คุณพ่อคุณแม่บ้านไหนลูกกำลังอยู่ในวัย 2 ขวบบ้างคะ อยากรู้จริงว่าเด็กๆ เขามี พัฒนาการด้านอารมณ์เป็นยังไงกันแล้วบ้าง ไม่รู้ว่าพ่อแม่ได้เจอลูกวีนปรี๊ดแตกใส่บ้างหรือเปล่า เพราะส่วนใหญ่แล้วเด็กที่เข้าสู่วัย 2 ขวบ มักมีการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ขึ้นๆ ลงๆ ที่เรียกว่า Terrible two อยากรู้ไหมว่าคืออะไร ทีมงาน Amarin Baby & Kids มีคำตอบมาให้ทราบกันค่ะ
Terrible two วัย 2 ขวบ มารู้จักกับลูกวัยนี้กัน
เด็กๆ วัย 2 ขวบที่มักจะมีภาวะอารมณ์สองขั้วเกิดขึ้นได้ในเวลาเดียวกัน เช่น มีอารมณ์เปลี่ยนแปลงขึ้นๆ ลงๆ เดี๋ยวอารมณ์ดี อารมณ์ร้าย อยากจะดื้องอแงก็เป็นขึ้นมาได้เฉยเลย เริ่มมีอาการเอาแต่ใจตัวเอง ร้องกรี๊ดๆ จนกว่าจะได้ของที่อยากได้ เริ่มมีความดื้อ ชอบอิสระ อยากทำ อยากได้อะไรก็ต้องขอให้ได้ทำเดี๋ยวนั้นเลย เป็นต้น ซึ่งภาวะอารมณ์ของลูกที่เป็นเช่นนี้เรียกว่า Terrible two ต้องบอกว่าเป็นช่วงวายร้าย 2 ขวบของเด็กๆ เลยก็ว่าได้ แต่คุณพ่อคุณแม่ไม่ต้องกังวลใจกันไปค่ะ เพราะเมื่อลูกเลยช่วงวัยนี้ไปก็จะกลับมาเป็นปกติ ทั้งนี้ก็ต้องขึ้นอยู่กับการเลี้ยงดูจากพ่อแม่ด้วย เพราะหากช่วงนี้ปรับตัวลูกได้ ก็จะไม่เป็น Terrible two ที่หนักมากไปค่ะ
การส่งเสริมให้ลูกได้เล่น ได้ทำกิจกรรมที่เหมาะสมกับช่วงวัยสามารถช่วยลดภาวะอารมณ์แบบ Terrible two ลงได้ ไปดูพร้อมกันค่ะว่าเด็กวัย 2 ขวบควรมีการเล่นที่เหมาะกับวัยอย่างไรได้บ้าง
1. ของเล่นมีไม่เล่น จะเล่นอย่างอื่น
ที่เป็นแบบนี้ : เพราะเขายังอยู่ในวัยที่ต้องการรู้จักสิ่งแวดล้อม เขามีผลกับสิ่งต่างๆ อย่างไร ยังเป็นช่วงทดลองอย่างต่อเนื่องจากวัยทารก เขาจึงชอบลากหรือเข็นรถเข็นไปนั่นมานี่ ทำอะไรซ้ำๆ ดึงลิ้นชักเข้า-ออก หรือผลักเก้าอี้ เปิดตู้เย็น เดินไปมาส่งของให้คนนั้นคนนี้ ทิ้งช้อนส้อมหรืออาหารลงพื้น และจะถูกใจมากถ้าพ่อแม่เก็บขึ้นมาและเขาก็ทิ้งลงไปอีก เราอาจจะดูว่าตลกทำไมต้องทำซ้ำๆ และชอบเล่นของทุกอย่างที่คุณไม่อยากให้เล่น ของเล่นมีกลับไม่เล่น
แม่ควรรับมืออย่างไร : พ่อแม่ต้องเข้าใจว่าลูกกำลังเรียนรู้สิ่งแวดล้อมหรือพยายามเลียนแบบคุณอยู่ และยิ่งถ้าถูกห้ามจะยิ่งท้าทาย น่าจะเป็นของสำคัญ น่าเล่นจังเลย มันต้องสนุกแน่ๆ และเป็นวัยเลียนแบบเห็นพ่อแม่ตัวยง เช่น เห็นแม่กวาดบ้าน ก็จะหยิบไม้กวาดมากวาดบ้าง หรือเห็นพ่อแม่คุยโทรศัพท์ก็อยากทำตาม ดังนั้นก็ไม่จำเป็นต้องรีบห้าม เพียงให้เขาได้ทดลองเพียงหอมปากหอมคอ แล้วเบี่ยงเบนความสนใจและหากิจกรรมอย่างอื่นให้ลูกทำจึงเป็นทางออกที่ดีที่สุด
2. อะไรอันตราย ชอบเล่นจัง
ที่เป็นแบบนี้ : หนูอยากสำรวจโลก อยากรู้ว่าถ้าทำอย่างนี้แล้วจะเป็นยังไงนะ
