พ่อแม่ทราบหรือไม่? การพูดกับลูกสามารถพัฒนาสมองและศักยภาพให้ลูกได้ คำพูดพัฒนาสมองลูกรัก ให้มี 6Q ได้แก่ สติปัญญา (IQ) อารมณ์ (EQ) การริเริ่มสร้างสรรค์ (CQ) ศีลธรรม จริยธรรม (MQ) การเล่น (PQ) และการแก้ไขปัญหา (AQ) สามารถทำได้ด้วยคำพูดเพียงไม่กี่คำ
พัฒนาการด้านสังคม
เด็กที่มีปัญหาด้านพัฒนาการบางอย่าง ส่วนใหญ่มีพัฒนาการด้านสังคมไม่สมบูรณ์ ซึ่งคาบเกี่ยวกับคุณธรรมด้วย แบ่งออกเป็น 3 ส่วนใหญ่ๆ
1.เกี่ยวกับตัวเอง เช่น การดูแลตัวเอง การใส่ใจต่อสิ่งต่างๆ ความทะเยอะทะยาน ความรู้สึกผิดชอบชั่วดี
2.เกี่ยวกับเด็กคนอื่น เช่น ความเอื้อเฟื้อ การช่วยเหลือกันและกัน ความสามัคคี ความรู้สึกซาบซึ้งขอบคุณ
3.เกี่ยวกับหมู่คณะ เช่น จิตสาธารณะ ความร่วมมือ การให้ความสำคัญกับงาน และครอบครัว
10 คำพูดเสริม 6Q ลูกรัก
1.ค่อยๆ (ช่วยเพิ่มทักษะการควบคุมพฤติกรรม)
เด็กที่ร่าเริงจะทำกิจกรรมด้วยพลังที่เต็มเปี่ยม บางครั้งมากจนมองว่าวุ่นวาย เด็กๆ เหล่านี้ไม่เก่งเรื่องควบคุมตนเอง คุณพ่อคุณแม่ลองใช้คำว่า “ค่อยๆ” จะช่วยควบคุมพฤติกรรมของลูกได้
สมองส่วนหน้า คือสมองที่ควบคุมการเคลื่อนไหว เรียกอีกอย่างว่า “สมองส่วนปัญญาเชิงสังคม” พฤติกรรมต่างๆ ของลูก เช่น การคาดเดาความรู้สึกผู้อื่น การคำนึงถึงผู้อื่น เกี่ยวข้องกับความสมบูรณ์ของสมอง เด็กที่มีพลังเหลือล้น จะปรับให้สงบนิ่งต้องมีปัญญาเชิงสังคมที่สมบูรณ์ การคิดในมุมมองของคนอื่น เรียกว่า “การรู้คิด” โดยปกติจะเกิดขึ้นกับเด็ก 9-10 ขวบ แต่คุณพ่อ คุณแม่สามารถพัฒนาการรู้คิดได้ตั้งแต่ลูกอายุ 3 ขวบขึ้นไป
คำว่า “ค่อยๆ” นั้นสำคัญ แต่ “นิ่งๆ” สำคัญยิ่งกว่า ถ้าทำให้ลูกรอนิ่งๆ ได้ การเลี้ยงดูก็จะง่ายขึ้นมาก แก้ปัญหาการเลี้ยงลูกจนเหนื่อย ควรสอนลูกให้รู้จักการรอคอยด้วยคำว่า “นิ่งๆ” “รอก่อนนะ” เมื่อลูกอยู่นิ่งแล้วจะสนใจการกระทำ และคำพูดของคนอื่น สามารถเข้าใจอะไรได้ดี
2.สิ่งสำคัญและมีค่า (ช่วยให้เห็นคุณค่าของสิ่งของ และผู้อื่น)
เด็กเล็กอายุประมาณ 1 ขวบ จะโกรธถ้าเห็นเด็กอื่นมาเข้าใกล้แม่ตัวเอง จนบางครั้งอาจเข้าไปดึงผม กัด หรือแสดงท่าทางเหมือนโดนแย่งของเล่น พฤติกรรมนี้แสดงว่า สิ่งนั้นคือ “สิ่งสำคัญและมีค่า” เด็กที่ชอบกัดเด็กคนอื่นเมื่อโตขึ้นก็จะหายไปเอง เมื่อเขาแสดงท่าทีว่าจะทำร้ายเพื่อน พ่อแม่ควรเตือนว่า “เพื่อนเป็นคนสำคัญและมีค่า” ลูกจะหยุดทำ และสอนให้ลูกรู้ว่าเพื่อนคือสิ่งสำคัญ หยุดพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมได้
