AMARIN Baby And Kids – เพื่อลูกฉลาดและมีความสุข

7 ข้อตกลง เรียกสมดุลให้ชีวิตในบ้าน

บรรยากาศในครอบครัวที่มีสมดุล ไม่รุนแรง ไม่เฉยเมยต่อกันเกินไป เป็นส่วนหนึ่งที่เพิ่มความสุขให้สมาชิกในบ้านได้ เรามี 7 ข้อตกลงง่ายๆ ให้คุณไปปรับใช้กับเจ้าตัวเล็ก เพื่อสร้างบรรยากาศในบ้านที่สมดุลมาฝากกัน

การอยู่กับเจ้าตัวเล็กจอมป่วน จอมโวยวาย ไม่มีระเบียบวินัย แบบไม่ต้องจู้จี้ ขี้บ่น พูดแต่เรื่องเดิมๆ ซ้ำซากจำเจ ตกลงอะไรก็ทำไม่ได้สักที ทำได้จริงนะจะบอกให้

กติกาที่ 1 ลูกจะมายุ่งด้วยไม่ได้ ถ้าลูกไม่มาช่วยงาน

เป้าหมาย : ให้ลูกมาช่วยงาน หรือไม่งอแงป่วนจิต ขณะที่แม่ทำงาน

แม่อย่างเรามักไม่เกี่ยงงอนการซักผ้า ถูพื้น หรือทำงานบ้านอื่นๆ อยู่แล้ว แต่จะอดหงุดหงิดไม่ได้ทุกทีเวลาที่ทำงานบ้านอยู่ แล้วมีเจ้านายตัวน้อยมาเรียกให้หารองเท้า หรือไปเล่นตัวต่อด้วยกัน (ซะงั้น) และแม่จะยิ่งฉุนมากขึ้น ถ้ามีเจ้านายตัวน้อยหลายคน แถมวัยไล่เลี่ยกัน

หลังจากอธิบายให้ลูกฟังไปหลายรอบแล้วว่า ลูกจ๋า ถ้าลูกมาช่วยพับผ้าให้แม่เสร็จงานไวๆ แม่ก็จะไปรับใช้…เอ๊ย เล่นกับลูกได้เร็วขึ้น แต่ตัวดีก็ทำหูทวนลม เพราะรู้แก่ใจว่าเดี๋ยวแม่ทำงานเสร็จ (เอง)

และแล้ววันหนึ่ง ที่ลูกมาเรียกร้อง พันพัวนัวเนียระหว่างกำลังง่วนกับงานตรงหน้า แม่ก็คิดได้ว่าจริงๆ แล้วที่ลูกทำอย่างนั้นก็เพราะต้องการอยู่กับแม่ให้ได้มากที่สุด จึงบอกลูกไปว่า ถ้าลูกอยากจะอยู่กับแม่ก็ต้องมาช่วยกันพับผ้าซะดีๆ แต่ถ้าไม่ช่วยก็ต้องไปรอที่อื่น หรือไปหาอะไรทำ แม่จะได้ทำงานของแม่ให้เสร็จไวๆ ปรากฏว่าเขาเลือกช่วยแม่ทำงานค่ะ!

เพราะอะไรถึงได้ผล

ทางเลือกทั้งสองข้อล้วนเป็นสิ่งที่แม่รับได้ และการได้เลือกทำให้ลูกรู้สึกว่าตนเองมีทางเลือก แม้ว่าทางเลือกนั้นจะไม่โดนใจลูกนักก็ตามที

กติกาที่ 2 แม่ทำงานเกินสองทุ่มไม่ได้นะลูก

เป้าหมาย : ให้แม่ได้มีเวลาพักผ่อน ได้เข้านอนในเวลาปกติบ้าง

คงเป็นไปได้ยากอยู่ถ้าจะบอกกับลูกและสามีว่า “เหนื่อยแล้ว ขอเข้านอนด้วยความสงบหน่อยเถอะนะ” แต่แค่พลิกแพลงเรื่องใกล้ตัว ชีวิตก็ง่ายขึ้น