แม่ควรรับมืออย่างไร : ทุกสิ่งทุกอย่างรอบตัว สำหรับเด็กๆวัย 1- 3 ปีแล้ว ถือว่าเป็นการเล่นหมด ทั้งอันตรายและไม่อันตราย เป็นการเล่นเพื่อสำรวจ เรียนรู้ เพียงแต่เขายังไม่เข้าใจว่าสิ่งนี้เป็นมีโทษต่อตัวเอง เช่น ปลั๊กไฟ หรือพัดลม เจ้าตัวเล็กก็อยากจะทดลองทั้งนั้น เอานิ้วแหย่เข้าไปแล้วจะเป็นอย่างไงนะ วิธีรับมือก็คือ คุณต้องคุยกับลูกสั้นๆ แต่น้ำเสียงหน้าตาจริงจัง เช่น “ไม่เอานิ้วแหย่ปลั๊กไฟลูก ไฟจะดูด หนูจะเจ็บตัวได้” ซึ่งเจ้าตัวเล็กก็จะเข้าใจ สำคัญที่สุดคือเราต้องบอกให้เขารู้ว่าตอนนี้เขายังทำเองไม่ได้เพราะอะไร ถ้าเรามัวแต่ห้ามเด็กก็จะไม่รู้ว่าเพราะห้ามทำไม
อ่านต่อ >> วัย 2 ขวบเล่นอะไรเหมาะกับภาวะอารมณ์ Terrible two หน้า 2
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
เล่นอะไรที่เหมาะกับวัยก็ยังชอบอยู่
วัยนี้เป็นวัยที่มีการพัฒนาด้านกล้ามเนื้อมัดใหญ่ และกล้ามเนื้อมัดเล็ก จะชอบเล่นสำรวจสิ่งแวดล้อม ได้วิ่งได้ปีนป่ายจะช่วยให้กล้ามเนื้อมัดใหญ่แข็งแรง ส่วนการให้เด็กๆ ได้จับดินสอสี ปั้นดินน้ำมันหรือต่อบล็อก ก็จะช่วยพัฒนากล้ามเนื้อมัดเล็กเป็นอย่างดี
ในด้านภาษา การอ่านนิทานภาพ เล่านิทานให้ลูกฟัง จะช่วยส่งเสริมให้เด็กพัฒนาด้านภาษาได้ดี โดยเฉพาะนิทานที่มีเรื่องราวเกี่ยวกับสิ่งของเครื่องใช้หรือสิ่งที่อยู่รอบตัวในชีวิตประจำวันของเขา
เล่นแบบคู่ขนาน
เคยสงสัยไหมเวลาที่จับเด็กสองคนมานั่งเล่นด้วยกัน แต่ต่างฝ่ายต่างเล่นอยู่คนเดียวไม่เหลียวมองกันบ้างเลย ลูกของเราผิดปกติหรือเปล่านะ “วัยนี้เด็กยังไม่เล่นด้วยกันเพราะยังเล็กเกินไป แต่ละคนยังสนใจแต่ตัวเองอยู่ ยังไม่สนใจคนอื่น หรือถึงจะอยากเล่นแต่ไม่รู้จะเล่นอย่างไร ซึ่งทักษะสังคมก็เริ่มต้นจากการเล่นแบบคู่ขนาน เพียงนั่งเล่นใกล้ๆ กัน ก็ทำให้เขาได้เรียนรู้ว่ามีอีกคนหนึ่งอยู่ด้วย รู้ว่าอีกฝ่ายกำลังเล่นอะไร ขั้นต่อมาเขาก็จะเริ่มสนใจ และหาทางเล่นด้วยกันเมื่อเขาโตขึ้นอีกนิดหนึ่ง” ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นไปตามพัฒนาการพ่อแม่ไม่ต้องกังวลค่ะ
Terrible Two เล่นแบบไหนสยบ
“Terrible two ช่วงที่พ่อแม่ปวดหัวจี๊ด เพราะลูกเริ่มเป็นตัวของตัวเอง ปฎิเสธพ่อแม่ทุกอย่าง และเหมือนจะดื้อแต่จริงๆ แล้วเป็นลำดับขั้นพัฒนาการของเด็กวัยนี้ ทางที่ดีคุณควรให้อิสระเด็กในการทำอะไรด้วยตัวเองบ้าง เพราะถ้าเขาทำได้ก็จะรู้สึกภูมิใจ รู้สึกว่าตัวเองมีความสามารถในการทำสิ่งต่างๆ แม้ว่าบางครั้งถ้าลูกเล่นไม่ถูกใจพ่อแม่ หรือไม่เป็นไปตามที่พ่อแม่ต้องการ ซึ่งถ้าพ่อแม่เข้าใจ ก็ควรจะยอมให้ลูกเป็นผู้ริเริ่ม และเราลองเล่นตามลูกบ้างค่ะ”
อ่านต่อ >> 5 วิธีช่วยพ่อแม่เล่นกับลูกหยุดอารมณ์แปรปรวน หน้า 3