เด็กบางคนชอบใช้กำลัง แม้จะขึ้นชั้นประถมแล้ว เพราะความก้าวร้าว คือความด้อยทางความเข้าใจ ขาดทักษะการควบคุมอารมณ์ตัวเอง และมีปัญหาด้านจิตใจ แม้จะสอนว่า “ความรุนแรงเป็นสิ่งไม่ดี” แต่ลูกก็ยังไม่หยุด และยังใช้กำลังต่อไป วิธีแก้คือฝึกให้ลูกพูดออกมาว่า “นั่นคือสิ่งสำคัญและมีค่า” เพื่อสร้างจิตสำนึกและความเอื้ออาทรต่อผู้อื่น
เด็กจะค่อยๆ เรียนรู้คำว่า “สำคัญและมีค่า” ตอนอายุประมาณ 1 ขวบ ซึ่งความรู้สึกของคนเราที่เรียกว่าความเคืองใจ มักพาให้เกิดสิ่งไม่ดี อาจทำร้ายคนอื่น หรือทำข้าวของเสียหาย การรักษาความเคืองใจคือต้องเห็นคุณค่าของคนอื่น และสิ่งของ ก็จะทำให้เป็นมนุษย์อย่างสมบูรณ์
พ่อแม่ส่วนใหญ่ใจร้อนอยากให้ลูกเปลี่ยนแปลงเร็วๆ ซึ่งการที่ลูกจะเห็นคุณค่าของสิ่งหนึ่งนั้น ต้องอาศัยความเข้าใจ และใช้เวลาพอสมควร
เมื่อลูกมีสิ่งที่เรียกว่า “สำคัญและมีค่า” ก็จะค้นพบคุณค่าของชีวิต ในทางตรงข้าม ถ้าลูกไม่มีสิ่งที่เรียกว่า “สำคัญและมีค่า” ก็คงมีวันเวลาที่สูญเปล่า คุณพ่อ คุณแม่จึงต้องสอนให้ลูกรู้จักคิดว่าอะไรคือสิ่งสำคัญ
อ่านต่อ >> “เรียบร้อยแล้ว และไม่เป็นไร” คลิกหน้า 2
3.เรียบร้อยแล้ว (สอนให้ลูกรู้จักขั้นตอนต่างๆ)
คำว่า “เรียบร้อยแล้ว” เป็นวิธีทำให้เด็กได้รับการยอมรับในสังคมที่ตัวเองอาศัย ไม่ใช่การพูดด้วยวาจาเท่านั้น แต่ต้องให้สัมผัสด้วยตัวเอง การบอกให้ผู้ใหญ่รู้ว่า “เรียบร้อยแล้วนะ” “ยังไม่เรียบร้อย” “ทำแบบนี้ถูกแล้ว” เด็กจะรู้สึกสบายใจว่ามีที่ยืนในสังคม
หมั่นชมลูกบ่อยๆ หรือเตือนซ้ำๆ เพื่อให้พวกเขาไปถึงเป้าหมายของตัวเอง เพราะเด็กเล็กมักสังเกตคำพูด และการกระทำของคนรอบข้าง หมั่นสอนเขาบ่อยๆ เนื่องจากเด็กไม่รู้ว่าตัวเองต้องทำอะไร คำว่า “เรียบร้อยแล้ว” เกิดจากความต้องการให้ผู้ใหญ่ตั้งใจดูเขาให้ดี
คำว่า “เรียบร้อยแล้ว” ที่เด็กพูดออกมา มีความหมายและหน้าที่หลายอย่าง เมื่อเด็กบอกว่า “เรียบร้อยแล้ว” พ่อแม่บอกว่า “เก่งจังเลย” ก่อให้เกิดความสัมพันธ์ที่แนบแน่น ในทางจิตวิทยาเรียกว่า “สภาพแวดล้อมที่พร้อมตอบสนอง” ตอบสนองคำพูดและการกระทำของลูกอย่างกระตือรือร้น เป็นสิ่งที่ขาดไปได้สำหรับพัฒนาการเด็ก
4.ไม่เป็นไร (ช่วยสร้างความรู้สึกสบายใจ)
บางครั้งลูกก็ต้องการความรู้สึกว่าตัวเองได้รับการปกป้องเช่นกัน ถ้าพ่อแม่เอาแต่ถามว่า “ไม่เป็นไรใช่มั้ย” ตลอดเวลา จะทำให้ลูกกังวลยิ่งขึ้น ลองใช่คำว่า “ไม่เป็นไร” ด้วยน้ำเสียงที่หนักแน่น เพื่อสร้างความสบายใจ หรือคำที่มีความหมายคล้ายกัน เช่น “สบายใจได้” “แบบนี้ดีแล้ว” “ดีจังนะ”
