เมื่อสมองได้คิด ลูกก็ควบคุมตัวเองได้ “วัยเตาะแตะ 1-3 ขวบ เริ่มมีพัฒนาการหลายอย่างที่ดูจะเอาแต่ใจตัวเอง “ไม่” ตลอดเวลา บอกให้ไปซ้ายจะไปขวา บอกให้หยุดจะยิ่งทำ เดี๋ยวก็ปาข้าวของ เล่นเลอะเทอะ หรือพอพูดกันไม่รู้เรื่องก็กรี๊ด ก็กัด ซึ่งหลายครั้งพ่อแม่ผู้ปกครองจะคิดว่าเด็กทำไปเพราะไม่รู้เรื่อง แต่จริงๆ แล้วเราสามารถฝึกให้ลูกน้อยใช้สมองส่วนบริหารขั้นสูง เรียนรู้วิธีควบคุมตัวเองได้” จากประสบการณ์ฝึกเด็กๆ ในการศึกษาวิจัย ดร.วสุนันท์ ชุ่มเชื้อ อาจารย์ประจำและผู้เชี่ยวชาญการส่งเสริมการพัฒนาสมองและกระบวนการรู้คิดในเด็ก สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล จะมีวิธีฝึกสมองเด็กเล็กๆ ได้อย่างไรบ้าง มาดูกันค่ะ
ธรรมชาติลูกเตาะแตะยั้งตัวเองไม่เป็น แต่ฝึกสมองเรียนรู้จัดการตัวเองได้
“พัฒนาการของวัย 1-3 ขวบ ที่พ่อแม่ผู้ปกครองส่วนใหญ่คิดว่าเด็กทำไปเพราะไม่รู้เรื่อง พูดหรือบอกเขาก็ไม่ฟัง และอาจจะปล่อยให้ลูกทำไป หรือถ้าพูดไม่ฟังมากๆ ก็อาจมีการดุ หรือตีกันบ้าง แต่จริงๆ แล้วสามารถใช้การฝึกสมองส่วนบริหารขั้นสูงมาช่วยให้ลูกน้อยจัดการตัวเองได้ค่ะ
“ถ้ายิ่งบอกว่า “อย่าวิ่ง” “อย่าปา” “อย่ากรี๊ด” เด็กจะยิ่งทำ เพราะธรรมชาติของเด็กเล็กวัยนี้จะได้ยินคำสุดท้าย และสิ่งสำคัญคือ เขาไม่รู้ว่าเขาจะควบคุมตัวเองอย่างไร สิ่งที่ผู้ปกครองควรทำคือ บอกวิธีหยุดด้วยตัวเอง ลูกจะจดจำ (Working Memory) ยับยั้งตัวเอง (Inhibit) มีความคิดยืดหยุ่น ตัดสินใจใหม่ (Shifting) และเกิดการเรียนรู้ (Learning) ว่าครั้งต่อไป ถ้าได้ยินคำนี้และท่าทางแบบนี้ เขาควรจะทำตัวอย่างไร”
อ่านต่อ “วิธีฝึกสมองลูกกับพัฒนาการชวนปวดหัว” คลิกหน้า 2
ตัวอย่าง พัฒนาการชวนปวดหัว + วิธีฝึกสมองลูกให้ควบคุมตัวเองได้
1. พอเดินได้ก็เดินเร็ว หรือพอวิ่งได้ก็ออกตัวพุ่งแรงประจำ
วิธีฝึก ให้คุณพ่อคุณแม่พูดยาวๆ ว่า “หยุดดด…” ด้วยเสียงสูงๆ ได้เลย และทำมือหยุด ลูกจะทำท่าตามเรา
2. เห็นข้าวของอยากทดลองปา ทดลองขว้าง
วิธีฝึก ให้จับมือลูก โดยไม่ต้องจับแน่น เพราะถ้าเราจับแน่น เขาก็จะขืนกลับมา และค่อยๆ บอกเขา “วางลงลูก วางลง ไม่ปา”
3. ไม่ได้ดั่งใจก็ร้องกรี๊ด
วิธีฝึก ให้เข้าไปกอดลูก และพูดกับเขา “ลูกโกรธ โมโห อยากร้อง แม่รู้ แต่ถ้าลูกร้องจะเหนื่อยนะ แต่ถ้าเปลี่ยนเป็นตบมือ หรือย่ำเท้า จะช่วยให้หายโกรธได้ ไม่เหนื่อยด้วย”
สมองรู้คิด คืออะไร?
