AMARIN Baby And Kids – เพื่อลูกฉลาดและมีความสุข

พูดกันดีๆ สร้างลูก EQ ดี เพื่อชีวิตเป็นสุขและพบความสำเร็จในแบบตัวเอง

ทำไมเราจึงควรพูดกันดีๆ? คนมี EQ ดี = มีทักษะการสื่อสารดี (เข้าใจตัวเองและควบคุมอารมณ์ตัวเองได้ + มีทักษะแก้ไขปัญหา)

เคยเห็นใช่ไหม? คน IQ ดี แต่ EQ ไม่ดี เรียนดี จบสูง มีเงินทองแต่เอาชีวิตไม่รอด มีให้เห็นมากมาย

คนมีทักษะสื่อสารดี จะเป็นพื้นฐานให้พัฒนาทักษะอื่นๆ ที่จำเป็นในชีวิตได้ เช่น ทักษะการเรียนรู้ คือคิดเป็น ตั้งคำถามได้ ถ่ายทอดได้ ทำงานเป็นทีม และรู้จักสร้างสรรค์สิ่งใหม่ได้  มีทักษะชีวิตคือรู้จักจัดการอารมณ์ของตัวเองและผู้อื่นได้ สร้างมิตรเป็น  รู้จักแก้ปัญหาและยืดหยุ่น เป็นต้น  ลูกจึงพึ่งพาตัวเองและอยู่ร่วมกับสังคมได้อย่างที่พ่อแม่ไม่ต้องกังวล

เป็นความจริงที่ว่า หลัง 10 ขวบไปแล้ว ลูกไม่ค่อยฟังพ่อแม่แล้ว เพราะเขามีความคิดเป็นของตัวเองมากขึ้น จะบอกจะสอนอะไรตอนนั้นลูกก็ไม่ค่อยเชื่อ ไม่ค่อยฟังแล้ว  ถ้าจะสอนให้ลูกมีทักษะการสื่อสารที่ดี มีเวลาสอนตั้งแต่เขายังเล็ก

รู้ไหม

  1. ทักษะสื่อสารดี เริ่มจากมีทักษะการพูดที่ดี ทักษะการพูด หมายถึงมีความสามารถในการพูดและเข้าใจความหมาย เด็กจะเข้าใจความหมายก่อนพูดได้  จำได้ใช่ไหมตั้งแต่เขายังพูดไม่ได้สักคำ เวลาคุณพูดหรือบอกให้ทำอะไร ลูกก็ทำตามที่บอกได้
  2. พ่อแม่ฝึกลูกให้มีทักษะการพูดที่ดีได้ตั้งแต่เขายังเล็กๆ
  3. พูดคุยกับลูกทารกระหว่างทำกิจวัตรประจำวัน จะทำให้เขามีพัฒนาการดี เติบโต เรียนรู้ได้เร็ว เพราะสมองได้ทำงาน
  4. กับลูกเล็ก พูดคุยด้วยเหมือนเดิม แต่พูดให้ช้าและออกเสียงให้ชัด เพราะเด็กพูดได้จากการเลียนเสียงและรูปปาก
  5. กับลูกที่เริ่มพูดได้ ต้องเข้าใจพัฒนาการและใช้เทคนิคคุยกันดีๆ ควบคู่ไป เพราะเด็กเล็กยังรู้คำศัพท์ไม่มากพอ ไม่สามารถพูดหรือบอกความต้องการ หรือความรู้สึกได้ จึงแสดงออกด้วยการหงุดหงิด โวยวาย ร้องไห้ ที่พ่อแม่หรือผู้ใหญ่ เรียกอาการอย่างนี้ว่า “พูดไม่รู้เรื่อง”

อ่านต่อ “เคล็ดลับการ พูดกันดีๆ ทำอย่างไร” คลิกหน้า 2

3 สุดยอดเคล็ดลับพูดกันดีๆ

1. ฟังให้เป็น

เมื่อลูกอารมณ์ไม่ดี พ่อแม่ที่สงบและรับฟังลูก ฟังอย่างตั้งใจ ใส่ใจสบตาและวางมือจากทุกอย่างที่ทำอยู่ จะช่วยให้ลูกอารมณ์เย็นเร็วขึ้น การฟังเป็น ทำให้ลูกเกิดความไว้วางใจพ่อแม่ และรู้จักเคารพที่จะฟังผู้อื่น เพราะพ่อแม่แสดงให้เขาเห็นอยู่

2. อดทนที่จะไม่ดุด่า

ว่ากล่าว บังคับให้หยุดร้อง พูดแทรก หรือสั่งสอนทันที และอดทนต่อการสอนเรื่องเดิมๆ ซ้ำไปซ้ำมา เป็นร้อยเป็นพันครั้ง เพราะเด็กแต่ละคนต้องการเวลาในการฝึกทักษะต่างๆ ไม่เท่ากัน บางคน 3 ครั้งจำได้ทำได้ บางคน 10 รอบถึงทำได้ บางคน 100 รอบเพิ่งทำได้ครั้งหนึ่ง แต่พอ 300 รอบก็ทำได้ดี

3. ตลก ขบขัน เฮฮาเข้าไว้

ช่วยให้บรรยากาศน่าพูดคุยขึ้นเยอะ จริงไหม….