อย่าพูดว่า “ไม่เป็นไร” ถ้าตัวเองก็กังวลเหมือนกัน
เด็กบางคนปกติแล้วดื้อมาก แต่บางครั้งก็กลายเป็นเด็กขี้กลัว การเปลี่ยนแปลงทางความคิดและพฤติกรรม มักเกิดในเด็กเล็กและไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะทักษะการควบคุมอารมณ์ยังไม่สมบูรณ์ การที่เด็กมีท่าทางและการแสดงออกที่แตกต่างกัน คือการค้นหาตัวตนของตัวเอง
เด็กบางคนเป็นเด็กติดแม่ ซึ่งโดยปกติแล้ว เด็กจะออกห่างจากพ่อแม่เมื่ออายุประมาณ 2 ขวบ จะกำหนดสิ่งต่างๆ เป็นไปตามใจตัวเอง เมื่อเขามีทักษะการตัดสินใจขั้นพื้นฐาน และตัดสินใจด้วยตัวเองได้แล้วจะเริ่มอยากห่างพ่อแม่ไปเอง
อ่านต่อ >> “ทำด้วยกัน และถ้า…แล้วจะ…” คลิกหน้า 3
5.ทำด้วยกัน (ช่วยเสริมทักษะการเข้าสังคม)
เด็กปฐมวัยจะตั้งใจเลียนแบบคำพูด และท่าทางหลายอย่างของคนอื่น จะเริ่มพูดว่า “ทำด้วยกันนะ” และอยากทำสิ่งเดียวกับผู้อื่น
เด็กส่วนใหญ่จะเริ่มใช้คำว่า “ทำด้วยกัน” ประมาณ 2 ขวบ จะสนใจพฤติกรรมของคนอื่น และทำอะไรพร้อมคนอื่น เพื่อปรับตัวเข้ากับจังหวะของอีกฝ่าย เช่น การเดินด้วยกัน อาบน้ำด้วยกัน กินข้าวด้วยกัน นอนด้วยกัน ทำให้ขอบเขตความสามารถของเด็กขยายตัวรวดเร็ว
การทำอะไรด้วยกันทำให้รู้สึกเห็นพ้องกับอีกฝ่าย ทำให้เข้าใจความรู้สึกของผู้อื่น และแยกแยะอารมณ์ของตัวเองได้อีกด้วย
6.ถ้า…แล้วจะ… (สอนให้ยอมรับความคิดเห็นของผู้อื่น)
ตัวอย่างที่เข้าใจง่าย เช่น “ถ้ากิน (อาหารที่ไม่ชอบ) ได้จะให้กิน (อาหารที่ชอบ) นะ” เพื่อให้ลูกเข้าใจกติกาที่พ่อแม่ และสังคมกำหนด
เด็กจะรู้จักการเล่นอย่างมีกติกาเมื่ออายุ 3 ขวบขึ้นไป ก่อนหน้านี้จะเริ่มเข้าใจกฎกติกาบางอย่างที่มองไม่เห็นและสัมผัสไม่ได้ เป็นหนึ่งในการแลกเปลี่ยนง่ายๆ ประสบการณ์ตรงจะช่วยให้เข้าใจกติกาได้ง่าย เช่น การใช้คำพูดแสดงลำดับการกระทำ ซึ่งพ่อแม่เองก็ใช้บ่อย เช่น “สวมเสื้อก่อนค่อยออกจากบ้าน” “อาบน้ำก่อนแล้วค่อยเล่น”
เด็กๆ จะเข้าใจว่าบางเรื่อง “ถ้าไม่เรียนรู้จากสังคม ก็อยู่ด้วยกันไม่ได้” เคยสังเกตบ้างไหม เราเรียนรู้ภาษาได้อย่างไร การส่งเสียงของทารกคือภาษาที่ใช้กันทั่วโลก เด็กจะเลือกใช้ภาษาที่เลือกเอาเฉพาะจากในสังคมที่ตัวเองอยู่อาศัย และตัดภาษาอื่นทิ้งไป เมื่อรับรู้กติกาที่ใช้ควบคุมคน จะเข้าใจข้อกำหนดในสังคมที่ตัวเองอาศัยอยู่