“เพราะสมองส่วนบริหารขั้นสูง ไม่ใช่แค่เรื่องของความฉลาด แต่เป็นสมองส่วนของการรู้คิด ที่ไม่ใช่เพียงการคิดได้คิดเป็น แต่เป็นการ “คิดเหมาะสม” ทั้งกับตัวเองและผู้อื่น คือความสามารถในการบริหารจัดการสถานการณ์ต่างๆ ให้ชีวิตได้ “สมองส่วนบริหารขั้นสูง” จึงเป็นทักษะที่เกิดจากการเลี้ยงดู เป็นทักษะที่ทำให้คนประสบความสำเร็จ และสร้างได้ ฝึกได้ตั้งแต่เล็ก”
อ่านต่อ “เคล็ดลับฝึกสมองของลูกให้รับผิดชอบและมีวินัย” คลิกหน้า 3
สมองน้อยๆ ของลูกก็เรียนรู้ “ความรับผิดชอบ” ได้
“ด้วยความอยากรู้อยากเห็น อยากทำสิ่งต่างๆ ด้วยตัวเองของเด็กวัยนี้ เราสามารถตั้งเป้าหมาย ให้สมองฝึกฝนเรื่องของความรับผิดชอบ ระเบียบวินัย ซึ่งถ้าไปฝึกตอนโตจะยิ่งฝึกยาก แต้ถ้าสามารถฝึกได้ตั้งแต่เล็กๆ จะเป็นเรื่องง่ายเมื่อเขาโตขึ้น เพราะสมองจดจำเรื่องนี้ได้แล้ว”
สมองน้อยๆ จะฝึกฝนความรับผิดชอบ มีระเบียบวินัย กันได้อย่างไร อ.วสุนันท์ อธิบายกันชัดๆ ค่ะ
1. เล่นก็รับผิดชอบได้
ของเล่นลูกมีเยอะก็ได้แต่เวลาเล่น ไม่ขนของเล่นมากองให้เลือก แต่ลูกน้อยสามารถเล่นอย่างรับผิดชอบได้
ฝึกลูกทำอย่างนี้ : “ให้ลูกเลือกเล่นได้ 2 อย่างพอ และเล่นทีละอย่าง จะเล่นอย่างที่สองได้ ต้องเก็บอย่างแรกก่อน ถ้าเก็บไม่ดี เขาจะไม่ได้เล่นอย่างที่สอง สมองจะจดจำว่า เล่นแล้วต้องเก็บ ต้องถนอม ถึงจะเล่นต่อได้ และควรกำหนดเวลาเล่น
“ถ้าเขาเลือกมาแล้ว ลองเล่นแล้วเบื่อ ผู้ปกครองก็ต้องใจแข็ง ให้เขาไปหาอย่างอื่นทำ ไม่ให้เปลี่ยนทันที เพราะเขาเป็นคนเลือกเอง เป็นความรับผิดชอบ ก่อนหมดเวลาเล่น ควรบอกให้ลูกรู้ว่าจะเป็นเวลาทำอะไร ลูกจะได้รู้ว่าเขาจะทำอะไร เช่น เป็นเวลากินข้าว หรือเสร็จแล้วเป็นเวลาช่วยแม่เก็บผ้า เป็นเวลาช่วยพ่อรดน้ำต้นไม้ เหล่านี้เป็นการฝึกสมองส่วนบริหารขั้นสูงเรื่องวินัย”
อ่านต่อ “เคล็ดลับฝึกสมองของลูกให้รับผิดชอบและมีวินัย” คลิกหน้า 4
2. ตัวเล็กก็รับผิดชอบงานเล็กๆ
การจะทำให้ลูกเล็กๆ เข้าว่าความรับผิดชอบคืออะไร ก็ต้องตั้งเป้าหมาย คือ มอบหมายงานเล็กๆ น้อยๆ ให้เขา