7 เทคนิคพูดดีๆ กับลูก

1. สอนให้รู้จักอารมณ์

เวลาอารมณ์ไม่ดี การปลอบและเรียกชื่อความรู้สึกที่เกิดขึ้นให้เขารู้ จะช่วยบรรเทาความรู้สึกได้ เป็นด่านแรกของการควบคุมอารมณ์ตัวเอง นั่นคือรู้ว่าตัวเองรู้สึกอะไรอยู่ แม้แต่อารมณ์ดีก็บอกให้เขารู้จักได้นะ

อ่านเพิ่มเติม [สร้างวินัยเชิงบวก] 3 เทคนิคเชิงบวก ฝึกลูกเล็กควบคุมอารมณ์ และความรู้สึกให้ได้ผล!

2. สอนให้บอกความต้องการของตัวเองได้

เด็กที่บอกความต้องการของตัวเองได้ เป็นขั้นแรกของการรู้จักวิธีแก้ปัญหา เด็กที่หงุดหงิด โมโห อารมณ์ไม่ดี พูดไม่รู้เรื่อง เพราะไม่ได้สิ่งที่ต้องการ และบางครั้งเขายังไม่รู้ด้วยซ้ำว่าตัวเองต้องการหรือไม่ต้องการอะไร

อ่านต่อ เทคนิคพูดดีๆ กับลูก ข้อ 3-7 คลิกหน้า 3

3. ให้ตัวเลือก

เด็กๆ จะร่วมมือง่ายขึ้น เพราะเขารู้สึกดีที่ได้เลือกและตัดสินใจด้วยตัวเอง เพื่อให้ได้ผลดี ตัวเลือกไม่ควรมากกว่า 3 และควรให้ตัวเลือกที่คุณรับได้ทุกข้อ เป็นอีกหนึ่งวิธีแก้ไขปัญหาที่ลูกเรียนรู้และนำไปใช้ได้เมื่อเขาโต

4. เตือนให้รู้

จะให้ลูกทำอะไร การบอกล่วงหน้าให้ลูกได้มีเวลาเตรียมตัว อะไรๆ จะง่ายขึ้น เพราะเด็กยังไม่คล่องแคล่วและสมองเขาไม่ได้ประมวลผลเร็วเท่าผู้ใหญ่นะ

5. สั้น กระชับ นึกภาพออก จึงทำได้

คำพูดรวมเช่น นั่งดีๆ ยืนดีๆ อย่าทำอีก เปลี่ยนให้ชัดเจนและเด็กนึกภาพออก เขาจึงจะทำตามได้ เช่น นั่งนิ่งๆ ไม่ลุกจากเก้าอี้ ไม่กระโดดลงจากบันไดอีก ฯลฯ

6. ให้คำชม

การชมที่ทรงพลัง ทำให้การสื่อสารบรรลุผล คือคงพฤติกรรมที่เหมาะสม ทำนิสัยน่ารัก คือการชมจากใจ บอกความรู้สึกของคุณ และระบุพฤติกรรมดีที่เห็น เช่น “เห็นลูกกินข้าวเองหมดเลย ชื่นใจจริงๆ” “โอ น่ารักมากๆ ตื่นแล้วพับผ้าห่มด้วย” “วันนี้หยิบการบ้านมาทำเองรู้หน้าที่ เจ๋งไปเลย” ไม่ใช่ชมลูกพร่ำเพรื่อและใช้อยู่แค่ประโยคเดียว อย่าง เก่งมาก ดีมาก สวยมาก

7. ทำโทษ

เป็นวิธีสื่อสารหนึ่ง เพื่อให้เขารู้ขอบเขตว่าอะไรทำได้ ไม่ได้ แค่ไหน อย่างไร การทำโทษจะได้ผลเมื่อบอกกล่าวให้เข้าใจตรงกันก่อน และทำโทษทันทีอย่างสมวัย ตัวคุณรับได้และเอาจริง ไม่ใช่เพียง “ขู่”

 

เรื่อง : กองบรรณาธิการนิตยสาร Amarin Baby & Kids

ภาพ : Shutterstock