AMARIN Baby And Kids – เพื่อลูกฉลาดและมีความสุข

5 เทคนิครับมือเหตุไม่คาดฝัน! เมื่อพาลูกเตาะแตะเที่ยวนอกบ้าน

เมื่อถึงวันหยุดสุดสัปดาห์ พาลูกไปเที่ยว เป็นกิจกรรมที่พ่อแม่ส่วนใหญ่ทำกันอยู่แล้วโดยปกติ แต่แทบทุกทริปต้องมีเหตุการณ์ไม่คาดคิดให้คุณพ่อคุณแม่ปวดหัวโดยเฉพาะถ้าลูกอยู่ในวัยหัดเดิน! ดร.ปนัดดา ธนเศรษฐกร ผู้เชี่ยวชาญด้านการสร้างวินัยเชิงบวกเพื่อพัฒนาเด็กในทุกด้าน จึงมีเทคนิครับมือกับสถานการณ์เฉพาะหน้าระหว่างท่องเที่ยวมาแนะนำให้คุณพ่อคุณแม่ค่ะ

พ่อแม่ควรพร้อมรับมือทุกสถานการณ์ไม่คาดฝันระหว่างทริป

การเตรียมความพร้อมก่อนเที่ยว จะช่วยให้ลูกควบคุมพฤติกรรมและอารมณ์ของตัวเองได้ดีขึ้น ตั้งแต่ ร่วมวางแผนเที่ยวกับลูก ทบทวนข้อตกลงกับลูกบ่อยๆ ก่อนเที่ยวจริง รวมไปถึงจัดให้ลูกมีกระเป๋าเงินส่วนตัวให้เขาจัดการเอง! แต่เมื่อลูกเจอสภาพแวดล้อมใหม่ก็มีโอกาสเกิดสถานการณ์ไม่คาดฝันได้  อาจารย์ปนัดดาจึงแนะนำเคล็ดลับรับมือลูกจอมป่วนสำหรับสถานการณ์ชุลมุนที่พบบ่อย 5 แบบมาฝากค่ะ

1. เมื่อต้องเปลี่ยนแผนกะทันหัน

แม้จะวางแผนทริปท่องเที่ยวไว้ดีแค่ไหน  แต่ก็มีโอกาสที่ฝนจะตกหรือสถานที่ปิดปรับปรุง  ในสถานการณ์เช่นนี้คุณพ่อคุณแม่ลองถามวิธีแก้ปัญหากับลูกน้อยดูสิคะ  เพื่อป้องกันอาการใจสลายจนควบคุมไม่อยู่และให้ลูกน้อยยอมเปลี่ยนแผนด้วยตัวเอง  แต่หากลูกยืนกรานว่าจะทำตามแผนเดิม  คุณพ่อคุณแม่ก็ตั้งคำถามต่อไปเพื่อนำไปสู่การคิดแก้ไขปัญหาได้ค่ะ

“ฝนตกแบบนี้  เราจะทำอย่างไรกันดี” > “หนูจะเล่นตากฝนเหรอ  แต่สถานที่ไม่เปิดให้เล่นนะ” > “ถ้าหนูไปรออยู่ที่นั่นแล้วเขาไม่เปิดเลยทั้งวัน เราก็จะเสียเวลารอโดยไม่ได้เล่นอะไรเลยนะ” > “เรารออีก 5 นาที  ถ้าฝนยังไม่หยุดตก  เราเปลี่ยนไปเล่นที่บ้านกันดีไหมจ๊ะ”

อ่านต่อหน้า 2

2. เมื่อลูกตื่นเต้นเกินไป

ถึงแม้จะเตรียมความพร้อมก่อนไปเที่ยวและตกลงกติกากันก่อนแล้ว แต่ก็มีโอกาสที่บรรยากาศจริงจะทำให้ลูกน้อยเตลิดได้  ลูกอาจเอะอะเสียงดังหรือวิ่งไปมาเป็นลูกลิง เพราะอยากแสดงออกให้คุณพ่อคุณแม่รู้ว่าเขาชอบและรู้สึกสนุกจริงๆ  จะปล่อยให้เขาค่อยๆ คลายความตื่นเต้นเองก็ได้  หรือจะฉุดอารมณ์ให้สงบลงด้วยการพูดตอบรับอารมณ์ความรู้สึก  แล้วค่อยเบี่ยงเบนความสนใจของลูกไปสู่สิ่งอื่นค่ะ

“รู้แล้วจ้ะว่าหนูตื่นเต้น  เราไปดูตรงนั้นกันบ้างดีกว่า”  หรือ  “รู้จ้ะว่าหนูสนุกมาก  หนูชอบมาก  แม่เองก็คงสนุกมากถ้าได้ไปเที่ยวตรงนั้นบ้าง”

