AMARIN Baby And Kids – เพื่อลูกฉลาดและมีความสุข

Smart Phone แก้ปัญหาลูกติดมือถือใน 7 วัน

เทคนิคแก้ปัญหาลูกติดมือถือภายใน 7 วัน

คุณพ่อ คุณแม่สมัยใหม่หลายคนคงหนักใจไม่น้อยที่เห็นลูกๆ ติดจอ ทั้งมือถือ และแท็บเลต คุณพ่อคุณแม่หลายครอบครัวคงตั้งใจเอาไว้ก่อนที่จะมีเจ้าตัวน้อย ว่าถ้ามีลูกจะไม่ยอมให้ลูกเล่น Smart Phone และ Tablet เป็นอันขาด ยิ่งเวลาที่เห็นพ่อแม่คนอื่นๆ ให้ลูกเล่นก็มักจะคิดในใจว่า “ไม่รู้หรือไงว่ามันไม่ดี”

เมื่อพบเจอกับตัวเองจึงได้รู้ว่าอุปกรณ์เหล่านี้ค่อยๆ ซึมซับไปกับลูกทีละเล็ก ทีละน้อย เริ่มจากการที่คุณพ่อ คุณแม่เปิดเพลงสอนภาษาอังกฤษให้ลูกฟัง เพื่อให้ลูกอยู่นิ่งๆ จะได้เลี้ยงง่ายๆ คุณพ่อคุณแม่ก็จะเห็นดีเห็นงามไปกับอุปกรณ์เหล่านี้ไปด้วย คิดว่าคงไม่แย่เพราะลูกได้เรียนรู้ จดจำคำศัพท์ได้หลายคำ หลังจากนั้นเวลาในการใช้ก็เริ่มนานขึ้น นานขึ้น จาก 5-10 นาที กลายเป็นชั่วโมง และเริ่มบ่อยขึ้นเรื่อยๆ จนถึงขั้นดูก่อนนอนทุกคืน

ลูกติดมือถือแก้ยังไง

หลังจากนั้นก็เริ่มสังเกตพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปของลูกอย่างจริงจัง ลูกเริ่มดูไม่จบคลิป ดูสักพักก็เริ่มเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ถ้าไม่ยอมให้เปลี่ยนก็จะเริ่มโวยวาย เป็นสัญญาณของโรคสมาธิสั้น เมื่อเห็นมือถือหรือแท็บเลตที่ไหน ก็จะรบเร้าขอดูตลอด เป็นสัญญาณว่าเริ่มติดอุปกรณ์เหล่านี้แล้ว และยังมีนิสัยใจร้อนเพิ่มเข้ามาอีกด้วย คุณพ่อคุณแม่หลายคนจึงเริ่มกังวลใจ และหาวิธีแก้ไขแบบเร่งด่วน ดังนี้

วันที่ 1

วันแรกเริ่มจากการเก็บอุปกรณ์มือถือ และแท็บเลต ออกไปให้พ้นหูพ้นตาลูกๆ ปิดเครื่องได้จะยิ่งดี คุณพ่อ คุณแม่ก็ต้องไม่ใช้ด้วย ทำกิจวัตรประจำวันตามปกติ ถ้าลูกร้องอยากขอดูมือถือ แท็บเลต ก็ชักจูงให้ลูกไปทำอย่างอื่น เช่น เล่นน้ำ ให้อาหารปลา เล่นกับสุนัข เก็บก้อนหิน รดน้ำต้นไม้ ดูนก อ่านนิทาน เป็นต้น คุณพ่อ คุณแม่ต้องอดทน เพราะลูกจะขอเล่นมือถือบ่อยๆ บางครั้งอาจจะทุกๆ 15 นาที คุณพ่อ คุณแม่อาจจะต้องทำตัวเป็นมือถือแทน เช่น ลูกติดเพลงที่ฟังทุกคืนในมือถือ คุณพ่อ คุณแม่ก็ต้องร้องเพลงนี้แทนการใช้มือถือจริงๆ ใจความสำคัญหลักคือ ความอดทน ใจเย็นๆ อย่าหงุดหงิด อย่าดุลูก พยายามทำให้ลูกสนุก

