AMARIN Baby And Kids – เพื่อลูกฉลาดและมีความสุข

เลี้ยงลูกให้ “พี่น้องรักกัน” คุณเองก็ทำได้!

บ้านไหนมีลูกสองคนขึ้นไป…หากอยากทำให้ พี่น้องรักกัน แท้จริงแล้วต้องเริ่มจากการการเลี้ยงดูของคุณพ่อคุณแม่ ซึ่งจะมี วิธีทำให้พี่น้องรักกัน ได้อย่างไร ทีมแม่ ABK มีคำแนะนำจาก ผศ.ดร. ปนัดดา ธนเศรษฐกร  อาจารย์สาขาพัฒนาการมนุษย์  สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว  มหาวิทยาลัยมหิดล มาฝากค่ะ

วิธีเลี้ยงลูกให้ พี่น้องรักกัน

เพราะลูกวัยเตาะแตะจะมีพัฒนาการสำคัญ คือ “การหวงพ่อแม่” ทำให้เมื่อมีลูกคนเล็ก คนพี่จึงแสดงอาการไม่รักน้อง แต่ปัญหานี้แก้ได้ ด้วยการส่งเสริมวินัยเชิงบวกให้ลูก ดังนั้นการทำให้ พี่น้องรักกัน นั้นไม่ยากเกินเอื้อม เพียงรู้หลักการและใส่ใจทำอย่างสม่ำเสมอ โดยคุณพ่อคุณแม่สามารถใช้เทคนิคเหล่านี้ไปสอนลูกน้อยได้ คือ

เทคนิคที่ 1 เสนอทางเลือก

อยากให้ พี่น้องรักกัน พ่อแม่ควรเสนอทางเลือกให้พี่มีส่วนร่วมเลี้ยงน้อง ซึ่ง มี 3 ขั้นตอนที่สำคัญ ได้แก่

  1. ทำลิสต์งานง่ายๆ เป็นงานที่ลูกเล็กสามารถทำให้น้องได้ เช่น การจัดเก็บผ้าอ้อมสะอาดเข้าตู้ การเตรียมผ้าอ้อมผืนใหม่หลังอาบน้ำ การเก็บผ้าอ้อมของน้องที่ใช้แล้วลงตะกร้า เป็นต้น
  2. แบ่งหน้าที่ร่วมกัน โดยการอ่านลิสต์งานให้ลูกฟัง แล้วให้เขาตัดสินใจเลือก ว่าเขาอยากจะทำงานอะไรและลิสต์งานที่ลูกไม่ได้เลือกจะแบ่งให้เป็นหน้าที่ของคุณพ่อและคุณแม่ด้วยเช่นกัน
  3. ขอบคุณลูกทุกครั้ง หลังจากที่ลูกช่วยทำงานที่ได้รับมอบหมายจนเสร็จแล้ว

สำหรับเด็กเล็กวัยเตาะแตะแล้ว การมีโอกาสได้เลือก และมีส่วนร่วมทำกิจกรรมกับคุณพ่อ คุณแม่ ถือเป็นรางวัลอันทรงเกียรติที่ทำให้เขารู้สึกมีตัวตน ได้รับการยอมรับ ให้ความสำคัญกับความต้องการ และเคารพการตัดสินใจ ซึ่งเทคนิคนี้นอกจากจะช่วยตอบสนองความต้องการพื้นฐานทางจิตใจอย่างเต็มที่แล้ว ยังช่วยปลูกฝังทักษะงาน และความรับผิดชอบให้ลูกอีกด้วย ส่งผลให้ลูกเปิดใจรับน้องแบ่งปันความรักและความอบอุ่นนี้ให้น้องได้ง่ายขึ้น

DON’Ts คำพูดต้องห้าม ทำลูกคิดติดลบ

เทคนิคที่ 2 ใช้เวลาคุณภาพ

หากอยากให้ พี่น้องรักกัน การจัดสรรเวลาคุณภาพที่ดีก็มีส่วนสำคัญ โดยให้แบ่งเป็น 20/7 คือ การใช้เวลาคุณภาพอยู่ตามลำพังกับลูก 20 นาทีทุกวัน โดยที่ไม่มีน้องเข้ามามีส่วนร่วมในกิจกรรม มีขั้นตอนสำคัญ ดังนี้

