AMARIN Baby And Kids – เพื่อลูกฉลาดและมีความสุข

เลี้ยงลูกฉลาด ตามวัยตั้งแต่ 0 – 12 ขวบ

เลี้ยงลูกฉลาด ตามวัยตั้งแต่ 0 – 12 ขวบ

การพัฒนาลูกน้อยให้ฉลาด ควรเป็นไปตามวัย จะช่วยทำให้ลูกน้อยเรียนรู้ได้เหมาะสม กับความสามารถที่พวกเขาควรจะได้รับ เรามาดูวิธีการพัฒนาลูกน้อยวัยต่างๆ โดย พ.ท.พญ.กมลพรรณ ชีวพันธุศรี ที่แนะนำวิธี เลี้ยงลูกฉลาด ตามวัยตั้งแต่ 0 – 12 ขวบ กันค่ะ

0 – 1 ขวบ

ช่วงขวบปีแรก เด็กจะเติบโตเร็วมาก เมื่อครบ 1 ขวบน้ำหนักจะขึ้น 3 เท่า และสูงขึ้น 2 เท่าจากตอนแรกเกิด เด็กส่วนใหญ่เริ่มคลานได้ และบางคนเริ่มก้าวเดินได้แล้ว คุณพ่อ คุณแม่ควรให้ความอบอุ่นกับลูกน้อย การโอบกอด อุ้ม เล่น และเสียงหัวเราะ  จะทำให้ลูกน้อยมีความสุข

พัฒนาการทารกแรกเกิดถึง 1 ปี
  1. ทำให้ลูกรู้สึกไว้วางใจ ปลอดภัย โดยการตอบสนองเมื่อลูกน้อยร้องไห้สม่ำเสมอ เมื่อลูกรู้สึกวางใจ ลูกจะพยายามเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ อย่างไม่ลังเล
  2. เวลาให้อุ้มควรอุ้มลูกน้อย เพื่อให้เขารู้สึกปลอดภัยและอบอุ่น คลายกังวล คลายเครียด อย่าให้นอนดูดนมโดยไม่มีคนอุ้ม เพราะอาจสำลักได้
  3. ยอมรับความต้องการ และนิสัยของเด็กที่แตกต่างกัน เด็กทุกคนมีช่วงเวลาการกิน นอน ถ่าย แตกต่างกัน เช่น บางคนนอนมาก บางคนนอนน้อย การนอนทำให้สมองของลูกน้อยพัฒนา
  4. เด็กๆ มักจะชอบเรียนรู้ และพิสูจน์ทุกอย่าง ส่วนมากจะใช้ปากในการอม เลีย ดูด เพราะฉะนั้นควรนำของที่เป็นอันตรายออกไปให้พ้นมือ แล้วหาของดี มีประโยชน์ให้ลูกน้อย อม จับ ถือ เพื่อเรียนรู้
  5. เลือกประดับด้วยของสีฉูดฉาด เช่น รูปภาพ โมบาย ของที่มีสีสันตัดกัน เพื่อให้ลูกน้อยได้มอง และเรียนรู้เรื่องสี การแยกสี คุณพ่อ คุณแม่อาจจะเริ่มสอนว่าอันไหนคือสีอะไร ให้ลูกน้อยเรียนรู้
  6. เลือกของเล่นที่มีเสียงต่างๆ แตกต่างกัน เพื่อให้ลูกได้เรียนรู้การแยกแยะเสียง เช่น เสียงนาฬิกา กริ่งประตู เครื่องดนตรี เสียงสัตว์ต่างๆ ให้หูของลูกได้สัมผัสกับเสียง พัฒนาความคิด จินตนาการ
  7. ให้ลูกน้อยเล่นของเล่นหลากหลายรูปแบบ ที่สามารถใช้ปาก มือ จมูก ตา และหู ได้อย่างปลอดภัย ห้ามใช้ของเล่นที่มีขนาดเล็กเกินผลส้ม เพราะลูกน้อยอาจกลืน และติดคอ หรือหลอดลมได้
  8. ให้ลูกน้อยลองสัมผัสอาหารที่มีความแตกต่างกันในรสชาติ และอุณหภูมิ อุ่น หรือเย็น ให้ลิ้นของลูกเรียนรู้รสชาติอาหาร เปรี้ยว หวาน เค็ม เผ็ด ขม ฝาด จืด (ควรสอนช่วง 6 เดือนขึ้นไป)
  9. ช่วยให้ลูกพัฒนาเรื่องการทรงตัว และการเคลื่อนไหว อาจจะให้อุปกรณ์ช่วย หรือคุณพ่อ คุณแม่สามารถช่วยลูกให้ลองนอนคว่ำ และคลานอย่างใกล้ชิด ด้วยความระมัดระวัง
  10. พูดกับลูกบ่อยๆ ใช้น้ำเสียงแบบผู้ใหญ่คุยกัน อย่าบีบเสียง หรือใช้เสียงเลียนแบบลูก เวลาพูดให้มองหน้า เรียกชื่อคน สัตว์ สิ่งของ หรืออ่านหนังสือให้ลูกฟัง ชี้ภาพให้ดู ทำเสียงเลียนสัตว์ต่างๆ
  11. พยายามให้ลูกรับประทานอาหารเอง เมื่ออายุใกล้ 1 ขวบ เช่น กล้วย ขนมปัง สอนให้ลองใช้ช้อน อาจจะเลอะเทอะไปบ้าง เพราะนั่นคือการเรียนรู้
  12. ให้ลูกเคลื่อนที่ได้อย่างอิสระ ถ้าให้อยู่ในคอก หรือเปล จะหยุดพัฒนาการ คุณพ่อ คุณแม่ควรดูแลลูกอย่างใกล้ชิดเมื่อลูกคลานไปในที่ต่างๆ
  13. สอนให้ลูกรู้จักแยกแยะคนแปลกหน้า และเรียนรู้ที่จะระวังตัวเอง