อ่านต่อ >> “ขอหน่อยนะ กับ ให้และรับ” คลิกหน้า 4
7.ขอหน่อยนะ (สอนให้รู้จักการแบ่งปัน)
เวลาบอกว่า “ขอหน่อยนะ” เด็กบางคนก็ให้ บางคนก็ไม่ให้ ซึ่งเด็กแต่ละคนมีนิสัยติดตัวมาแต่กำเนิด บางคนยึดติดกับสิ่งของน้อย บางคนยึดติดกับสิ่งของมาก การฝึกให้รู้จักการแบ่งปันด้วยคำว่า “แบ่งคนละครึ่ง” ช่วยให้ลูกรู้จักการเข้าสังคม และสอดคล้องกับพัฒนาการ ยิ่งถ้าลูกไม่ค่อยมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น ยิ่งควรรู้จักแบ่งปัน
8.ให้และรับ (ต่อยอดการเป็นทั้งผู้ให้ และผู้รับ)
การเข้าใจความสัมพันธ์ระหว่าง “ให้และรับ” เป็นการเข้าใจกลไกของสังคม ที่มีผู้ให้ก็ต้องมีผู้รับ มีผู้กระทำ ก็ต้องมีผู้ถูกกระทำ เพียงแต่เด็กบางคนอาจยังเข้าใจความหมายของคำได้ช้าสักหน่อย ให้หมั่นยกตัวอย่างในชีวิตจริงเพื่อความเข้าใจ
อ่านต่อ >> “ขอยืม และหน้าที่” คลิกหน้า 5
9.ขอยืม (สอนให้เข้าใจสิทธิ์การเป็นเจ้าของ)
เมื่อลูกเล่น หรือหยิบของผู้อื่นโดยไม่ขออนุญาตก็จะมีปัญหาตามมา ควรสอนให้เขาเข้าใจและพูดคำว่า “ขอยืม” เพื่อบอกความต้องการของตัวเอง
เด็กเริ่มรู้จักการแลกเปลี่ยนเมื่ออายุ 1 ขวบ เมื่ออยากได้ของคนอื่น พ่อแม่ควรสอนให้พูดว่า “ขอยืม” เด็กจะเรียนรู้ว่าถ้าขออนุญาตเจ้าของก่อนก็จะไม่เกิดปัญหา ทำให้เกิดการขัดเกลาทางสังคมโดยการเรียนรู้จากผู้ใหญ่ และเพื่อนๆ ทำให้เกิดการพัฒนา การที่พ่อแม่กลัวปัญหามากเกินไปจนห้ามคบเด็กคนอื่น จึงเป็นวิธีที่ผิด ควรให้ลูกมีปฏิสัมพันธ์และสอนวิธีรับมือให้เหมาะสม และจะทำให้ลูกของเราเข้มแข็งขึ้น
10.หน้าที่ (สอนให้ลูกรู้จักหน้าที่ของตัวเอง)
เด็กเรียนรู้การกระทำของผู้ใหญ่ เมื่อถึงเวลาเขาจะอยากกำหนดทุกอย่างด้วยตัวเอง จะได้ยินคำว่า “ไม่ยอม” บ่อยขึ้น และเชื่อฟังพ่อแม่น้อยลง ถือเป็นช่วงที่เลี้ยงยาก แต่ก็เป็นช่วงที่เริ่มตัดสินใจด้วยตัวเอง เด็กแต่ละคนมีระดับความดื้อรั้นแตกต่างกัน เด็กจะเรียนรู้ความคิดของอีกฝ่าย และสิทธิ์การตัดสินใจเป็นของใคร เช่น บางคนร้องงอแงเมื่อบอกว่าได้เวลากลับบ้าน เพราะไม่เข้าใจว่า กลับหรือไม่กลับ เป็นสิทธิที่ผู้ใหญ่ตัดสินใจ และอาจเข้าใจผิดว่าตัวเองตัดสินใจ
เมื่อไม่เข้าใจสิทธิ์การตัดสินใจ จะไม่เข้าใจหน้าที่ของตัวเอง ลูกจะไม่ทำตามการตัดสินใจของพ่อแม่ แสดงการต่อต้าน และดื้ออย่างรุนแรง เพราะเข้าใจผิดว่าตัวเองตัดสินใจเอง และคิดว่าผู้ใหญ่ออกคำสั่งเพราะต้องการกลั่นแกล้ง