ฝึกลูกพูด …เป็นที่ทราบกันดีว่า หากพ่อแม่อยากกระตุ้นพัฒนาการลูก โดยเฉพาะเรื่องภาษานั้น ควรเริ่มต้นเมื่อรู้ว่าคุณแม่ตั้งครรภ์ในช่วงแรกๆ ซึ่งวัยที่สำคัญที่สุดของเด็กทุกคนที่จะสามารถกระตุ้นพัฒนาการต่างๆได้ คือ 3 ปีแรก เรียกได้ว่าเป็นยุคทองที่มีผลที่สุดสำหรับเด็กๆ
เมื่อใดเด็กจึงจะเริ่มพูด
การพัฒนาการทางด้านภาษาของเด็ก ก็จะเริ่มตั้งแต่แรกเกิด ตั้งแต่เด็กส่งเสียงร้องไห้ ประมาณ 2-3 เดือน ก็จะเริ่มส่งเสียงอ้อแอ้ ก็จะเหมือนจะเป็นการพูดคุยกับคุณแม่ ก็จะพัฒนาเรื่อยมาจนประมาณ 5-6 เดือน เด็กก็จะเริ่มเล่นน้ำลายเป่าปาก ส่งเสียงจากลำคอ ในที่สุดก็จะพัฒนามาเป็นคำพูดที่มีความหมาย โดยมากก็จะเริ่มตั้งแต่ประมาณ 10 เดือน – 15 เดือน หรือเฉลี่ยประมาณ 1 ขวบ ก็จะพูดเป็นคำที่มีความหมายซึ่งเด็กจะได้รับการกระตุ้นให้พูดหรือเปิดโอกาสไม่มีการเรียนรู้ภาษาจากพ่อแม่ ในที่สุดคำศัพท์ก็จะเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ประมาณ 2 ขวบ ก็จะเริ่มพูดคำที่มีความหมาย 2 คำ ติดกัน เป็นวลีสั้น ๆ “ไปไหน ไม่เอา” แล้วก็จะเริ่มขึ้นเป็นประโยคยาว ๆ ได้ประมาณ 3-4 ขวบ
เพราะพัฒนาการทางภาษาของเด็กไม่สามารถเกิดขึ้นได้เอง แต่จะต้องเกิดจากการปฏิสัมพันธ์กัน สิ่งแรก คือ มีความพร้อมทางด้านสมอง มีความพร้อมทางด้านการได้ยิน เรื่องของอวัยวะในปาก ที่จะเปล่งเสียงได้ และสิ่งที่สำคัญที่สุด ก็คือ โอกาสที่เด็กจะได้ยินคำพูดของผู้ใหญ่แล้วเปล่งเสียงตาม ถ้าไม่มีเด็กก็จะไม่สามารถพูดได้ เช่น ถ้าพ่อแม่มีเวลาพูดคุยกับลูกเป็นประจำ ลูกก็จะพูดได้เร็ว แต่ถ้าผู้ใหญ่พูดคุยกันเอง แต่ไม่ได้พูดกับเด็ก ก็จะไม่ได้ช่วยพัฒนาการทางด้านภาษาแต่อย่างไร
Must read : 14 วิธีทดสอบพัฒนาการลูก 1 เดือน – 5 ปี ว่าตรงตามวัยหรือไม่?