1 ขวบ – 1 ขวบครึ่ง

วัยนี้เป็นที่มีการพัฒนาทางด้านบุคลิกภาพของตนเองอย่างแท้จริง เด็กๆ จะมีหน้าตาที่ยิ้มแย้ม หัวเราะกับเรื่องตลกได้มาก พูดคำแรก เดินก้าวแรกได้ การเจริญเติบโตรวดเร็วแต่ไม่เท่ากับขวบปีแรก และกินน้อยลง

พัฒนาการลูกน้อยวัย 1 ขวบ – 1 ขวบครึ่ง
  1. ลองปล่อยให้ลูกคลานเล่นเอง เล่นจ๊ะเอ๋กับลูก หรือโยนลูกบอลไปมา นอกจากจะฝึกบริหารกล้ามเนื้อมัดเล็กแล้ว ยังจะช่วยในการฝึกทักษะการจดจำ และการมองเห็น
  2. ลองให้ลูกส่องกระจก มองหน้าตัวเอง เรียนรู้ที่จะรู้จักตัวเอง ชี้อวัยวะต่างๆ ให้ลูกดู และบอกว่าส่วนนั้นคืออะไร อาจจะแทรกภาษาอื่นๆ เพิ่มเติม เป็นการฝึกภาษาเพิ่มเข้าไปได้อีกด้วย
  3. ให้ลูกดูภาพในหนังสือ ชี้ภาพสัตว์ สิ่งของ คน ลองให้ลูกพูดชื่อคน สัตว์ สิ่งของ เสื้อผ้า แล้วถามว่าสิ่งนั้นใช้ทำอะไร เป็นการเรียนรู้สิ่งแวดล้อมที่มีอยู่รอบตัวลูกน้อย ให้ลูกน้อยเข้าใจในธรรมชาติ
  4. ฝึกให้ลูกทิ้งขยะ ให้เป็นที่ลงในถังขยะ วิธีเปิดปิด ฝาถังขยะ เป็นการฝึกวินัย และการรักความสะอาด สร้างเสริมอุปนิสัยที่ดีไม่มักง่ายอีกด้วย
  5. เปิดเพลงให้ลูกฟัง หรือให้ลองเล่นเครื่องดนตรี ร้องเพลง และเต้นตามจังหวะ ช่วยฝึกความคิดสร้างสรรค์ ผ่อนคลาย และฝึกสมาธิได้ดี
  6. พูดกับลูกบ่อยๆ เกี่ยวกับเรื่องสี ความร้อน ความเย็น รสชาติอาหาร สิ่งพื้นฐานต่างๆ ที่ลูกควรรู้เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม เรื่องการดำรงชีวิต

 

อ่านต่อ “เลี้ยงลูกฉลาด ตามวัยตั้งแต่ 1 ขวบครึ่ง – 12 ขวบ คลิกหน้า 2

1 ขวบครึ่ง – 2 ขวบ

วัยนี้เป็นวัยที่เริ่มเคลื่อนไหวร่างกายได้อย่างอิสระ เริ่มเดิน วิ่ง และปีนป่าย มีพัฒนาการทางอารมณ์ และสังคม ชอบเลียนแบบพ่อแม่ เรียนรู้การปฏิเสธ รู้ชื่อตัวเอง พยายามทำอะไรด้วยตัวเอง และติดสิ่งของ