“เราต้องข้ามถนนบนสะพานลอย หรือพอเห็นไฟแดงเราก็ต้องหยุดรถใช่ไหมลูก เพราะทุกคนตกลงกันว่าต้องทำตามกฎหมาย และก็มีกฎหมายแรงงานออกมาว่าเขาไม่อนุญาตให้แม่ทำงานเกินเวลาสองทุ่ม แม่ต้องทำตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด ดังนั้นถ้ายังอยู่ในช่วงก่อนสองทุ่ม ลูกจะให้เล่นด้วย อ่านหนังสือ คุยกัน หรืออาบน้ำให้ แม่ยินดีทำให้อย่างเต็มที่ แต่หลังจากสองทุ่มไปแล้วแม่จำต้องหยุดให้บริการทันที เหมือนซินเดอเรลล่าที่ต้องรีบออกจากงานเต้นรำ ตามเวลาเที่ยงคืนที่กำหนดไว้แบบเป๊ะๆ ไงจ๊ะ”

จากนั้นเป็นต้นมา ลูกๆ กระวีกระวาดอาบน้ำ เตรียมตัวเข้านอนแต่หัวค่ำ เพื่อจะได้ใช้บริการแม่อย่างเต็มที่ก่อนหมดเวลางานแม่ แล้วไม่นานนัก ทุกอย่างก็เข้าที่เข้าทางจนกลายเป็นกิจวัตร และเมื่อลูกโตขึ้น เวลาเลิกงานของแม่ก็ขยับยืดยาวขึ้นไปอีกนิด ตามกิจกรรมที่มากขึ้นของลูก

เพราะอะไรถึงได้ผล

เพราะแม่ไม่ได้เป็นคนตั้งกฎนี้ขึ้นมาเอง และเด็กๆ ก็รับรู้ว่า นี่เป็นกฎที่บังคับใช้กับตัวแม่ ซึ่งแม่ไม่อาจทำผิดกฎได้…

กติกาที่ 3 โวยวาย…จะไม่มีใครได้อะไรเลย

เป้าหมาย : เลิกงอแงเอาโน่น ไม่เอานี่ เอาสีแดง ไม่เอาสีเขียว…

เมื่อมีของให้แบ่ง แจก กระจาย บทเรียนหลายครั้งที่ผ่านมา ทำให้แม่รู้ว่าต้องทำสิ่งต่อไปนี้ก่อน “ถ้าเกิดการโวยวาย จะไม่มีใครได้อะไรเลย ดังนั้นไม่ว่าจะได้อะไร เท่าไหร่ แบบไหน สมาชิกบ้านนี้จะไม่โยกโย้ เรียกร้องต่อรองโน่นนี่ หรือโวยวายว่า “ไม่ยุติธรรม” เวลาได้รับแจกขนม หรือแจกของอะไร ใครได้สีไหน ลายไหน ก็ต้องรับเอาไปแต่โดยดี ไม่มีอิดออด”

ทีแรกก็หวั่นใจอยู่ว่าเด็กๆ น่าจะยอมทำตามได้ยาก แต่เอาเข้าจริงกลับไม่ยากอย่างที่คิด อาจจะเป็นเพราะเป็นข้อตกลงที่เสมอภาคกัน ถึงวันนี้เราจะได้อะไรที่ไม่ถูกใจ แต่พรุ่งนี้คนที่ไม่ถูกใจอาจจะเป็นคนอื่นก็ได้

เพราะอะไรถึงได้ผล

เพราะเป็นกฎที่มีไว้สำหรับทุกคน และบังคับใช้อย่างเท่าเทียมกัน

กติกาที่ 4 เมื่อโดยสารรถยนต์ ต้องไปด้วยความสงบ

เป้าหมาย : เพื่อความสงบสุข

เวลาอยู่ในที่จำกัดอย่างบนรถ แล้วลูกเอาแต่ร้องงอแง หรือร้องอะไรซ้ำๆ ไปมาจนเวียนหัว ก็ทำให้แม่ป่วนจิตได้ไม่น้อย หนำซ้ำบางครั้งลูกยังพูดกวน พูดแทรก เวลาที่แม่กำลังพูดโทรศัพท์อีกด้วย จนต้องเจรจาขอความร่วมมือว่า