อ่านต่อ “วิธีแก้ปัญหาลูกติดมือถือวันที่ 2-7” คลิกหน้า 2

วันที่ 2 – 4

เมื่อคุณพ่อ คุณแม่ผ่านวันแรกมาได้แล้ว วันต่อๆ มาก็จะง่ายขึ้น แต่ลูกอาจจะเริ่มเบื่อดูนก ดูปลา อาจหาตัวช่วย เช่นซื้อหนังสือเล่มใหม่ให้ลูก ในเรื่องที่ลูกสนใจ เช่นลูกสนใจสัตว์ต่างๆ ก็ซื้อหนังสือเกี่ยวกับสัตว์ให้ลูก เลือกหนังสือที่มีภาพ และสีสันดึงดูดใจ หลายๆ หน้า ลูกจะได้เปิดอ่านจนหลับ แทนมือถือ และแท็บเลต ต้องใช้ความอดทน เพราะตอนแรกๆ ลูกอาจจะไม่สนใจ ลองเปิดหนังสือ ชี้ให้ลูกดูภาพ ทำเสียงสนุกๆ ตื่นเต้นประกอบภาพจะยิ่งทำให้สนุกตื่นเต้น

วันที่ 5 – 6

เมื่อลูกสงบลง มีสมาธิมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด เล่นสิ่งของรอบตัวมากขึ้น เริ่มไม่ถามหามือถือ และแท็บเลต คุณพ่อ คุณแม่ลองวางมือถือ และแท็บเลตเอาไว้ให้ลูกเห็น พอลูกเดินมาจะหยิบ ก็พูดด้วยเสียงที่นุ่มนวลปกติกับลูกว่า “อย่าหยิบนะลูก วางมันลง” อย่าเสียงดัง แรกๆ ลูกอาจไม่วางทันที ลองใช้วิธีเอามือไปจับมือลูกออก แล้วชมลูกว่า “ดีมากจ้ะ” ทำแบบนี้ประมาณ 2 – 3 ครั้ง ลูกจะรู้ว่าควรทำอย่างไรด้วยตัวเอง และเขาจะเตือนตัวเขาเองว่า “ไม่ ไม่” แล้วเดินจากไปแทน

วันที่ 7

เมื่อลูกไม่มีปฏิกิริยาอะไรกับมือถือ และแท็บเลตอีกต่อไป เห็นใครใช้ก็ไม่เข้าไปขอดู พ่อแม่ก็ควรใช้ไม่ให้ลูกเห็น เพื่อเป็นแบบอย่างที่ดีให้ลูก นอกจากนี้ลูกจะกลายเป็นเด็กที่ชอบอ่านหนังสือ และมีสมาธิมากขึ้น เรียนรู้คำศัพท์ได้เร็ว สังเกตได้จากถ้าเราเปิดคลิปจากมือถือ 20-30 ครั้ง ลูกจะจำคำศัพท์ได้เพียง 2-3 คำ แต่เมื่อคุณพ่อ คุณแม่พูดเอง หรือเปิดหนังสือให้ลูกอ่าน ลูกจะจำคำศัพท์ได้รวดเร็วกว่ามาก

นี่เป็นเพียงแนวทางในการแนะนำให้คุณพ่อ คุณแม่หาวิธีมาเบี่ยงเบนความสนใจลูกจากมือถือ และแท็บเลต วิธีเหล่านี้อาจจะไม่ได้ผลกับเด็กทุกคน ขึ้นอยู่กับการเลี้ยงดูของเด็กแต่ละคน คุณพ่อ คุณแม่ต้องมีความยับยั้งชั่งใจว่า เมื่อแก้ไขปัญหาเหล่านี้แล้ว จะให้ลูกใช้งานอุปกรณ์เหล่านี้ต่อหรือไม่ อะไรที่ง่ายสำหรับเราย่อมไม่เกิดประโยชน์สูงสุดสำหรับลูกแน่นอน เด็กได้ความรู้และพัฒนาสมองได้จากสิ่งรอบตัวมากกว่าการนั่งดูมือถือ และแท็บเลตเสียอีก

เครดิต: pantip.com