พัฒนาการลูกน้อยวัย 1 ขวบครึ่ง – 2 ขวบ
  1. สอนให้ลูกรู้คำศัพท์ภาษาต่างๆ มากขึ้น ชื่อสิ่งของ ของเล่น หรือสอนให้พูดประโยคสั้นๆ 2-3 คำ เช่น ขอบคุณค่ะ ขอโทษครับ ให้ลูกลองเลียนเสียงสัตว์ต่างๆ หรือพูดกับตัวเอง หรือเริ่มร้องเพลง
  2. ถ้าลูกชอบเต้น เล่นกลอง ก็ปล่อยให้ลูกได้เคลื่อนไหว และหัดเรียนรู้ด้วยตัวเอง หรือชวนลูกเล่นนิ้วฝึกการใช้นิ้วมือ เช่น จ้ำจี้มะเขือเปราะ แมงมุมขยุ้มหลังคา หรือการเล่นต่างๆ ที่ใช้นิ้วเคลื่อนไหว
  3. พูดกับลูกเป็นกิจวัตรประจำวัน ทุกวัน ลูกจะเรียนรู้การพูดได้รวดเร็วมาก พูดคุยและอธิบายคุณสมบัติของสัตว์ต่างๆ และสิ่งของให้ละเอียดขึ้น อ่านหนังสือให้ลูกฟังทุกวัน อ่านการ์ดคำ
  4. ให้ลูกลองเปิดหนังสือดูเอง เปิดรูปภาพ หรือเปิดอัลบั้มรูปภาพครอบครัวให้ลูกดู ชี้ให้ลูกดูและจดจำใบหน้าของครอบครัว ญาติพี่น้อง ฝึกการจดจำให้ลูกน้อย
  5. เวลาพูดกับลูกต้องพูดด้วยถ้อยคำที่ชัดเจน มีควบกล้ำ พูดเหมือนกับพูดกับผู้ใหญ่ด้วยกัน เช่น “ครับ” ออกเสียงให้ชัดเจน ไม่ “คับ” ลูกจะได้เรียนรู้การพูดที่ชัดเจน และถูกต้องไปด้วย
  6. ให้ลูกลองหยิบของเล่นมาส่งให้ หรือสอนให้รู้จักเก็บของเล่นด้วยตัวเอง สำหรับลูกสาวลองสอนให้เล่นแต่งตัวตุ๊กตา เป็นการปูพื้นฐานในการแต่งตัวได้ด้วยตัวเอง

2 ขวบ – 2 ขวบครึ่ง

เด็กในวัยนี้ชอบที่จะเป็นตัวของตัวเองมากขึ้น อารมณ์เปลี่ยนแปลงง่าย มั่นใจในตัวเองมากขึ้น เริ่มชอบอาหารเฉพาะอย่าง เริ่มสนใจเพื่อน ฟันน้ำนมงอกเกือบเต็มที่ เดินขึ้นลงบันไดได้ เริ่มใช้ดินสอขีดเขียน

