ในยุคที่สมาร์ทโฟน แท็บเล็ต และเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทในการใช้ชีวิตประจำวันของเรามากขึ้น หลายครอบครัวซื้อโทรศัพท์ให้ลูกใช้ตั้งแต่เข้าอนุบาล และคุณพ่อ คุณแม่หลายคนก็ยังสงสัยอยู่ว่า ลูกพร้อมแล้วหรือยังที่จะใช้เทคโนโลยีเหล่านี้ หยุดเลี้ยงลูกด้วยมือถือ แบบผิดๆ และจัดสรรเวลาการใช้ให้ดี
หยุดเลี้ยงลูกด้วยมือถือ โดยไม่จำกัดเวลา
พญ.นลินี เชื้อวณิชชากร ได้ให้ความรู้เกี่ยวกับการใช้เทคโนโลยี เอาไว้ว่า “ยุคนี้ที่ทั้งสมาร์ทโฟน แท็บเล็ต และเทคโนโลยีทันสมัยอื่นๆ อีกมากมายเข้ามามีอิทธิพลทั้งต่อผู้ใหญ่และเด็กทุกเพศทุกวัย หมอเคยสังเกตผู้คนเวลาไปในที่สาธารณะ เช่น รถไฟฟ้า ห้างสรรพสินค้า หรือแม้แต่บนรถส่วนตัว พบว่ามากกว่าครึ่งของผู้คนที่สายตาจับจ้องแต่หน้าจอ (ไม่ว่าจะจอของสมาร์ทโฟน หรือจอแท็บเล็ต หรือจอทีวีในห้างหรือรถไฟฟ้า) มากกว่าทำกิจกรรมอื่น เช่น พูดคุยกับคนอื่น อ่านหนังสือ หรือทำงานฝีมือ เหมือนในอดีต
สำหรับทุกครอบครัว หมออยากแนะนำให้ “จัดระเบียบการใช้เวลาหน้าจอ” โดยคำว่า “หน้าจอ” ครอบคลุมตั้งแต่โทรทัศน์ ดีวีดี เกมส์ สมาร์ทโฟน และคอมพิวเตอร์ ซึ่งเด็กวัยเรียนควรใช้เวลาหน้าจอไม่เกิน 2 ชั่วโมงต่อวัน ขณะที่เด็กก่อนวัยเรียนควรใช้เวลาหน้าจอไม่เกิน 1 ชั่วโมงต่อวัน”
เหตุผลที่พ่อแม่ต้องจำกัดเวลาการใช้หน้าจอของลูก ได้แก่
- เด็กควรได้รับการพัฒนาด้านภาษาและทักษะสังคม ผ่านการใช้เวลาร่วมกับผู้อื่น ทั้งการทำกิจกรรมร่วมกันกับคุณพ่อคุณแม่ และเล่นกับเพื่อน
- เวลาที่เด็กดูโทรทัศน์และใช้คอมพิวเตอร์ ควรสมดุลกับเวลาในการทำกิจกรรมอื่นที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นการออกกำลัง การเล่นกับเพื่อน การวาดรูปหรือประดิษฐ์งานศิลปะ หรืองานอดิเรกที่ชอบ รวมถึงได้พูดคุยกับคนอื่น ทั้งเด็กและผู้ใหญ่
- มีการศึกษาพบว่าเด็กที่ใช้เวลาอยู่หน้าจอนานๆ จะเสี่ยงต่อการเป็นโรคอ้วนตั้งแต่วัยเด็ก
อ่าน “สิ่งที่พ่อแม่ควรทำเมื่อลูกได้รับมือถือ” คลิกหน้า 2
สิ่งที่พ่อแม่ควรทำเมื่อลูกได้รับมือถือ
- ขั้นแรก ต้องเลือก “กิจกรรมสำหรับใช้มือถือ แท็บเล็ตที่เหมาะสมกับวัย” ไม่ว่าจะเป็นการฝึกใช้โปรแกรมต่างๆ เช่น โปรแกรมเขียน การทำสไลด์เพื่อนำเสนอ โปรแกรมวาดรูป เป็นต้น รวมถึงฝึกการค้นข้อมูลผ่านอินเตอร์เน็ต
- ควรใช้มือถือ แท็บเล็ตไปพร้อมกับลูก เพราะจะช่วยส่งเสริมสัมพันธภาพระหว่างคุณกับลูก รวมทั้งคุณยังสามารถช่วยให้เขาเข้าใจที่กำลังเรียนรู้ผ่านการใช้มือถือ แท็บเล็ตมากขึ้น
- อย่าให้ใช้มือถือ แท็บเล็ตในห้องส่วนตัวของเขา แต่ควรให้ใช้มือถือ แท็บเล็ตในที่ที่คนในครอบครัวเดินผ่านไปมา เพื่อป้องกันการเข้าเว็บไซต์ต้องห้ามต่างๆ รวมถึงคุณแม่ควรติดตั้งโปรแกรมสำหรับบล็อกเว็บไซต์ที่ไม่เหมาะสมสำหรับเด็กด้วยค่ะ และยังช่วยกำกับดูแลเรื่องเวลาที่ลูกอยู่หน้าจอด้วย
- ถามคำถามเกี่ยวกับกิจกรรมที่กำลังทำผ่านมือถือ แท็บเล็ต เพื่อฝึกฝนทักษะการคิดและทักษะการแก้ปัญหา แทนที่จะเพียงแค่ใช้มือถือ แท็บเล็ต เช่น เราควรเริ่มต้นโปรแกรมนี้อย่างไร ถ้าเราย้ายข้อมูลจะต้องทำอย่างไร
นอกจากนี้ เด็กวัยเรียนยังสนุกกับการสืบค้นข้อมูลต่างๆ ในอินเทอร์เน็ต ซึ่งแม้แต่ผู้ใหญ่เองก็ไม่ควรเชื่อทุกๆ ข้อมูลในนั้นและต้องมีวิจารณญาณในการเลือกใช้ข้อมูลที่สืบค้นได้ ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่จึงควรฝึกลูกให้รู้จักวิเคราะห์ข้อมูลที่ได้รับมาผ่านการตั้งคำถามดังต่อไปนี้
- ใครเป็นเจ้าของเว็บไซต์นี้ เป็นบุคคล หรือองค์กร มหาวิทยาลัย หรือรัฐบาล
- ข้อมูลที่มีอยู่มีจุดประสงค์เพื่ออะไร เพื่อขายของ หรือ เผยแพร่ความรู้ หรือากำลังโน้มน้าวให้เชื่อหรือทำอะไรหรือเปล่า
- ข้อมูลนี้เชื่อถือได้หรือเปล่า ข้อมูลในเว็บไซต์ได้มาจากที่ไหน เช่น มีหลักฐานหรือทำการทดลอง หรือเป็นความเชื่อส่วนตัว
- ข้อมูลนี้มีความสำคัญหรือไม่ ส่งผลให้เกิดอะไร ต่อใคร
- “เพื่อนที่รู้จักทางออนไลน์ทุกคน” เป็นคนธรรมดาทั่วไป หรือเป็นคนที่มีวัตถุประสงค์อื่น เช่น จะโน้มน้าวให้ซื้ออะไรหรือเปล่า
แม้จะไม่ใช่เรื่องง่ายที่ลูกจะตอบได้ทุกคำถาม แต่การฝึกตั้งคำถามเหล่านี้จะช่วยลดความสับสน หรือข้อมูลที่มีท่วมท้นให้ลูก และทำให้เขาไม่ต้องมัวเสียเวลา “อ่านข้อมูลที่ไม่จำเป็น”
หมอขอฝากไว้ค่ะ “คุณพ่อคุณแม่ควรเป็นต้นแบบที่ดีในการบริหารจัดการเวลาที่ใช้ในการทำกิจกรรมต่างๆ ให้มีความหลากหลายและสมดุล และอย่าลืมว่าเทคโนโลยีมีไว้เพื่อให้มนุษย์ใช้งานในการก่อให้เกิดประโยชน์ต่างๆ แต่ไม่ควรให้เทคโนโลยีมาทำให้สมาชิกทุกคนในครอบครัวละเลยกับกิจวัตรและกิจกรรมอื่นๆ ที่จำเป็นและเหมาะสมกับวัยค่ะ และการเลี้ยงลูกในยุค “ไฮเทค” ไม่จำเป็นต้อง “โลว์ทัช” นะคะ”
บทความโดย: พญ.นลินี เชื้อวณิชชากร
อ่าน “ลูกติดมือถืออันตรายแค่ไหน?” คลิกหน้า 3
ลูกติดมือถืออันตรายแค่ไหน?
