรธจัด เขาก็ควรแยกไปนั่งคนเดียวเงียบๆ สัก 2 – 3 นาที หรือจนกว่าจะตัดสินใจได้ว่าควรทำอย่างไรต่อไปดี

สอนให้ลูกมีทัศนคติในเชิงบวกต่อวิธีนี้ บอกลูกว่า แม้บางครั้งคุณจะยังเป็นคนสั่งให้เขาแยกตัวไปสงบจิตใจให้เย็นลง วิธีนี้ก็ไม่ใช่การทำโทษ แต่เป็นเวลานอกŽที่ช่วยให้เขารู้สึกดีขึ้นได้ต่างหากหามุมใหม่ให้ลูกแยกไปนั่งสบายๆ ได้คนเดียว เตรียมหมอนใบนุ่มหลากสีสวย ผ้าห่มผืนเหมาะ และนิทานดีๆ ไว้ให้พร้อม แต่หากสงสารลูกทำใจไม่ได้ที่จะลงโทษลูกให้หมองใจ ใช้วิธี Time in กันดีกว่าค่ะ

แก้นิสัยลูกน้อย ได้ด้วย Time-in

ถึงแม้ว่ากุมารแพทย์และนักจิตวิทยาพัฒนาการจะแนะนำให้ใช้วิธีการ Time out เมื่อต้องการจัดระเบียบนิสัยของลูก แต่จากงานวิจัยในช่วงหลังทำให้พบว่า จากภาพสแกนการทำงานของสมอง การที่จะใช้วิธีการ Time out นั้นไม่ได้ส่งผลดีตามที่คิด และยังรวมไปถึงความรู้สึกขุ่นเคืองใจที่เกิดขึ้นจากการถูกจับแยกให้ไปนั่งอยู่คนเดียวก็ส่งผลร้ายต่อสภาพจิตใจที่ส่งผลต่อเนื่องไปถึงพัฒนาการด้านอารมณ์ด้วยเช่นเดียวกัน

อ่านต่อ >> “เทคนิคเชิงบวกแก้นิสัยลูกน้อย ได้ด้วย Time in” คลิกหน้า 3

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids

 

แก้นิสัยลูกน้อย ได้ด้วย Time-in

ศาสตราจารย์ด้านพฤติกรรมศาสตร์จาก Pennsylvania State University ศาสตราจารย์ด้านออทิสซึมและความผิดปกติที่เกี่ยวข้องจาก Kennedy Kriger Institute และศาสตราจารย์คลินิกด้านจิตเวชจาก University of California-Los Angeles ได้แนะนำว่า เพื่อเป็นการปรับพฤติกรรมเด็กแล้ว การใช้ Time out จะไม่ค่อยได้ผล โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับเด็กเล็ก และเด็กที่มีปัญหาด้านพฤติกรรมประเภทภาวะสมาธิสั้น

หลักการของ Time in

เมื่อลูกแสดงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม คุณพ่อคุณแม่ควรที่จะให้เด็กนั่งหรือยืนที่มุมหนึ่งของห้อง ซึ่งคุณพ่อคุณแม่จะต้องนั่งอยู่ในห้องนั้นด้วย เด็กจะต้องอยู่อย่างสงบนิ่งในช่วงระยะเวลาหนึ่ง แต่ไม่นานจนเกินไป เพราะนั่นคือการส่งสัญญาณบอกเด็กว่า ถึงแม้พฤติกรรมเขาจะไม่น่ารัก แต่คุณพ่อคุณแม่ก็ไม่ได้ทอดทิ้งเขา

สำหรับเด็กที่อายุ 3 ขวบขึ้นไปนั้น คุณพ่อคุณแม่อาจใช้วิธีนับเพื่อให้เขานั่งลง ถ้าเด็กไม่ยอมนั่ง ให้พูดด้วยน้ำเสียงธรรมดาว่า “ถ้าหนูไม่นั่ง จาก 1 นาที จะกลายเป็น 3 นาทีนะคะ” ถ้าเด็กยังไม่ยอมนั่ง ให้เพิ่มระยะเวลาขึ้นเรื่อย ๆ จนเด็กพร้อมจะนั่ง และใช้รูปแบบเดียวกันนี้กับเด็กที่ส่งเสียงดัง ตะคอก หรือร้องโวยวาย คุณพ่อคุณแม่จะต้องกำหนดเวลาล่วงหน้าว่าจะให้นั่งกี่นาที แต่ไม่ควรเกิน 15 นาทีในเด็กเล็ก โดยปกติจะไม่เกิน 5 นาที หรือจะให้เฉลี่ยคือประมาณ 1 นาทีต่ออายุ 1 ขวบ