  1. จัดตารางกิจวัตรประจำวันสำหรับเวลาแห่งคุณภาพ 20 นาที ไม่จำเป็นต้องกำหนดเป็นเวลาแน่นอน แต่กำหนดเป็นช่วงเวลาที่สามารถคาดการณ์ได้ เช่น หลังลูกตื่นนอนตอนเช้า ขณะที่น้องของลูกนอนกลางวัน หรือก่อนลูกเข้านอน เป็นต้น
  2. ให้ลูกคิดกิจกรรม โดยเริ่มจากการอธิบายว่าลูกและเราจะมีเวลาคุณภาพ 20 นาทีทุกวันในช่วงเวลาตามที่กำหนดไว้ และช่วงเวลานี้จะมีแค่เราสองคน (คุณพ่อหรือคุณแม่และลูก) หรือ สามคน (คุณพ่อคุณแม่และลูก) เราจะทำอะไรด้วยกันก็ได้ตามที่ลูกต้องการ ขอให้ลูกคิดไว้เลยว่า เมื่อถึงเวลาคุณภาพแล้ว เราจะทำอะไรด้วยกันดี
  3. ใช้เวลาคุณภาพกับลูก เป็นเวลา 20 นาที โดยทุ่มความสนใจทั้งหมดไปที่ลูกคนพี่เท่านั้น งดอุปกรณ์ติดต่อสื่อสาร และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ เน้นการพูดคุย การเล่น และการมีปฏิสัมพันธ์กับลูก

 

เด็กเล็กวัยเตาะแตะจะต้องการความรัก ความสนใจมากเป็นพิเศษ เพราะเป็นช่วงวัยแห่งการสำรวจ เรียนรู้ และทำความเข้าใจโลกใบนี้ แต่ด้วยพัฒนาการและประสบการณ์ที่มีอยู่อย่างจำกัด จึงทำให้เด็กเล็กยังจำเป็นต้องพึ่งพาคุณพ่อคุณแม่ให้ช่วยดูแล ตอบสนองความอยากรู้อยากเห็น และความต้องการพื้นฐานทางร่างกาย และจิตใจ เพื่อให้แน่ใจว่าโลกใบนี้มีความมั่นคงปลอดภัยต่อชีวิตของเขา เมื่อวันหนึ่งมีการเปลี่ยนแปลง ด้วยการมีน้องเข้ามาเป็นสมาชิกใหม่ในครอบครัว คุณพ่อคุณแม่ก็ยิ่งจำเป็นจะต้องทำให้ลูกมั่นใจว่าความมั่นคงปลอดภัยในชีวิตของเขาจะยังคงเดิม เทคนิคนี้จึงเป็นเครื่องรับประกันว่า เขาจะยังคงได้รับความรัก ความสนใจจากพ่อแม่อยู่ และยังเป็นเครื่องมือให้ลูกใช้ยึดเหนี่ยวจิตใจในเวลาที่ต้องรอคุณพ่อคุณแม่ให้เสร็จภารกิจจากการดูแลน้องอีกด้วย

DON’Ts คำพูดต้องห้าม ทำลูกคิดติดลบ

 

สุดท้ายนี้คำว่า “พี่น้อง” เป็นความสัมพันธ์ที่สวยงามที่สุดเท่าที่จะเกิดขึ้นได้ในชีวิตของคนๆ หนึ่ง เราต่างรู้กันดีว่าการเลี้ยงพี่น้องมีความละเอียดอ่อนมาก วิธีการเลี้ยงดูของพ่อแม่มีอิทธิพลอย่างมากต่อการส่งเสริมหรือยับยั้งความสัมพันธ์ที่ดีของพี่น้อง เทคนิคการสร้างวินัยเชิงบวก 2 เทคนิคนี้ได้นำเสนอแนวทางการเลี้ยงดูสำหรับคุณพ่อคุณแม่ที่จะช่วยสร้างประสบการณ์และความทรงจำดีๆ ให้พี่น้องร่วมกันในวัยเยาว์ และเป็นการลงทุนระยะยาวที่คุ้มค่า เปรียบเหมือนของขวัญล้ำค่าจากพ่อแม่ที่มอบให้ลูกๆ ทุกคน

ขอบคุณบทความจาก ผศ.ดร. ปนัดดา ธนเศรษฐกร  อาจารย์สาขาพัฒนาการมนุษย์  สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว  มหาวิทยาลัยมหิดล

 

อ่านต่อบทความอื่นน่าสนใจ คลิก :

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids