AMARIN Baby And Kids – เพื่อลูกฉลาดและมีความสุข

“เล่นสมมติ” ดีต่อลูกเล็กครบทั้งกาย ใจ สมอง แถมสนุกไม่ธรรมดา!

นอกจากมโนภาพที่เด็ก ๆ มีในสมองแล้ว ข้าวของต่าง ๆ ที่ดูไม่น่าจะทำอะไรได้แต่สมองน้อย ๆ ของเด็ก ๆ กลับสั่งการว่าใช้ได้นั้น…นับเป็นอุปกรณ์วิเศษที่ทำให้เด็กน้อยทั้งหลายได้สมมุติบทบาทตนเองขึ้น พร้อมสนุกไปกับโลกจินตนาการ

ที่จำเป็นต้องพูดถึงการเล่นบทบาทสมมุติโดยเฉพาะ ก็เพราะการเล่นบทบาทสมมุติเป็นการเล่นอย่างอิสระ (Free Play) ที่ให้สิ่งจำเป็นต่อการใช้ชีวิตในโลกจริงของเด็ก ๆ ในอนาคตอย่างคาดไม่ถึง!??

เล่นสมมุติ/บทบาทสมมุติ คืออะไร

การเล่นสมมุติ/บทบาทสมมุติคือการเล่นที่ประกอบด้วยทักษะสามอย่าง ได้แก่

  1. การนำวัตถุสิ่งของหนึ่งมาเล่นเป็นอย่างอื่น เช่น เอาดอกไม้ ใบไม้มาเล่นทำเป็นผัก
  2. การสมมุติ หรือจำลองให้วัตถุสิ่งของนั้น ๆ มีคุณสมบัติ หรือคุณลักษณะที่ต่างไปจากที่เป็นอยู่ เช่น สมมุติให้ตุ๊กตากำลังนอนหลับอยู่ หรือสมมุติให้น้องหมีเป็นคนไข้
  3. จินตนาการอ้างอิงถึงวัตถุสิ่งของหรือสถานที่ เช่น ลากแบ่งสมมุติอาณาเขตว่าตรงนี้เป็นประตูบ้าน หรือทำเป็นหยิบเงินซื้อของ

อ่านต่อ “การเล่นสมมุติ เล่นอย่างไร?” หน้า 2

เล่นสมมุติ/บทบาทสมมุติคือ “เล่นอะไรยังไง”

จากหนังสือ Learn to Play : A practical program to develop imaginative play skills ระบุว่า การเล่นสมมุติประกอบด้วย

1. เล่นไปตามบท ตามเรื่องราวแล้วแต่เด็กแต่ละคนจะคิดโครงเรื่องขึ้นมา เมื่อเด็กโตขึ้นก็สามารถคิดโครงเรื่องต่างๆ มาเล่นได้ยาวขึ้น

2. เล่นกันเป็นขั้นเป็นตอน เด็กที่มีอายุตั้งแต่ 2 ขวบขึ้นไปจะเริ่มต้นเล่นด้วยการแสดงการเล่นเป็นช่วงสั้น ๆ เมื่ออายุ 4-5 ขวบ เด็กจะสามารถพัฒนาการเล่นแบบเป็นลำดับขั้นตอนอย่างเป็นเรื่องเป็นราวได้นานขึ้น

3. สมมุติสิ่งของ เช่น เอารีโมททีวีมาเล่นสมมุติเป็นโทรศัพท์มือถือ สิ่งของที่หยิบเอามาเล่นสมมุตินั้นอาจไม่เหมือนของจริงเลยก็ได้

4. เล่นโต้ตอบ เด็กที่เล่นสมมุติอาจจะเล่นได้เองตามลำพัง หรือเล่นร่วมกับเด็กอื่น ๆ ก็ได้ การเล่นสมมุติของเด็กเริ่มจากการจับจ้องและทำท่าทางเลียนแบบ

5. เล่นสวมบทบาท เด็ก ๆ มักจะเล่นสวมบทบาทกันในช่วง 4-5 ขวบ หรืออาจจะเร็วกว่านั้นได้ เมื่อสวมบทบาทในการเล่น เด็กจะต้องเข้าใจว่าบุคคลในบทบาทนั้น ๆ จะพูดอะไร ทำท่ายังไง และจะโน้มน้าวใจคนอื่นได้อย่างไร

6. เล่นกับตุ๊กตา หรือของเล่น เด็กสามารถเล่นสมมุติที่ทำราวกับตุ๊กตาหรือของเล่นมีชีวิตได้ตั้งแต่อายุสองขวบ และในความคิดของเด็ก ๆ แล้ว ตุ๊กตาหรือของเล่นเหล่านี้เป็นสิ่งมีชีวิต การเล่นสมมุติแบบนี้จะทำให้เด็กรู้จักคิดในมุมของคนอื่น เรียนรู้ที่จะพูดจาโต้ตอบกับ “สิ่งมีชีวิต” ที่คิดต่างไปจากตนเอง เช่น เด็กเล่นเป็นแม่ ป้อนข้าวให้กับตุ๊กตาที่ยังไม่หิว และไม่อยากกินข้าว

อ่านต่อ “การเล่นสมมุติ สุดยอดตรงไหน?” หน้า 3

เล่นสมมุติ คุ้มด้วย 5 เหตุผลนี้!

นักจิตวิทยา ดร.สก็อต คอฟแมน เคยอธิบายเกี่ยวกับคุณค่าของการเล่น ในนิตยสาร Psychology Today ว่า “งานวิจัยแสดงให้เห็นถึงประโยชน์ที่ชัดเจนจากการเล่นสมมุติของเด็กอายุระหว่างสองขวบครึ่ง ถึงอายุราวหกหรือเจ็ดขวบ” การเล่นสมมุติมีความสำคัญต่อพัฒนาการของเด็ก เพราะระหว่างที่กำลังสนุกกับการเล่นสมมุตินั้น ร่างกาย จิตใจ และสมองของเด็ก ๆ กำลังทำงานประสานกันเพื่อเรียนรู้เกี่ยวกับ 5 สิ่งต่อไปนี้ค่ะ

1. ตัวของเขาและโลกรอบตัว

เด็ก ๆ จะได้รู้ความชอบและไม่ชอบของตนเอง รวมถึงความสนใจและความสามารถของตนเองด้วย อย่างเช่น การเล่นตุ๊กตาก็คือการใส่ความเป็นตัวเองลงไปในตุ๊กตา และเป็นวิธีที่ปลอดภัยสำหรับตัวเองในการแสดงความคิดและความรู้สึก

2. การรับมือกับความกลัว ความสับสน หรือสิ่งใหม่ ๆ ในชีวิต

เช่น เวลาที่เล่นเป็นหมอกับคนไข้ มักจะต้องมีการเล่นฉีดยากัน แล้วก็มีการปลอบ การต่อสู้กับความกลัวเวลาที่โดนฉีดยา บ่อยครั้งที่การเล่นเป็นการปลอบประโลมจิตใจของเด็กเองในเวลาที่ต้องเผชิญกับสถานการณ์ที่เลวร้ายในชีวิต เช่น ความเจ็บป่วยของคนในครอบครัว การหย่าร้าง หรืออุบัติเหตุ เช่น ไฟไหม้บ้าน เป็นต้น

อ่านต่อ “ประโยชน์ของการเล่นสมมติ” หน้า 4

3. การพัฒนาทักษะทางสังคมที่ซับซ้อนขึ้น และมีทักษะทางความคิดที่มากขึ้น

การเล่นบทบาทสมมุติเหนือกว่าการเล่นทั่วไป เพราะเด็ก ๆ จะต้องวางกลยุทธ์ สื่อสาร และต้องมีทักษะในการปฏิสัมพันธ์ รู้จักเจรจาต่อรอง นึกถึงมุมมองความคิดคนอื่น ถ่ายทอดสิ่งที่รู้จากเหตุการณ์ต่าง ๆ มีสมดุลระหว่างความคิดของตนเองและคนอื่น ต้องวางแผนและลงมือ สื่อสารและรับฟังความคิด มีการมอบหมายแจกจ่ายบทบาทหน้าที่ และรู้จักสังเคราะห์ข้อมูลและความคิดต่าง ๆ เหมือนกับการบริหารจัดการงานของผู้ใหญ่เลยทีเดียว

4. ปลูกฝังให้เกิดความฉลาดทางสังคมและอารมณ์

การมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างเรากับคนอื่น ๆ การรู้จักกาลเทศะ ตระหนักและรู้จักการแสดงออกทางอารมณ์ที่เหมาะสม รู้จักเจรจาต่อรอง และรู้จังหวะ เหล่านี้คือทักษะที่เป็นปัจจัยของการประสบความสำเร็จและมีความสุขไปตลอดชีวิต

จุดที่ผู้ใหญ่มักมองข้ามไปคือ ทักษะเหล่านี้ต้องอาศัยการเรียนรู้ที่ค่อย ๆ สั่งสมมา และไม่มีการเรียนรู้แบบใดที่จะมาทดแทนการเรียนรู้ที่ได้มาจากการเล่นอย่างสร้างสรรค์และใช้จินตนาการได้ เพราะเป็นการสอนทักษะการเรียนรู้ชีวิตให้กับเด็ก ๆ ได้โดยไม่รู้ตัว

5. ได้ผสานความรู้และทักษะ

เพราะเด็ก ๆ ต้องการโอกาสในการผสมผสานทักษะไปกับสิ่งที่ตนเองรู้ เช่น การเล่นบทบาทสมมุติเป็นคนขับรถ เด็ก ๆ ก็จะต้องเข้าใจจากประสบการณ์ เช่น การขับรถต้องมีจุดหมายปลายทาง สังเกตอะไรบ้าง เขียนตั๋วอย่างไร เติมน้ำมันหรือเปล่า เขาต้องใช้ความรู้เรื่องคณิตศาสตร์มาคิดระยะทาง ระยะเวลา เติมน้ำมันเท่าไหร่ จ่ายเงินอย่างไร ผู้โดยสารขอแวะจะแวะหรือไม่ ทั้งหมดนี้ต้องใช้ทักษะการพูดจาตอบโต้ร่วมไปด้วยขณะที่กำลังเล่นสมมุติ

อ่านต่อ “พ่อแม่จะเล่นสมมติกับลูกได้อย่างไร?” หน้า 5

พ่อแม่ก็เล่นสมมุติกับลูกได้ (แถมดีด้วย!)

 

เรื่อง: กองบรรณาธิการนิตยสาร Amarin Baby & Kids

ภาพ: Shutterstock