พัฒนาการลูกน้อยวัย 2 ขวบ – 2 ขวบครึ่ง
  1. สอนให้ลูกเรียนรู้การพึ่งตนเอง เช่น การใช้ห้องน้ำ แต่งตัว หวีผม แปรงฟัน ใช้ช้อนรับประทานอาหาร อาจให้ช่วยงานเล็กๆ น้อยๆ เช่น หยิบของให้ เอาเสื้อผ้าของตัวเองไปใส่เครื่อง รดน้ำต้นไม้
  2. ลูกลองเล่นต่อบล็อก เรียนรู้การพูด การนับเลข ให้ลูกลองเล่าเรื่องสั้น หรือเลียนแบบท่าทางของคน ลองให้ลูกเลียนเสียงของสัตว์ เสียงฟ้าผ่า เสียงรถต่างๆ เล่นกระโดด 2 ขา ร้องเพลง
  3. เมื่อลูกร้องไห้ งอแง อาละวาด กลิ้งไปมา ทำลายข้าวของ ทำร้ายผู้อื่น คุณพ่อ คุณแม่ต้องใจเย็นๆ ไม่ดุ ขึ้นเสียง ตะโกนเสียงดัง หรือตีลูก ปล่อยให้ลูกอาวะวาดสักพัก แล้วสอนด้วยเหตุผลว่าไม่ควร
  4. ให้ลูกลองหัดวาดรูปตามจินตนาการของตัวเอง หรือปั้นดินน้ำมันเองตามใจชอบ ไม่ควรให้ทำตามแบบที่เราทำไว้ เพื่อให้เขาหัดคิดเอง ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ต้องมาจากสมองของเขา
  5. ฝึกให้ลูกนอนคนเดียว อย่าฝึกให้ลูกใช้แต่มือขวาอย่างเดียว ให้ลูกลองใช้ทั้งสองมือทำสิ่งต่างๆ เป็นการบริหารสมองทั้งซีกซ้าย และขวา เช่น เมื่อเล่นเสร็จแล้ว ฝึกเก็บของเล่นเข้าที่ด้วย 2 มือ
  6. ให้ลูกลองเล่นเกมแบบกลุ่ม เช่น งูกินหาง เดินพาเหรด หรือเล่นเลียนแบบ เช่น ให้ลูกเป็นกระจก แล้วทำตามท่าทางของแม่ ปล่อยให้ลูกเล่นทราย ดินเหนียว ฝึก เติม ใส่ เท ถือ ซ่อน รวบรวม
  7. ยิ่งลูกมีประสบการณ์การเรียนรู้ต่างๆ มากในที่ปลอดภัย เขาก็จะมีความสุข และมั่นคง มีทักษะทางกล้ามเนื้อ สังคม ร่างกาย และสติปัญญา เช่น ฝึกขี่จักรยานสามล้อในที่ปลอดภัย
  8. สอนให้ลูกรู้จักผิดถูก เพราะเด็กไม่รู้ว่าอะไรผิด หรือถูก เช่น ลูกชอบไปตีหัวคนอื่น ก็ต้องสอนย้ำว่าทำไม่ได้ หรือพูดจาไม่สุภาพก็ต้องเตือน สอนให้รู้จักระงับอารมณ์ และเก็บของให้เป็นระเบียบ

 

อ่านต่อ “เลี้ยงลูกฉลาด ตามวัยตั้งแต่ 2 ขวบครึ่ง – 12 ขวบ” คลิกหน้า 3

2 ขวบครึ่ง – 3 ขวบ

ในวัยนี้เริ่มพูดส่งเสียงเหมือนผู้ใหญ่มากขึ้น ชอบพูดกับตัวเอง มีจินตนาการ และมีเหตุผลมากขึ้น จำอดีตได้บ้าง ทำตามคำสั่งง่ายๆ ได้ คิดว่าของเล่นมีชีวิต หวงของ รู้จักรอคิว เรียนรู้ว่าใครเป็นญาติ หรือเพื่อน

พัฒนาการลูกน้อยวัย 2 ขวบครึ่ง – 3 ขวบ
  1. อ่านหนังสือ และร้องเพลงให้ฟังบ่อยๆ พูดซ้ำๆ ทำให้ลูกพูดเร็วขึ้น ถ้าครอบครัวไหนมีความสามารถในการพูดได้หลายภาษาก็พูดให้ลูกฟังหลายๆ ภาษา
  2. เลือกพื้นที่เล่นที่ปลอดภัย และของเล่นที่หลากหลาย พ่อแม่ต้องเล่นกับลูกด้วยความรักและเมตตา เมื่อลูกอาละวาด หรือก้าวร้าว ต้องใจเย็นๆ ค่อยๆ สอนลูกด้วยเหตุผล ไม่ใช้ความรุนแรง
  3. ฟังความต้องการของลูก ให้ความรัก และเอาใจใส่ ให้เหตุผล และกฎระเบียบข้อบังคับภายในบ้าน เช่น เล่นแล้วเก็บของให้เป็นที่ บ้านจะได้ดูสะอาดงามตา แขกไปใครมาจะได้ไม่อายเขา
  4. ใช้พูดที่ไพเราะ ทำให้ลูกรู้สึกว่าตนเองมีคุณค่า และรู้สึกอบอุ่น ไม่พูดคำหยาบคาย เพราะถ้าลูกติดคำพูดที่ไม่ดีจากพ่อแม่ จะทำให้ดูเป็นเด็กที่ก้าวร้าว ไม่น่ารัก ผู้ใหญ่คือต้นแบบนิสัยของเด็กๆ

4 ขวบ – 5 ขวบ

พัฒนาการลูกน้อยวัย 4 ขวบ – 5 ขวบ
  1. วัยนี้เป็นวัยแห่งจินตนาการ อย่ายัดเยียดความรู้ให้เขามากจนเกินไป
  2. ระวังการเล่นที่อันตราย สอนให้รู้จักจำเบอร์โทรศัพท์ ที่อยู่ ชื่อของตัวเอง และพ่อแม่ เผื่อพลัดหลง
  3. ให้ลูกหัดทำศิลปะที่หลากหลาย เช่น การปั้นแป้งโด การปั้นดินเหนียว การระบายสี