ฝึกลูกทำอย่างนี้ : “เช่น เขาต้องกรอกน้ำวันละ 1 ขวด คอยดูว่าน้ำพร่องไปก็กรอกนะ ถ้าเขาไม่ทำ ก็เตือนลูกได้ว่า ‘อ้าว น้ำในขวดไม่มีแล้วเป็นความรับผิดชอบของใครเอ่ย’
“ขอให้สังเกตว่าลูกจะรู้ เข้าใจและจะทำ แน่นอนว่าเริ่มต้นต้องหก ต้องล้น ต้องเลอะ ควรเริ่มจากปากขวดใหญ่ๆ และขวดที่ไม่หนักมากก่อน และช่วยให้เขาทำให้เสร็จ สำเร็จได้ การช่วยงานเล็กๆ น้อยๆ ทำให้สมองเกิดกระบวนการ ต้องวางแผน ต้องใช้สมาธิ ต้องยั้งมือ ต้องปรับเปลี่ยนวิธีอย่างไร ให้น้ำไม่หก และลงขวด หกก็ต้องเช็ด จนเกิดการเรียนรู้ที่จะทำให้ดีขึ้นๆ ในครั้งต่อๆ ไป”
3. ตัวเล็กก็หัดช่วยเหลือแบบเล็กๆ
เด็กเล็กๆ ถ้าเห็นเราถือของมา มักจะอยากช่วยถือ คุณจะให้เขาช่วยหรือไม่
ฝึกลูกทำอย่างนี้ : “ก็ต้องให้ช่วย และจะเห็นว่าเขาลากของ เพราะเขายังถือไม่ไหว คุณบอกลูกได้ว่า นี่หนักใช่มั้ย เขาจะได้คำศัพท์ว่า ‘หนัก’ เป็นอย่างไร จากนั้นค่อยๆ เอาของออก ลูกรู้ได้ว่า ‘เบา’ เป็นอย่างไร และหนักแค่ไหนที่เขาจะถือได้ เขาจะจดจำไว้ (เป็น working memory) ครั้งต่อไป เขาจะรู้ว่า ถุงแบบนี้ หนักขนาดไหนที่เขาถือได้ สมองเขาจะคิดวางแผน (planning) และ จัดการ (organization) จะไม่ถือถุงแบบไหน (Inhibit) จะต้องถือถุงหนักแค่ไหน ถืออย่างไร (Shifting) ถึงจะสำเร็จ และพอเขาช่วย คุณก็ขอบใจเขา ทำให้เด็กรู้จักว่ามีน้ำใจเป็นอย่างนี้ เหล่านี้เป็นกระบวนการในสมองส่วนบริหารขั้นสูง เกิดการเรียนรู้ (Learning) เก็บไปเป็นกระบวนการ ถ้าเกิดเหตุการณ์แบบนี้ ฉันควรจะตัดสินใจและทำแบบไหน หรือแก้ไข จัดการอย่างไร”
“การบอกเด็กว่า ‘ลูกต้องมีความรับผิดชอบ มีวินัยนะ’ วิธีนี้ไม่ได้ผล ถ้าเราไม่ให้สมองลูกได้เกิดกระบวนการเรียนรู้ว่า เขาต้องรับผิดชอบอะไร มีวินัยเรื่องไหน”
ขอขอบคุณ ดร.วสุนันท์ ชุ่มเชื้อ อาจารย์ประจำและผู้เชี่ยวชาญการส่งเสริมการพัฒนาสมองและกระบวนการรู้คิดใน เด็ก สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล
เรื่อง : กองบรรณาธิการนิตยสาร Amarin Baby & Kids
ภาพ : Shutterstock