ทั้งนี้ จากผลสำรวจพบว่า อายุเฉลี่ยของเด็กที่จะพูดคำแรกถึงคำที่สิบนั้น จะอยู่ในช่วง 11 เดือนแรก ซึ่ง 1 ใน 6 ของพ่อแม่ทั้งหมดเผยว่า ลูกของเขามีปัญหาในเรื่องการพูดและ 4 % เผยว่า ลูกของพวกเขาไม่พูดเลย แม้จะอายุเลยมาถึง 3 ขวบแล้วและเมื่อผลสำรวจทราบถึงปัญหาหนึ่งที่พ่อแม่ส่วนใหญ่พบเกี่ยวกับลูกในเรื่องการพูดมากพอสมควร ทางทีมงานจึงหาวิธีแก้ปัญหา
โดย แคร์ เกลดาร์ด กรรมการมูลนิธิเพื่อการสื่อสารสำหรับเด็กแนะว่า ประการแรกที่พ่อแม่ควรตระหนักคืออย่าหวาดกลัวและวิตกกังวลในสิ่งที่พยายามทำให้ลูก และอีกประการหนึ่งคือ พัฒนาการของเด็กแต่ละคนนั้นต่างกันอยู่แล้ว ดังนั้นอย่าเปรียบเทียบระหว่างลูกของเรากับเด็กคนอื่น ทั้งนี้ 12 วิธีง่ายๆที่พ่อแม่สามารถกระตุ้นพัฒนาการการพูดของลูกมีดังต่อไปนี้
12 วิธีง่ายๆ ฝึกลูกพูด พ่อแม่สามารถทำได้ช่วงวัย 3 ปีแรก
1. คุยกับลูกตั้งแต่อยู่ในท้อง
นับตั้งแต่วินาทีที่คุณทราบว่า คุณกำลังจะเป็นพ่อและแม่นั้น นอกเหนือจากการดูแลเอาใจใส่ร่างกายและจิตใจของแม่แล้ว ทั้งสองคนควรจะใช้เวลาให้คุ้มค่าที่สุด โดยการพูดคุยกับลูก แม้เขาจะยังอยู่ในท้องก็ตาม
ทั้งนี้ ที่ผ่านมามีพ่อแม่ส่วนใหญ่เข้าใจผิดมาโดยตลอดว่า ช่วงที่ลูกยังเป็นทารกนั้นเขาคงไม่สามารถรับรู้ในสิ่งที่เราพูดหรือคุยกับเขาได้ แต่แท้ที่จริงแล้ว ไม่ว่าจะเป็นเพลงที่ฟัง เสียงที่พ่อแม่คุยกับเขานั้น ลูกที่อยู่ในครรภ์สามารถรับรู้และรู้สึกอยู่เสมอ ซึ่งสิ่งเหล่านี้นี่เองที่จะเป็นแรงกระตุ้นพัฒนาการของลูกน้อย โดยเราสามารถรับรู้ได้จากการดิ้นของลูกนั่นเอง
Must read : สร้างอัจฉริยะให้ลูก ด้วยการคุยกับลูกในครรภ์
2. สนุกกับการสอน
ลูกจะสนุกกับการเรียนรู้และสนใจสิ่งรอบข้าง ถ้าพ่อแม่สอนลูกด้วยความสนุกในการฝึกพูด ซึ่งพ่อแม่ต้องทราบก่อนว่า เด็กเล็กนั้นมักชอบเสียงและจังหวะดนตรี ของเล่นที่มีการเล่นเสียงสูงต่ำจะเป็นที่สนใจของพวกเขามาก รวมไปถึงเสียงของสัตว์ต่างๆไม่ว่าจะเป็นสุนัข แมว นก ฯลฯ ดังนั้นพ่อแม่สามารถให้สิ่งเหล่านี้เป็นอุปกรณ์เสริมในการกระตุ้นพัฒนาการของลูกได้เป็นอย่างดี
3. เรียนรู้ไปด้วยกัน
ในแต่ละวัน พ่อแม่ควรให้ลูกเรียนรู้ภาษาในชีวิตประจำวันไปด้วยกัน โดยการสอนคำง่ายเช่น อาบน้ำ ทานข้าว น้ำ กินนม และชื่อของสิ่งของไม่ว่าจะเป็น โต๊ะ เก้าอี้ รองเท้า เป็นต้น
4. ส่งสายตา
ภาษาที่ดีและได้ผลนั้น พ่อแม่ควรใช้ภาษาทางสายตา เวลาพูดกับลูกด้วย เพราะจะช่วยให้ลูกเข้าใจในสิ่งที่เราต้องการสื่อสารมากขึ้น
Must read : วิธีการเลี้ยงลูกอย่างชาญฉลาด ของ ‘เจ้าชายวิลเลียม’ ดยุกแห่งเคมบริดจ์ (อังกฤษ)
อ่านต่อ >> “เทคนิคสอนลูกฝึกพูดช่วงวัย 3 ปีแรก” คลิกหน้า 2