 

อ่านต่อ “เลี้ยงลูกฉลาด ตามวัยตั้งแต่ 5 ขวบ – 12 ขวบ” คลิกหน้า 4

5 ขวบ – 6 ขวบ

พัฒนาการลูกน้อยวัย 5-6 ขวบ
  1. ให้ลูกลองเล่นละคร เล่นสมมติ หรือเล่านิทานให้พ่อแม่ฟัง ตั้งคำถามสมติเหตุการณ์ให้ลูกถามตอบ
  2. สอนให้ลูกรู้จักการรอคอย การเข้าคิว เรื่องมารยาทในสังคม การรับประทานอาหารที่ถูกต้อง
  3. ให้ลูกลองเล่นกีฬาที่ใช้หลายอวัยวะ เช่น กระโดดเชือก เต้นรำ ทรงตัวบนเชือก เดินสามขา ตบแปะ
  4. ให้ลูกลองซ่อมของเล่น หรือหนังสือที่ขาด

6 ขวบ – 9 ขวบ

พัฒนาการลูกน้อย 6- 9 ขวบ
  1. ฝึกการอ่าน การเขียนให้ลูก สอนให้สำรวจโลกภายนอก พาไปทัศนศึกษา สอนให้รู้จักแก้ปัญหา
  2. สอนให้รู้จักช่วยเหลือตัวเองตามวัย ช่วยงานบ้านพ่อแม่ สอนให้รู้จักการขอโทษ ขอบคุณ
  3. ชมเชยเมื่อลูกทำความดี อย่าตำหนิลูกเมื่อลูกทำปิด ควรสอนลูกด้วยเหตุผล

9 ขวบ – 12 ขวบ

สมัยนี้เด็กจะโตเร็ว เป็นวัยรุ่นเร็วกว่าสมัยก่อน ทั้งจากอาหาร กระแสสังคม และสิ่งแวดล้อม ทำให้ลูกมีการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ สังคม พฤติกรรมอย่างรวดเร็ว พ่อแม่จึงต้องให้ความสำคัญกับวัยนี้ให้มากๆ

พัฒนาการลูกวัย 9 ขวบ – 12 ขวบ
  1. ถ้าลูกรู้สึกเหงา ควรเอาใจใส่ลูกทุกครั้งเมื่อลูกร้องขอ ไม่ใช่การให้สิ่งของ ให้ความรัก เป็นที่ปรึกษา
  2. คุณพ่อ คุณแม่ต้องรู้จักนิสัยเพื่อนลูก โดยการให้ลูกชวนเพื่อนมาที่บ้าน สอนให้ลูกรู้จักคบเพื่อนที่ดี
  3. ให้โอกาส และสถานที่เมื่อเขาอยากอยู่คนเดียว แต่ไม่ปล่อยให้ลูกออกไปนอกบ้านจนดึกดื่น
  4. ปล่อยให้ลูกทำกิจกรรมกับเพื่อนๆ ให้เล่นเกมที่ต้องฝึกสมอง เช่น หมากล้อม หมากฮอส หมากรุก
  5. ลูกที่โตกว่าอาจให้ช่วยเลี้ยงน้อง ช่วยงานบ้านพ่อแม่ ให้รับผิดชอบชีวิตตัวเอง เช่น การกิน การนอน
  6. การเชื่อฟังพ่อแม่จะน้อยลง และเชื่อเพื่อนมากกว่า การปลูกฝังค่านิยม คุณธรรม ความรักจึงสำคัญ
  7. เลี้ยงลูกด้วยความไม่ลำเอียง ยุติธรรม ไม่ว่าลูกจะเก่ง หรือไม่เก่ง ก็ตามก็ต้องให้ความรักและเข้าใจ
  8. อย่ามุ่งแต่ทำงานหาเงิน แล้วไม่มีเวลาให้ ควรถามความรู้สึกลูก พูดคุยกับลูกเมื่อมีปัญหาก่อนสาย
  9. เงินไม่ได้ช่วยอะไร อย่าจู้จี้ บ่นเรื่องเดิมๆ บ่อยเกินไป ควรพูดให้ลูกคิดว่าเขาจะรับปัญหาอย่างไร

 


เครดิตเนื้อหา: พ.ท.พญ.กมลพรรณ  ชีวพันธุศรี (กุมารแพทย์)