“แม่ฟังได้ และชอบฟังด้วยเมื่อโอกาสอำนวย แต่ขณะที่แม่ต้องใช้สมาธิ และอยู่ในที่จำกัดอย่างบนรถ แม่คงจะรับฟังไหวในระดับหนึ่งเท่านั้นนะลูก” เหมือนอย่างที่คุณแม่คนหนึ่งบอกกับลูกว่า ถ้าลูกอยากจะเล่าอะไรให้แม่ฟัง ‘แม่พร้อมจะรับฟัง เมื่อลูกพร้อมจะเล่า’ จบนะ แบบว่าฟังได้ แต่ต้องพูดกันดีๆ

เพราะอะไรถึงได้ผล

เพราะเราไม่ได้ห้าม หรือปฏิเสธลูกอย่างสิ้นเชิง แต่เปิดโอกาสให้ลูกมีทางเลือกว่า ถ้าลูกพร้อม แล้วแม่ก็จะพร้อมไปด้วย

กติกาที่ 5 ไม่มีต่อรองเรื่องการจับจ่าย

เป้าหมาย : สกัดกั้นการเรียกร้องจะเอาโน่นนี่

เรื่องนี้จะได้ผลต่อเมื่อปฏิบัติตามกฎเหล็ก คือ ทำอย่างสม่ำเสมอ และต้องตกลงกันก่อนทุกครั้ง

แม่จะบอกว่าอะไรซื้อได้ หรือไม่ได้ โดยไม่ต้องสาธยายเหตุผล และถ้าลูกไม่ยอม ให้พูดย้ำกับลูกอย่างเรียบๆ ว่า “เราจะไม่เถียงกันเรื่องใช้เงิน แม่จะต้องยึดมั่นในจุดยืน และไม่ต้องไปพูดจาตอบโต้กับลูก”

แม่อาจจะเตือน หรือแนะนำลูกได้ ในบางครั้งที่ลูกต้องการซื้อของด้วยเงินส่วนตัวของลูกเอง จนเห็นอาการอยากซื้อจนหน้ามืดปรากฏ แต่ไม่ควรถึงกับต่อต้าน ขัดขวางการควักกระเป๋าของลูก นอกเสียจากว่าของที่ลูกอยากซื้อนั้นเป็นอันตรายต่อสุขภาพหรือความปลอดภัย ก็เพื่อให้ลูกจะได้เรียนรู้ถึงความเสียดายเงินที่ซื้อของอย่างไม่คุ้มค่าด้วยตนเอง และจะทำให้การไปช็อปปิ้งด้วยกันผาสุกยิ่งขึ้น

เพราะอะไรถึงได้ผล

เพราะเรื่องเงินๆ ทองๆ พ่อแม่ต้องเป็นคนตัดสินใจ และไม่ต้องมาเถียงกันว่าอะไรซื้อได้ซื้อไม่ได้ บางครั้งที่ลูกจ่ายเงินเอง เขาก็จะได้เรียนรู้จากการลองผิด ลองถูก หรือรู้ว่าทำไมเราถึงไม่ควรซื้อของเล่นแบบเดิมๆ หรือของที่ซื้อมาแล้วไม่ได้ใช้ และถ้าเขาอดใจเก็บเงินนั้นไว้ เขาจะซื้อของที่คุ้มค่าเงินนั้นได้มากกว่า

กติกาที่ 6 พูดกันดีๆ ให้รู้เรื่องได้

เป้าหมาย : หยุดการตะโกน ร้องโวยวาย และทำกิริยาไม่สุภาพ

กติกานี้จะยั่งยืน พ่อแม่ต้องใจเย็นเข้าไว้ และทำให้ได้อย่างสม่ำเสมอ และไม่ลืมคำสำคัญคือ “พูดกันดีๆ”

เมื่อใดที่ลูกร้อง ตะโกน โวยวาย พูดจาแสดงอภินิหาร ทำกิริยาอะไรที่ไม่น่าพึงใจ ขอจงนิ่งเข้าไว้ แล้วบอกลูกว่า “พูดกันดีๆ โวยวายฟังไม่รู้เรื่อง ซึ่งเราอาจจะต้องพูดซ้ำมากกว่าหนึ่งครั้งกว่าลูกจะสงบลงได้ และถ้าคุณใจเย็น พูดกับลูกซ้ำได้ “พูดกันดีๆ” โดยไม่ขึ้นเสียงหรือใส่อารมณ์ตาม ลูกจะสงบลงได้

โดยทั่วไปแล้ว เด็กๆ ร้องโวยวาย มีคำพูดหรือกิริยาไม่น่ารักออกมา ก็เพราะเขาไม่รู้จะสื่อสารอย่างไรให้ผู้ใหญ่เข้าใจ หรือเคยทำแบบนี้แล้วได้อย่างที่ต้องการ

เพราะอะไรถึงได้ผล

เป็นการทำให้ลูกรู้ว่าการโวยวายเป็นวิธีที่ไม่ได้ผล และเขาจะได้รับการสนอง เมื่อเขาพูดดีๆ และไม่ลงไม้ลงมือ จะทำให้ลูกรู้ว่าการทำตัวสุภาพ พูดจาดีๆ ก็ได้ผลเหมือนกันนะ

กติกาที่ 7 ไม่มีอะไรที่น่าเบื่อ (หรอกนะ)

เป้าหมาย : ป้องกันไม่ให้ลูกเอาแต่บอกว่า “หนูเบื่อ” “ผมเซ็ง” และให้ลูกรู้จักการทำให้ตัวเองไม่เบื่อ ไม่เซ็ง

ยิ่งลูกโตขึ้น พ่อแม่หลายๆ คนอาจจะได้ยินเขาบ่นกันว่า “เบื่ออ่ะ ไม่มีอะไรจะทำ” หรือ “เซ็งจุงเบย” จนไม่ได้ทำอะไร ทั้งที่มีอะไรให้ทำตั้งมากตั้งมาย และแทนที่จะบ่นว่าลูก ให้เขาเซ็งจนบรรยากาศในบ้านอึมครึม วิธีสร้างบรรยากาศใหม่ที่ดี พ่อแม่ช่วยเขาเปลี่ยนมุมมอง และเป็นเพื่อนช่วยคิดทำให้เห็นภาพ

“คำว่าเบื่อ เซ็ง มันก็แค่คำพูด ลูกแค่ไม่รู้จะเริ่มทำอะไรก่อนหลังก็แค่นั้น ไม่มีอะไรน่าเบื่อหรอก มีอะไรรอลูกไปทำอีกตั้งเยอะแยะ มาลองไล่เรียงดูดีๆ แล้ว จะรู้ว่ามีอะไรให้ทำอีกตั้งมากมาย แค่ลองนึกๆ ดูก็เริ่มหายเบื่อได้แล้ว”

จากนั้นพ่อกับแม่ก็สละเวลาสักหน่อย ช่วยลูกไล่ดูว่ามีอะไรที่เขาทำแล้วแต่ยังไม่เสร็จ อะไรที่เขาชอบแต่ก็หลงลืมไป หรืออะไรที่เคยที่จะลองทำ แต่ก็ยังไม่ได้ลงมือสักที เขาก็หายเบื่อไปได้เยอะแล้ว ที่เหลือก็เพียงแค่จัดลำดับว่าจะทำอะไรก่อนหลัง

เพราะอะไรถึงได้ผล

เพราะเด็กๆ น่ะ พอได้เห็นสิ่งที่ตัวเองคิดในหัว ออกมาเป็นภาพ เป็นเรื่องเป็นราวชัดๆ เขาก็อยากลงมือทำแล้ว ที่สำคัญคือ การที่ลูกรู้จักหาอะไรทำให้ตัวเองเพลิดเพลินและเกิดประโยชน์ โดยไม่เอาแต่บ่นว่าเบื่อว่าเซ็ง จะเป็นคุณสมบัติที่ดีที่จะติดตัวลูกไปตลอดชีวิตเลยทีเดียว

 

จากคอลัมน์ Kid Smart นิตยสารเรียลพาเรนติ้ง ฉบับเดือนมกราคม 2558

บทความโดย: กองบรรณาธิการนิตยสารเรียลพาเรนติ้ง