ศาสตราจารย์ด้านพฤติกรรมศาสตร์ยังแนะนำด้วยว่า เมื่อลูกนั่งแล้ว คุณพ่อหรือคุณแม่ควรจะยืนอยู่กับเขา แต่ไม่ใช่ยืนจ้องหน้าเขา หรือจะให้ดีก็คือคุณแม่อาจจะยืนอยู่ด้านหลังพร้อมกับวางมือลงบนไหล่ โดยวางอย่างเบามือและไม่กดน้ำหนักลงบนไหล่ ซึ่งวิธีการนี้ใช้ได้ดีกับเด็กที่มีปัญหาด้านพฤติกรรมอื่น ๆ ด้วย เพราะเด็กเหล่านี้จะมีความกระตือรือร้นมักจะอยากผุดลุกผุดนั่งตลอดเวลา การนั่งไม่นานสามารถทำให้เด็กผ่อนคลายการถูกจำกัดได้ ในขณะเดียวกัน การเอามือของคุณแม่วางไว้บนไหล่หรือในบางครั้งอาจะเอามือจับกันไว้ทำให้เขารู้สึกได้ว่า ยังมีคนอยู่ด้วยนั่นเอง และเป็นการแสดงความใกล้ชิดไม่ใช่เพราะโกรธและอยากควบคุม นอกจากนี้ยังเป็นการป้องกันไม่ให้เด็กทำอะไรรุนแรงอีกด้วย

รูปแบบของวิธีการ Time in ที่ได้ผลดียิ่งโดยเฉพาะในเด็กวัยอนุบาลคือ เทคนิค teddy bear วิธีการก็คือ เมื่อไหร่ก็ตามที่เด็กทำผิดหรือแสดงพฤติกรรมไม่ดี ก่อนคุณแม่จะให้ Time in ก็บอกให้ไปหยิบตุ๊กตาที่ชอบมานั่งเป็นเพื่อนด้วย หลังจากนั้นก็ให้ลูกและคุณแม่พูดกับตุ๊กตาในเรื่องที่เกิดขึ้น โดยที่คุณแม่เริ่มก่อนก็ได้ว่า “แม่เสียใจจังเลย วันนี้น้องตูนไปตีคุณยาย พี่หมีช่วยบอกคุณแม่ได้ไหมคะว่าคุณแม่จะทำอย่างไรดี” แล้วให้ลูกพูดกับตุ๊กตาในเชิงตอบโต้เช่นเดียวกัน เทคนิค teddy bear นี้จะช่วยให้เด็กคิดและพิจารณาพฤติกรรมต่าง ๆ ด้วยตัวเอง อีกทั้งยังช่วยคุณแม่ให้ใจเย็นลงอีกด้วย

ในการจับเวลานั้น คุณแม่อาจเลือกเอานาฬิกาที่มีเสียงจับเวลาและนาฬิกาที่สามารถมองเห็นและจับต้องได้ เช่น นาฬิกาจับเวลาน้ำเดือด ควรหลีกเลี่ยงนาฬิกาข้อมือเพราะทำให้เด็กไม่แน่ใจว่า ครบกำหนดระยะเวลาจริง ๆ หรือไม่ และเมื่อเด็กคุ้นเคยกับวิธีการ Time-in แล้ว เด็กอาจจะเป็นตั้งระยะเวลาเองเสียด้วยซ้ำ

วิธีการ Time in นี้ นอกจากจะเป็นการทำให้เด็กสงบสติอารมณ์ลงแล้ว โดยส่วนใหญ่ก็ช่วยทำให้คุณพ่อคุณแม่ใจเย็นลงและพร้อมที่จะคุยกันถึงสาเหตุของพฤติกรรมที่เกิดขึ้นได้ง่ายขึ้น และเมื่อคุณพ่อคุณแม่ได้มีเวลาทบทวนเหตุการณ์ไปพร้อมกับลูกและรับฟังเหตุผลอีกด้านด้วยแล้ว ทำให้การมองในมุมเพียงมุมเดียวของตนเองอาจไม่ใช่คำตอบในพฤติกรรมที่ไม่น่ารักของลูกอีกด้วย

เพราะการมีพื้นฐานจิตใจที่สมบูรณ์มั่นคงติดตัวไปจนโตเพราะรู้ว่าพ่อแม่อยู่เคียงข้างเขาไปตลอดชีวิต…ขอเพียงมีเวลานอกให้ตัวเองด้วย ลูกจะได้มีตัวอย่างให้เรียนรู้ยังไงล่ะคะ!

อ่านต่อบทความน่าสนใจ คลิก


บทความโดย: กองบรรณาธิการ Amarin Baby & Kids

ขอบคุณข้อมูลจาก : www.dailynews.co.th