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
Tips เล่นกับวัยชวนป่วน แบบพ่อแม่ไม่ป่วน
1. เด็กวัยนี้จะเรียนรู้ได้ดีจากการฟังนิทานหรือเล่นสมมติให้ดู
เช่น ต้องการจะบอกให้ลูกรู้ว่าถ้าเอานิ้วแหย่ปลั๊กไฟแล้วอันตราย ลองหยิบตุ๊กตาของลูกขึ้นมา 1 ตัวแล้วสมมติสถานการณ์ขึ้นมา “เอ…จะเกิดอะไรขึ้นนะถ้าพี่หมีเอานิ้วแหย่ปลั๊กไฟ” จากนั้นให้ทำท่าหมีโดนไฟดูด เด็กๆ จะเข้าใจได้ดีกว่าการพูดอย่างเดียว เขาจะเข้าใจได้มากขึ้น จำได้ดี จำได้นาน
2. ถ้าคุณพ่อคุณแม่ไม่อยากเล่นด้วย
ก็ต้องเปิดโอกาสให้ลูกได้เล่นเอง ทดลองทำสิ่งต่างๆ ด้วยตัวเอง แต่ก็ต้องอยู่ในการดูแลของพ่อแม่ด้วย ที่สำคัญถึงไม่อยากเล่นแต่ก็ควรจะใช้เวลาร่วมกับลูกบ้าง วันละนิดละหน่อยแต่สม่ำเสมอ เช่น เล่านิทานให้ลูกฟังก่อนนอน เล่นเกมทายคำกันระหว่างอยู่บนรถ วันหนึ่งใช้เวลาแค่ 15-30 นาที ก็ทำให้ลูกรู้สึกดีกับคุณพ่อคุณแม่แล้ว
3. ถ้าลูกมีพี่เลี้ยง…
พ่อแม่ควรจะให้อิสระกับพี่เลี้ยง เพราะพี่เลี้ยงบางคนไม่ยอมให้เด็กเล่นเพราะกลัวถูกตำหนิ ควรมีการพูดคุยให้เข้าใจตรงกันก่อนเสมอ ว่าคุณยินดีให้ลูกเล่นเลอะได้ ไม่ต้องไปห้ามมาก เพราะถ้าพี่เลี้ยงเข้าใจการเล่นของเด็ก เด็กก็จะมั่นใจในการทดลองทำสิ่งต่างๆ มากกว่าเด็กที่ถูกเลี้ยงอย่างเข้มงวดตลอดเวลา
4. เด็กวัยนี้เล่นกับใครก็ได้
โดยเฉพาะเล่นกับคนที่เขารัก เด็กก็จะยิ่งมีความสุขมาก แต่ถ้าเล่นกับเด็กในวัยเดียวกัน ก็เป็นการฝึกทักษะทางสังคมให้เด็กได้ร่วมเล่นกับคนอื่นบ้าง โดยเฉพาะเด็กที่เป็นลูกคนเดียว การได้เล่นกับเพื่อนก็ช่วยฝึกเรื่องการแบ่งปัน ความอดทน การรอคอย
5. ของเล่นต้องห้ามบางอย่างก็รู้จักได้ แต่ผู้ใหญ่รู้จักควบคุม
ให้เด็กได้ดูหรือให้เขามีส่วนร่วมบ้าง เช่น เด็กที่อยากเล่นไฟ เราก็จุดไม้ขีดไฟ แค่เข้าใกล้ก็ร้อนแล้ว บอกเขาได้เลยว่าไม่ควรจับหรือเล่นไฟ และกำชับว่าเล่นเองไม่ได้ต้องมีผู้ใหญ่อยู่ด้วย
ภาวะทางอารมณ์ของลูกวัย 2 ขวบ บางครั้งอาจทำให้พ่อแม่รู้สึกหงุดหงิดว่าลูกเป็นอะไร และเกือบจะทำโทษลูกลงไปด้วยความโมโห แต่หากพ่อแม่ลองศึกษาพฤติกรรมลูกในแต่ละช่วงวัยให้ดีอย่างถ่องแท้ ก็จะทราบว่าลูกเป็นอะไร ซึ่งนั่นจะเป็นผลดีต่อตัวเด็ก และพ่อแม่ที่จะมีแนวทางในการจัดการกับพฤติกกรรม อารมณ์ของลูกได้อย่างถูกต้องค่ะ …ด้วยความใส่ใจและห่วงใย
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
อ่านต่อบทความเรื่องอื่นที่น่าสนใจคลิก
6 สิ่งที่สกัดกั้นการพัฒนา ความคิดสร้างสรรค์ ของลูก
เลี้ยงลูกให้เป็น “คนปกติ” ตามวัย
สนามเด็กเล่น พัฒนาสมองเด็ก ได้อย่างไร ?
ขอขอบคุณข้อมูลบทความ : กองบรรณาธิการนิตยสาร Amarin Baby & Kids