3. เมื่อลูกทำผิดกติกา

ไม่ว่าจะเป็นกติกาของสถานที่แห่งนั้นหรือกติกาที่ตกลงกับคุณพ่อคุณแม่ไว้  หากลูกไม่ทำตามข้อตกลงหรือทะเลาะกับเด็กคนอื่น  แนะนำให้คุณพ่อคุณแม่แสดงความรับผิดชอบ เป็นตัวอย่างที่ดีให้ลูกเห็น  ด้วยการขอโทษอย่างสุภาพและพาลูกน้อยออกจากสถานที่แห่งนั้นทันทีค่ะ

คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรดุหรือลงโทษลูก เพราะลูกไม่ได้ทำผิดและอาจกลายเป็นชนวนให้คุณพ่อคุณแม่ทะเลาะกับลูกแทนได้  เพียงแต่เขายังไม่พร้อมสำหรับกฎเกณฑ์และสถานที่  จึงควรค่อยๆ สอนและทบทวนข้อตกลงกันใหม่  จากนั้นคุณพ่อคุณแม่อาจให้โอกาสลูกน้อยได้เข้าไปเล่นอีกครั้งหรือเปลี่ยนเป็นให้โอกาสในครั้งหน้าก็ได้ค่ะ

อ่านต่อหน้า 3

4. เมื่อลูกหมดความอดทนรอคอย

เมื่อการเที่ยวหรือกิจกรรมบางอย่างใช้เวลานาน ลูกอาจหมดความสนใจและเริ่มแสดงพฤติกรรมไม่น่ารักต่างๆ อาจส่งเสียงก่อกวนหรือเล่นซน เพื่อบอกให้รู้ว่าเบื่อ  วิธีแก้ไขคือดึงความสนใจของเขา ชี้ชวนให้ดูอย่างอื่นหรือชวนพูดคุยเรื่องอื่น ในกรณีที่ต้องต่อแถวเข้าคิวก็เช่นกัน คุณพ่อคุณแม่สามารถเบี่ยงเบนความสนใจไปสู่เรื่องอื่นเพื่อให้ลูกอดทนรอคิวได้จนเสร็จ  ผู้ใหญ่ไม่ควรรอคิวแทนเด็กหรือใช้ความสงสารเพื่อขอลัดคิว  เพราะจะทำให้ลูกน้อยไม่รู้จักการอดทนรอคอยได้ค่ะ

(อ่านเพิ่มเติม อดทนรอคอย+ผิดแล้วรู้จักแก้ไข ต้องฝึกตั้งแต่ลูกยังเล็ก)

5. เมื่อลูกเล่นเพลินเกินเวลา

บางครั้งเราเห็นเด็กมีพฤติกรรม “เอ้อระเหย” เล่นไม่ยอมเลิก จนเลยกำหนดเวลาก็ยังไม่ยอมกลับบ้าน  วิธีแก้ปัญหาทำเพียงกำหนดเวลาให้ชัดเจนก่อน  เมื่อใกล้ถึงกำหนดเวลาให้คุณพ่อคุณแม่เตือนเขาอีกหลายๆ ครั้ง  เช่น  “เหลืออีก…นาทีนะลูก”  เตือนเป็นระยะ  แล้วยืนรออย่างตั้งใจเพื่อเป็นภาษาท่าทางให้รู้ว่าเรามีเวลาจำกัดจริงๆ ค่ะ

อ่านต่อ “3 สิ่งที่พ่อแม่ไม่ควรทำระหว่างทริป” หน้า 4

3 สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรทำเมื่อพาลูกเที่ยวนอกบ้าน!

1. ทะเลาะกับลูก

หรือดุด่าว่ากล่าวด้วยเหตุผลของผู้ใหญ่  เพราะเมื่อลูกยังไม่เข้าใจจะยิ่งแสดงอาการต่อต้านมากขึ้น

2. ทะเลาะกับผู้อื่น

ทั้งนักท่องเที่ยวคนอื่น  ครอบครัวอื่น  หรือเจ้าหน้าที่  เพราะอาจกลายเป็นตัวอย่างที่ไม่ดีให้ลูกน้อยเลียนแบบต่อไปในอนาคต

3. เมินเฉยสัญญาณจากลูก

เพราะเด็กยังไม่สามารถบอกความรู้สึกตัวเองได้ชัดเจนว่าตัวเองตื่นเต้น  เบื่อ  ไม่ชอบ  หรือกลัว  แต่เขาจะแสดงออกผ่านพฤติกรรม  เมื่อคุณพ่อคุณแม่สามารถแปลความหมายจากพฤติกรรมได้  ก็จะช่วยให้แก้ไขสถานการณ์ได้ตรงจุดมากขึ้นค่ะ

ขอขอบคุณข้อมูลจาก อ.ดร.ปนัดดา ธนเศรษฐกร ผู้เชี่ยวชาญด้านการใช้เทคนิคการสร้างวินัยเชิงบวกเพื่อส่งเสริมพัฒนาการ สมอง  การเรียนรู้  และพฤติกรรมเด็กปฐมวัย  สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว

เรื่อง: กองบรรณาธิการนิตยสาร Amarin Baby & Kids

ภาพ: Shutterstock