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
5. ย้ำพูดย้ำทำ
การที่พ่อแม่พูดคำใดคำหนึ่งซ้ำบ่อยครั้ง แน่นอนว่า ลูกจะสามารถซึมซับและเรียนคำเหล่านั้นได้แน่นอน แต่น้ำเสียงนั้น อย่าดุดันหรือซีเรียสเพื่อบังคับให้ลูกได้ในทันที มิเช่นนั้น นอกจากจะไม่มีประโยชน์แล้ว อาจกระทบจิตใจของลูกด้วย
6. ให้โอกาสลูก
หลังจากที่พ่อแม่สอนให้ลูกหัดพูดด้วยเทคนิคต่างๆแล้ว ที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือ พ่อแม่ต้องให้โอกาสลูกและให้เวลาเขาในการเรียนรู้ด้วย ไม่ใช่สอนเขาเดี๋ยวนั้นแล้วลูกต้องทำได้ พูดได้ทันที แต่กลับต้องค่อยเป็นค่อยไป เพราะเด็กต้องการเวลาในการปรับตัวและเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ดังนั้นเมื่อพ่อแม่พูดแล้ว ต้องให้เวลาเขาสักพักในการพูดตามหรือตอบกลับ
7. สั้น กระชับ ได้ใจความ
โดยธรรมชาติของเด็กที่มีอายุไม่เกิน 3 ขวบ นั้น ไม่สามารถพูดได้เป็นประโยคเหมือนผู้ใหญ่ พวกเขาพูดได้เพียงเป็นคำๆ ซึ่งบางทีอาจจะฟังไม่ค่อยรู้เรื่องเสียด้วยซ้ำไป
ดังนั้นสิ่งที่พ่อแม่ควรทำคือ เมื่อเขาพูดอะไรออกมา ลองถามเขาดูแล้ว เมื่อเราเข้าใจภาษาของเขามากขึ้นก็ชวนคุยต่อ วิธีนี้จะยิ่งทำให้ลูกกล้าพูดแล้วพูดเก่งขึ้นแน่นอน
8. สอนโดยการลงมือทำ
ศัพท์บางคำ เด็กอาจจะไม่เข้าใจความหมายหรือสิ่งที่พ่อแม่พยายามจะอธิบาย ดังนั้นการสอนพร้อมกับสิ่งที่เขาสามารถสัมผัสได้ เช่น เรื่องกลิ่น เรื่องความรู้สึกร้อน หนาว เย็น รวมไปถึงกิริยาท่าทางต่างๆ พ่อแม่ก็สามารถทำให้เขาดูได้เพื่อง่ายต่อความเข้าใจมากขึ้น
9. เล่นเกมเชิงบวก
หากลูกอยุ่ในวัย 2 ขวบ ขึ้นไป พ่อแม่อาจหากิจกรรมหรือว่าเกม เล่นกับลูก ซึ่งระยะเวลาที่เล่นด้วยกันพ่อ แม่ ลูกนั้น เขาจะเรียนรู้ภาษาจากพ่อแม่ และเข้าใจภาษานั้นง่ายขึ้นตามลำดับ
อ่านต่อ >> “เทคนิคสอนลูกฝึกพูดช่วงวัย 3 ปีแรก” คลิกหน้า 3
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
10. นิทานแสนสนุก
นิทานที่อ่านง่าย และสนุกก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับครอบครัวที่กำลังมีลูกวัยซน แต่นิทานแต่ละเล่มนั้น ก่อนที่จะซื้อ พ่อแม่ควรคำนึงก่อนว่า ลูกอายุเท่าไหร่ วัยของเขาสนใจภาพมากน้อยแค่ไหน เพราะถ้ายังเล็กมาก พ่อแม่ก็ควรซื้อนิทานที่เน้นภาพ เน้นสี ไม่ใช่เนื้อหา ซึ่งนิทานนี้เองที่จะกระตุ้นพัฒนาการของเขาได้เป็นอย่างดี อีกทั้งยังสร้างนิสัยรักการอ่านให้ลูกอีกด้วย
Must read : รวมนิทาน เรื่องสั้น รูปแบบ MP3 สำหรับเด็ก
Must read : เหตุผลที่ควรเล่านิทานและเทคนิคการเล่านิทานให้ลูกน้อยเพลิดเพลินและมีความสุข
11. เลี่ยงทีวีเป็นเพื่อน
ข้อห้ามเด็ดขาดสำหรับครอบครัวที่มีเด็กเล็กทั้งหลายนั้นคือ ห้ามให้ทีวีอยู่เป็นเพื่อนลูก เพราะที่ผ่านมา หลายครอบครัวต้องเจอปัญหาลูกไม่ยอมพูดเพราะดูแต่ทีวี
ในเรื่องนี้ผู้เชี่ยวชาญอธิบายว่า สาเหตุเป็นเพราะการที่เด็กดูโทรทัศน์นั้นเป็นการสื่อสารเพียงช่องทางเดียว เด็กได้แต่ดูและฟัง ไม่ได้พูดตอบโต้ ดังนั้นพ่อแม่ควรให้ลูกออกห่างจากทีวี และอยู่เป็นเพื่อนลูก ชวนเขาคุยจะดีกว่า
Must read : ภัยจากทีวี อย่าปล่อยให้ลูกน้อยเป็นเด็กสมาธิสั้น และออทิสติก
12. หยุด…เพื่อสอนลูก
ท้ายสุดนี้ พ่อแม่หลายคนอาจมองข้ามสิ่งสำคัญไปอีกหนึ่งประการนั่นคือ ทุกครั้งที่พาลูกไปเที่ยวเปิดหูเปิดตานอกบ้าน ลูกๆจะตื่นตาตื่นใจกับสิ่งแปลกใหม่รอบตัว แต่พ่อแม่กลับไม่ใช้โอกาสนั้นสอนเขาว่า มันคืออะไร เรียกว่าอะไร
ดังนั้น หากพาลูกไปไหนก็ตาม หยุดเดิน หรือชลอความเร็วรถสักนิด เพื่อบอกเขาว่า สิ่งที่เขาสงสัยนั้นคืออะไร เรียกว่าอะไร แต่ที่สุดแล้ว ก่อนที่จะหยุดเดิน หรือหยุดรถก็ควรมองซ้าย มองขวาให้ดีเสียก่อนเพื่อความปลอดภัย
√ สิ่งที่คุณแม่ควรทำ เพิ่มเติม
เด็ก บางคนสามารถเรียนรู้ภาษาได้เร็ว และพูดได้ตั้งแต่อายุ 1 ขวบ แต่ก็มีเด็กหลายคนที่ยังไม่ยอมพูดจนกระทั่ง 2 ขวบ คุณแม่พยายามหมั่นสังเกต แต่ไม่ควรกังวลมากเกินไปค่ะ เพราะแม้แต่ อัลเบิร์ต ไอสไตน์ ยังเริ่มพูดตอนอายุ 3 ขวบเลยค่ะ
คุณแม่ควรฝึกให้ลูกเรียนภาษาใหม่ เพิ่มอย่างน้อย 1 ภาษา ก่อนอายุ 3 ขวบนะคะ และเรียนต่อไปจนโต โดยภาษาที่สองนั้น เด็กควรได้เรียนรู้จากพ่อแม่ ครูและเพื่อนหรือคนที่เด็กเจอทุกวัน แต่ไม่ควรเปลี่ยนภาษาเรื่อยๆ เพราะเด็กจะสับสนและไม่เกิดผลค่ะ
เวลาหัดภาษาให้ลูก คุณแม่ควรเลือกคำใหม่ๆ ที่น่าตื่นเต้นและยากกว่าเดิม เพื่อให้ลูกได้สนุกและเหมาะสมกับสติปัญญาของเขา อย่างเช่น แทนที่จะเลือกคำว่า ‘แมว’ หรือ ‘หมา’ ลองเปลี่ยนมาใช้คำที่ยากขึ้น เช่น ‘crocodile’ หรือ ‘จระเข้’ เป็นต้นค่ะ
การที่พ่อแม่พูดภาษาแบบเด็ก หรือเลียนเสียงเด็กเวลาพูดกับลูก เด็กจะสามารถเชื่อมโยงคำกับวัตถุได้ง่ายขึ้น นิตยสารไทม์ได้เปรียบเทียบเสียงสูงๆ ต่ำๆ ของ ‘ภาษาแบบเด็ก’ ว่าเหมือนกับอาหารอันโอชะที่พ่อแม่นกหามาป้อนลูกนก เพราะถ้อยคำและสำเนียงแบบเด็กนั้นรื่นรมย์และไพเราะนักค่ะ หรือพูดง่ายๆ การพูดแบบเด็กจึงเปรียบเสมือนการใช้ภาษาแห่งรักนั่นเองค่ะ
อ่านต่อบทความอื่นน่าสนใจ คลิก!
- ระวัง! ตุ๊กตาพูดได้ อาจล้วงข้อมูลเด็กโดยไม่รู้ตัว
- ลูกพูดช้า ทำอย่างไรดี
- 10 คำพูดดีๆ ลูกอยากได้ยิน จากพ่อแม่
- 12 ประโยคที่พ่อแม่ควรพูดกับลูกทุกวัน
ขอบคุณข้อมูล : เรียบเรียงจาก เดอะซัน www.manager.co.th