AMARIN Baby And Kids – เพื่อลูกฉลาดและมีความสุข

[สร้างวินัยเชิงบวก] ชวนพ่อแม่สำรวจ เรา “สั่ง” หรือ “สอน” ลูกอยู่นะ

สร้าง วินัยเชิงบวก ให้ลูกด้วย "การสอน" กันดีกว่า สั่ง

สั่งแบบนี้ ไม่ดีแน่ >> สอนแบบนี้สิ ใช่เลย! มาสร้าง วินัยเชิงบวก ให้ลูกด้วย “การสอน” กันดีกว่าค่ะ เพราะบางครั้งการออกคำสั่งก็ไม่ได้ช่วยให้ลูกเชื่อฟัง แต่อาจทำให้ต่อต้านกว่าเดิมด้วย

การสร้าง “วินัยเชิงบวก” ถือเป็นเรื่องที่คุรพ่อคุณแม่ยุคใหม่ต้องรู้จัก เพราะหลายคนอาจไม่คุ้นเคยว่าการสร้าง วินัยเชิงบวก คืออะไร ทั้งนี้ การสร้างวินัยเชิงบวก คือการสอนและการฝึกฝนเด็กให้มีพฤติกรรมตามที่เราคาดหวัง ด้วยการใช้การสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพตรงกับธรรมชาติการรับรู้และการเรียนรู้ของเด็ก กล่าวคือ

  1. เด็กจะรับรู้สิ่งที่เราสื่อสารได้ดีเมื่อเราตอบสนองความต้องการพื้นฐานทางร่างกายและจิตใจของเด็กก่อน แล้วสมองของเด็กจึงจะเปิดรับสิ่งที่เราต้องการสื่อสาร
  2. เด็กจะเรียนรู้สิ่งที่เราสื่อสารได้ดีเมื่อเราสร้างและรักษาสัมพันธภาพที่ดีกับเด็กก่อน แล้วสมองของเด็กจะพร้อมทำความเข้าใจ

ดังนั้นเทคนิคการสร้าง วินัยเชิงบวก จึงเป็นการสื่อสารที่ช่วยให้เด็กฟังและเข้าใจสิ่งที่เราสอนได้ง่ายขึ้น อีกทั้งยังช่วยจูงใจให้เด็กอยากทำตามในสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่สอนด้วยตัวเขาเอง

เทคนิคการสร้างวินัยเชิงบวก

ส่วนที่ว่าเป็นเรื่องใกล้ตัว เพราะคุณพ่อคุณแม่และผู้ใหญ่ที่อยู่ใกล้ชิดจะมีการสื่อสารกับลูกหลานของเราอยู่ตลอดเวลา และอาจเคยใช้เทคนิคการสร้างวินัยเชิงบวกไปบ้างโดยไม่รู้ตัว แต่ส่วนใหญ่มักจะใช้สลับกันไปมากับการสร้างวินัยเชิงลบทำให้การสื่อสารไม่ค่อยได้ผลจึงเป็นเหตุผลว่าทำไมบางวันลูกเรามีพฤติกรรมดี น่ารักมาก แต่บางวันกลับงอแงและดื้อรั้น (โดยเฉพาะเด็ก Gen ใหม่ที่รู้จักใช้เทคโนโลยี)

ทีมแม่ ABK จึงชวนมาคุณพ่อคุณแม่ตรวจสอบตนเองว่าในแต่ละวันที่เราดูแลลูกนั้น เรา “สั่ง” หรือ “สอน” มากกว่ากัน หากใช้การสั่งมากกว่าการสอนแสดงว่าใช้การสร้างวินัยเชิงลบมากกว่า แต่หากใช้การสอนมากกว่าการสั่งก็หมายความว่า คุณพ่อคุณแม่ใช้การสร้าง วินัยเชิงบวก มากกว่านั่นเองค่ะ

 

ติดตามอ่าน สร้างวินัยเชิงบวก
ชวนพ่อแม่สำรวจ เรา “สั่ง” หรือ “สอน” ลูกอยู่นะ ต่อที่หน้า 2

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids

 

ชวนพ่อแม่สำรวจ เรา “สั่ง” หรือ “สอน” ลูกอยู่นะ

สั่งแบบนี้ ไม่ดีแน่ สอนแบบนี้สิ ใช่เลย!