รองศาสตราจารย์ ดร.ภญ. จิรภรณ์ อังวิทยาธร ภาควิชาเภสัชเคมี คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ให้ความรู้เอาไว้ว่า “หลายท่านคงเคยเห็นเด็กเล็กๆ วัยไม่ถึง 2 ขวบ บางคนยังพูดไม่ได้ด้วยซ้ำ แต่กลับใช้มือปัดหน้าจอสมาร์ทโฟน แท็บเล็ต หรือเครื่องมือสื่อสารอิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ อย่างคล่องแคล่ว ซึ่งเป็นภาพที่เห็นกันคุ้นตาในสมัยนี้ ตัวเด็กเองยังไร้เดียงสา แต่ผู้ปกครองควรทราบว่าเทคโนโลยีเหล่านี้ มีคุณอนันต์ และมีโทษมหันต์”
มีข้อมูลที่แสดงว่าคนจะหยิบมือถือขึ้นมาดูเฉลี่ยถึง 150 ครั้งต่อวัน เทคโนโลยีใหม่ๆ มีไว้เพื่ออำนวยความสะดวก และช่วยแก้ไขปัญหาเก่าๆ ที่มีขอบเขตการใช้งานที่จำกัด แต่ขณะเดียวกัน เทคโนโลยีเหล่านี้ ก็จะสร้างปัญหาใหม่ๆ ขึ้นเช่นกัน ผู้ใหญ่ต้องไม่ติดเทคโนโลยีเหล่านี้เสียเอง เพราะจะเป็นแบบอย่างให้แก่เด็ก ทำให้เด็กมีพฤติกรรมเลียนแบบ เราคงเคยเห็นพ่อแม่นั่งกดโทรศัพท์มือถือ คุยในไลน์ หรือเล่นเกมส์ แทนที่จะพูดคุยหรือเล่นกับลูก บางครั้ง พ่อ แม่ ลูก ต่างคนต่างก้มหน้ากดมือถือของตนเอง อยู่ในโลกเสมือนจริงของตัวเอง การไม่มีปฏิสัมพันธ์กันจะทำให้พ่อแม่ลดความผูกพันและความสนใจในตัวลูก พ่อแม่บางคนอาจคิดว่าการที่ลูกเล่นเครื่องมือเหล่านี้ได้ แสดงว่าลูกเป็นเด็กฉลาด หรือเมื่อเด็กอยู่กับหน้าจอสมาร์ทโฟน แท็บเล็ตแล้ว เด็กจะไม่ซน และอยู่กับที่ได้ พ่อแม่ก็สามารถทำกิจกรรมหรืองานในบ้านอื่นๆ ได้ โดยไม่ต้องมัวพะวงกับลูก
จากการศึกษาของ Dr. Jenny Radesky กุมารแพทย์แห่งศูนย์การแพทย์บอสตัน สหรัฐอเมริกา และเป็นผู้เชี่ยวชาญทางด้านพัฒนาการของเด็ก ได้ศึกษาพฤติกรรมของพ่อแม่ที่มีลูกเล็กๆ ที่รับประทานอาหารในร้านอาหาร พบว่า พ่อแม่ 55 คนใช้สมาร์ทโฟนในระหว่างการรับประทานอาหาร แม้ว่าเด็กจะร้องไห้ หรือแสดงพฤติกรรมที่เรียกร้องความสนใจจากพ่อแม่อย่างไรก็ตาม พ่อแม่จะสนใจการพูดคุยโทรศัพท์มากกว่าลูก
Dr. Radesky กล่าวว่า เด็กเรียนรู้ภาษา เรียนรู้เกี่ยวกับอารมณ์และการควบคุมอารมณ์ของตนเองโดยการเฝ้าดูอากัปกิริยา การสนทนา และการแสดงออกทางสีหน้าของผู้คนที่อยู่รอบตัว หากเด็กหรือพ่อแม่ใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่หน้าจอ เด็กจะขาดการเรียนรู้ดังกล่าวซึ่งส่งผลต่อพัฒนาการในด้านต่างๆ เด็กจะต้องการให้ผู้อื่นตอบสนองต่อตนเองในแบบอย่างเดียวกับที่สมาร์ทโฟนตอบสนอง คือ ต้องเคลื่อนไหวอย่างรวดเร็ว มีสีสัน บางครั้งอาจถึงขั้นก้าวร้าว
ในเรื่องของอันตรายจากรังสีที่แผ่จากหน้าจอของเครื่องมือสื่อสารอิเล็กทรอนิกส์ ผลการวิจัยต่างๆ ยังมีข้อขัดแย้งกันว่า รังสีนั้นมีผลต่อสมองหรือไม่ อย่างไร บางรายงานกล่าวว่ารังสีจากหน้าจอเครื่องมือดังกล่าว ไม่มากพอที่จะเป็นอันตรายต่อสมอง ถึงกระนั้นก็ตาม อย่าเพิ่งรู้สึกโล่งใจ มีรายงานด้วยว่าความถี่คลื่นวิทยุที่ปลดปล่อยออกมา อาจเป็นอันตรายต่อการพัฒนาสมองของเด็ก
สมองส่วน frontal lobe ทำหน้าที่ควบคุม ความคิด ความจำ สติปัญญา บุคลิก ความรู้สึก การรับรู้ ความเข้าใจและการใช้เหตุผล การแก้ไขปัญหาและความจำในระยะยาว และส่วน temporal ทำหน้าที่ควบคุมการมองเห็น การพูด การได้ยิน และความจำเรื่องใหม่ๆ สมองทั้ง 2 ส่วนจะมีพัฒนาการไปเรื่อยๆ จนถึงช่วงวัยรุ่น ซึ่งเป็นวัยที่มีการพัฒนามากกว่าวัยอื่น สมองส่วนดังกล่าวอยู่ในบริเวณใกล้เคียงกับส่วนของหู วัยรุ่นเป็นวัยที่มักใช้สมาร์ทโฟนติดต่อกันเป็นเวลานานๆ จึงอาจมีผลต่อสมองซึ่งเกี่ยวข้องการเรียนรู้ และการทำงานขั้นสูง
บทความนี้มิได้ต่อต้าน หรือห้ามการใช้หรือเล่นสมาร์ทโฟนของเด็กโดยสิ้นเชิง เนื่องจากการก้าวทันเทคโนโลยีใหม่ๆ ยังมีความจำเป็นในโลกปัจจุบัน ประโยชน์ของเครื่องมือสื่อสารอิเล็กทรอนิกส์เหล่านี้ ก็มีอยู่ ตัวย่างเช่น เกมส์ต่างๆ ช่วยเสริมสร้างพัฒนาการทางสายตา การใช้สายตาค้นหาสิ่งของ ช่วยในการตัดสินใจแก้ไขปัญหาได้อย่างรวดเร็ว นักวิจัยพบว่า การใช้อินเทอร์เน็ตและการเล่นเกมส์มีประโยชน์ในเรื่องการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้เล่น ช่วยพัฒนาการเรียนรู้ สื่อสาร เกิดความสัมพันธ์ในระหว่างเพื่อน
อย่างไรก็ตาม ในเด็กวัยต่ำกว่า 2 ขวบ ไม่ควรให้ใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งรวมถึงสมาร์ทโฟน ทีวี คอมพิวเตอร์ ฯลฯ ในเด็กที่โตขึ้น ควรจำกัดเวลาการเล่นในแต่ละวัน ไม่ควรเกิน 2 ชั่วโมง ผู้ปกครองควรเล่นไปด้วยกัน มีการพูดคุย โต้ตอบ เห็นหน้ากัน ไม่ควรมีสมาร์ทโฟนในห้องนอน ควรหาเกมส์ที่ส่งเสริมการสร้างคำศัพท์ต่างๆ ช่วยในการเรียนรู้คณิตศาสตร์ แนวคิดทางวิทยาศาสตร์ และเรียนรู้ทางด้านภาษา เกมส์ที่ไม่รุนแรงก้าวร้าว ไม่มีการใช้กำลังต่อสู้ห้ำหั่น ทำร้ายกัน
ในวันหยุดต่างๆ ควรมีวันที่เด็กและผู้ใหญ่ ปลอดสมาร์ทโฟน ปลอดแท็บเบล็ต พาเด็กออกไปทำกิจกรรมนอกบ้าน ให้เด็กได้สัมผัสกับธรรมชาติ ดิน โคลน ต้นไม้ใบหญ้า ให้เท้าของเด็กได้สัมผัส ดิน โคลน หรือหญ้าบ้าง ตลอดจนเดินชมพิพิธภัณฑ์ต่างๆ อย่าให้ภาพในจอมาแทนภาพในชีวิตจริง อย่าให้สมาร์ทโฟนเป็นของเล่นของเด็กแทนลูกบอลหรือตุ๊กตา อย่าให้สมาร์ทโฟนหรือแท็บเบล็ต เลี้ยงดูลูกแทนพ่อแม่
อ่านบทความที่น่าสนใจ คลิก!
อันตรายจากคลื่นโทรศัพท์มือถือ เสี่ยงมะเร็ง-ทำร้ายสมองหรือไม่?
แพทย์เตือน! ให้ลูกเล่นมือถือ เสี่ยงพัฒนาการแย่ลงในทุกด้าน
หมอเผย! แก้ปัญหา “ลูกติดมือถือ” ผิดวิธี! ส่งผลเสียต่อพัฒนาการ
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่