ใช้คำพูด ห้าม” “ไม่ได้” “อย่า” “หยุดเช่น

  • ห้ามเอามือเข้าปากนะ
  • เล่นต่อไม่ได้นะ เราจะกลับบ้านกันแล้ว
  • อย่าอมข้าว
  • หยุดร้องไห้
ใช้คำขอบคุณ ตามด้วยพฤติกรรมที่เราต้องการให้ลูกทำ เช่น
  • แม่ขอบคุณที่หนูจับช้อน แล้วตักข้าวเข้าปากเอง
  • ขอบคุณที่หนูเลิกเล่น แล้วกลับบ้านกับแม่
  • แม่ขอบคุณที่หนูเคี้ยวข้าว
  • ขอบคุณที่หนูใช้คำพูดดีๆ กับแม่
สั่งให้ทำกิจวัตรประจำวัน “เดี๋ยวนี้!” เช่น
  • “ตื่นเดี๋ยวนี้!
  • “ไปอาบน้ำเดี๋ยวนี้!
  • “เก็บของเล่นเดี๋ยวนี้!
ให้ทางเลือกและให้ลูกตัดสินใจ เช่น
  • “หนูจะตื่นเลยหรือจะนอนต่ออีก 5 นาที”
  • “หนูจะเอาของเล่นพี่เป็ด หรือพี่ปลาโลมาไปอาบน้ำด้วย”
  • “หนูจะให้แม่ช่วยเก็บของเล่นหรือหนูจะเก็บคนเดียว”
สั่งให้ทำกิจวัตรประจำวัน “ดีๆ” เช่น
  • “นั่งดีๆ!
  • “พูดดีๆ!
บอกพฤติกรรมที่เหมาะสม เช่น
  • “นั่งหลังตรง ก้นติดเบาะ เท้าติดพื้นค่ะลูก”
  • “หนูกลืนข้าว แล้วค่อยพูดครับ”
ขู่ให้ทำ เช่น
  • ถ้าทานข้าวไม่เสร็จ ไม่ต้องไปเล่น จะปล่อยให้อยู่คนเดียวเลย”
บอกพฤติกรรมที่ต้องการให้เด็กทำ ตามด้วยสิ่งที่เขาอยากทำ เช่น
  • เมื่อกินข้าวหมดแล้ว ไปเล่นได้เลยค่ะ”
สร้างวินัยเชิงบวกให้ลูกใช้การ “สอน” แทนการ “สั่ง”

จะเห็นว่า “การสั่ง” ไม่สามารถตอบสนองความต้องการพื้นฐานทางจิตใจของลูกได้ เนื่องจากในขณะที่ลูกอยากทำสิ่งหนึ่ง แล้วถูกห้ามหรือสั่งลูกจะรู้สึกว่าพ่อแม่ขัดใจ ทำให้เขาไม่ได้ในสิ่งที่ต้องการ และเกิดความรู้สึกไม่ดี ความไม่มั่นคงทางจิตใจที่เกิดขึ้นจะทำให้ลูกไม่พร้อมรับฟังสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่พูด และจะใช้พลังงานทั้งหมดในการแสดงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมหรือต่อต้าน เพื่อให้ได้ในสิ่งที่เขาต้องการ

ในทางตรงกันข้ามหากคุณพ่อคุณแม่ใช้เทคนิคเชิงบวกด้วย  “การสอน” เช่น การขอบคุณ การให้ทางเลือก และการบอกพฤติกรรมที่เหมาะสม จะสามารถตอบสนองความต้องการพื้นฐานทางจิตใจของลูกน้อย เพราะลูกจะไม่รู้สึกว่าพ่อแม่ห้ามในสิ่งที่เขาอยากทำและไม่รู้สึกถูกต่อว่าจากพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม ทำให้เขาอยู่ในอารมณ์ที่พร้อมจะรับฟัง เรียนรู้สิ่งที่พ่อแม่บอก และอยากจะทำตามด้วยตัวเอง เมื่อใช้เทคนิคการสร้างวินัยเชิงบวกในการสื่อสารเป็นประจำแล้ว เด็กๆ ก็จะมีโอกาสได้ฝึกฝนพฤติกรรมที่เหมาะสมจนติดเป็นนิสัยและกลายเป็นวินัยในตนเองได้นั่นเอง

การสร้างวินัยเชิงบวกจึงเป็นหนทางหนึ่งที่ควรนำมาใช้ “สอน” แทนการ “สั่ง”เพื่อปลูกฝังให้เด็กมีหัวใจสวย ปัญญาเลิศเชิดชูคุณธรรมและอารมณ์ดีได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ขอบคุณข้อมูลจาก อ.ดร. ปนัดดา ธนเศรษฐกร อาจารย์สาขาพัฒนาการมนุษย์
สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล

อ่านต่อบทความอื่นเพิ่มเติม : 

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids