คุณพ่อ คุณแม่หลายคนอาจเข้าใจว่า ลูกวัย 2 – 3 ขวบ ยังไม่เข้าใจหรอกว่า ลูกโกหก เป็นเรื่องที่ผิด เช่นเดียวกับที่พวกเขาไม่สามารถแยกแยะได้ระหว่างความจริงกับความฝัน จินตนาการของพวกเขากำลังบรรเจิด และไม่มีเส้นแบ่งที่ชัดเจน ระหว่างสิ่งที่อยากได้ และสิ่งที่มีได้ นั่นอาจเป็นสาเหตุเมื่อ ลูกโกหก
ลูกโกหก เพราะอะไร?
มีคุณพ่อท่านหนึ่ง มาปรึกษากับทีมงานว่า “เพิ่งสังเกตว่าว่าลูกสาววัย 3 ขวบของเรานี่แหละ “พูดโกหก” ผมแปลกใจมาก และอยากทราบว่าเด็กวัยนี้โกหกเป็นแล้วหรือครับ แล้วมันจะกลายเป็นนิสัยแย่ๆ ของเขาไปจนโตเป็นผู้ใหญ่หรือเปล่า?”
เด็กๆ ในขวบวัยนี้มักจะมีจินตนาการ อาจจะพูดว่าตัวเองเลี้ยงไดโนเสาร์ หรือบอกว่าแม่เป็นเจ้าหญิง แต่นั่นก็เป็นเพราะพวกเขาอยากให้มันเกิดขึ้นจริง สาเหตุอีกข้อหนึ่งของการพูดโกหกคือการกลัวถูกลงโทษ ถ้าเป็นเช่นนั้น คำแนะนำง่ายๆ ก็คือคุณพ่อ คุณแม่ควรหลีกเลี่ยงคำขู่ที่จะทำให้ลูกกลัวจนต้องโยนความผิดให้คนอื่น หรือแม้แต่โยนความผิดให้ตุ๊กตาของลูกเอง
แม้ว่าการโกหกของลูกน้อยจะเป็นสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่รับไม่ได้ แต่ถ้าเมื่อเห็นว่าลูกโกหก คุณพ่อคุณแม่ควรพิจารณาก่อนว่าเป็นพฤติกรรมที่เป็นไปตามพัฒนาการตามวัยของลูกหรือไม่ ถ้าพฤติกรรมนี้เกิดขึ้นในเด็กช่วงวัย 2 -3 ขวบ ลูกน้อยอาจจะยังไม่เข้าใจ หรือแยกแยะความจริงกับจินตนาการได้ อาจจะพูดในสิ่งที่ตัวเองนึกขึ้นมา นั่นก็ถือว่าเป็นเรื่องปกติตามพัฒนาการ และควรหลีกเลี่ยงการใช้คำว่า “เด็กโกหก”
แต่ถ้าพฤติกรรมเหล่านั้นเกิดขึ้นในเด็กโต ตั้งแต่ 7 ขวบขึ้นไป ที่สามารถแยกแยะความจริงกับจินตนาการได้แล้ว นั่นก็ถือว่าเป็นพฤติกรรมโกหก การทำความเข้าใจสาเหตุว่าทำไมลูกน้อยถึงโกหกจึงเป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งมีสาเหตุหลักๆ ดังนี้
1.เด็กบางคนโกหกเพื่อเอาตัวรอด หรือเพื่อหลีกเลี่ยงการถูกลงโทษเมื่อตนเองทำอะไรผิดพลาด เช่น ไม่ได้ทำการบ้าน หรือทำของเสียหาย
2.เด็กบางคนต้องการได้รับความสนใจจากพ่อแม่ นั่นอาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ลูกน้อยสร้างเรื่องเล่าให้เหนือคนอื่น ทั้งที่จริงๆ แล้วไม่เป็นเช่นนั้น
3.เด็กบางคนโกหกเพื่อหวังผลประโยชน์อะไรบางอย่าง หรือเพื่อกลั่นแกล้งผู้อื่น ซึ่งถือว่าเป็นความรุนแรงกว่ากรณีอื่นๆ คุณพ่อ คุณแม่ต้องประเมินแล้วว่าลูกมีพฤติกรรมเกเรอื่นๆ ร่วมด้วยหรือไม่ เช่น ชอบขโมยของ ก้าวร้าว ทำร้ายผู้อื่น ละเมิดกฎของสังคม ซึ่งบ่งชี้ว่า เด็กอาจมีปัญหาสุขภาพทางจิตร่วมด้วย
อ่าน “ลูกโกหกกับอาการป่วยทางจิต” คลิกหน้า 2
ลูกโกหก กับอาการป่วยทางจิต
คนเราทุกคนเคยพูดโกหก แต่เด็กที่โกหกบ่อยๆ มักบ่งชี้ถึงปัญหาสุขภาพทางจิตบางอย่าง แต่อาจยังไม่ถึงขั้นป่วยเป็นโรคจิตใดๆ แต่อาจพบอาการทางจิตเวชในเด็กกลุ่มนี้ได้ คือ
1.โรคสมาธิสั้น เด็กที่สมาธิสั้น อาจจะส่งผลให้มีปัญหาด้านการเรียนรู้ ทำให้เรียนไม่เก่ง ไม่ชอบทำการบ้าน ไม่ได้ส่งการบ้าน ซึ่งอาจจะนำมาด้วยการโกหกเพื่อที่จะทำให้พ้นผิด
2.โรคพฤติกรรมผิดปกติ เด็กอาจจะมีพฤติกรรมชอบลักขโมย ก้าวร้าว เช่น ชอบรังแกสัตว์ ชอบเล่นไฟ หรือชอบเล่นอะไรรุนแรง ทำร้ายผู้อื่น รวมถึงการโกหกหลอกลวง
รับมืออย่างไรเมื่อ ลูกโกหก
ในกรณีที่เด็กเล็กๆ เล่าเรื่องไปตามความคิด หรือจินตนาการของตัวเอง คุณพ่อ คุณแม่ก็ควรจะบอกลูกว่า “นั่นไม่ใช่เรื่องจริงนะลูก” และพยายามแก้ไขให้ตรงตามความเป็นจริง อย่าเพิ่งโกรธ หรือกังวลจนเกินไปว่าลูกจะกลายเป็นคนไม่ดีเมื่อโตขึ้น
ส่วนในกรณีที่เด็กโตชอบพูดโกหก คุณพ่อ คุณแม่ก็ต้องแก้ไขให้ตรงตามความเป็นจริง เช่น “พ่อแม่รู้นะ ว่ามันไม่ใช่อย่างนั้น” แล้วค่อยๆ สื่อสารกับลูกเเพื่อทำความเข้าใจอย่างใจเย็น เพราะเหตุผลที่เด็กโกหกอาจจะไม่ใช่เรื่องเลวร้ายก็เป็นได้ เช่น อาจกลัวพ่อแม่เสียใจ อาจโกหกเพราะกำลังแอบทำเรื่องดีๆ บางเรื่องที่ยังไม่สามารถบอกได้
แต่ถ้าลูกน้อยโกหกซ้ำๆ ก็อาจจะถือว่าเป็นพฤติกรรมในทางลบที่คุณพ่อ คุณแม่ควรที่จะลงโทษบ้าง เมื่อลูกน้อยแสดงออกทางพฤติกรรมที่ไม่ดี โดยการลงโทษอย่างมีเหตุผล ไม่ใช้อารมณ์และความรุนแรง หลีกเลี่ยงการตี ลูกจะได้เรียนรู้และรับผิดชอบถึงผลของการโกหก ส่วนในเด็กที่พูดโกหกแล้วรู้สึกสำนึกผิด กล้าที่จะสารภาพและขอโทษ คุณพ่อคุณแม่ก็ควรที่จะเข้าใจ และชื่นชมกับการรู้จักยอมรับผิด แต่ถ้าคุณพ่อคุณแม่ตำหนิติเตียนลูก และลงโทษรุนแรง แทนที่จะทำให้ลูกกลัว ไม่กล้าที่จะทำผิดอีก อาจจะกลายเป็นการเปิดโอกาสให้ลูกน้อยปิดบังความจริงมากขึ้น
สำหรับวิธีช่วยให้ลูกเรียนรู้คุณค่าของการพูดความจริง ความรู้สึกละอายจะเป็นตัวสอนลูกเอง เช่น เมื่อลูกพูดโกหกเพื่อปัดปัญหาออกจากตัว ก็ลองพูดประมาณว่า “พ่อแม่รู้ว่าลูกรู้สึกแย่ที่ทำแก้วแตก มาช่วยพ่อแม่เช็ดน้ำตรงนี้ก็ได้นะจ๊ะ แล้วเดี๋ยวต่อไปพ่อแม่จะให้ใช้แก้วพลาสติกแทน” วิธีนี้เป็นการให้ความสำคัญกับความรู้สึกของลูกและยังจะช่วยปิดโอกาสที่ลูกจะใช้คำโกหกเพื่อแก้ตัวอีกด้วย
อ่าน “วิธีพูดกับลูกที่ชอบโกหก” คลิกหน้า 3
วิธีพูดเมื่อ ลูกโกหก
ปัญหาที่ลูกชอบพูดโกหก เป็นหนึ่งในปัญหาที่คุณพ่อ คุณแม่เครียด และเป็นกังวลใจ แล้วจะทำอย่างไรดีเมื่อลูกน้อยพูดโกหก ลองมาดูตัวอย่างบทสนทนานี้ แล้วลองนำไปปรับใช้กันดูค่ะ
“วันก่อนลูกขอเงินแม่ไปซื้อขนม แม่ขอดูหน่อยได้มั้ยลูกว่าซื้ออะไรมาบ้าง”
หากลูกน้อยพูดโกหก แต่รู้สึกผิด กลัวว่าจะถูกจับได้ ลูกจะแสดงออกทางสีหน้าแสดงถึงความไม่สบายใจ ก้มหน้านิ่ง ไม่กล้าสบตา หากสังเกตเห็นอาการดังกล่าวอย่าเพิ่งแน่ใจว่าลูกน้อยกำลังโกหก รอฟังคำตอบของลูกก่อน
“ดูสีหน้าลูกไม่ค่อยดี มีอะไรจะบอกแม่หรือเปล่าคะ”
ลูกน้อยอาจจะยังไม่กล้าพูดอะไร ให้คุณแม่วางมือลงบนไหล่ลูกอย่างอ่อนโยน เพื่อให้เขาคลายความกังวลใจลง
“ผมทำเงินหายครับ แม่จะลงโทษผมไหม ถ้าผมทำเงินหาย”
เมื่อลูกสารภาพผิด อย่าเพิ่งต่อว่าเขา ให้นั่งลงสบตาเขา เด็กทุกคนย่อมกลัวการถูกลงโทษ เขาอาจกำลังโกหก หรือหาทางที่จะทำให้ได้รับการลงโทษน้อยลง จึงแต่งเรื่องราวต่างๆ เพื่อที่จะทำให้พ้นความผิด หากคุณแม่สามารถแสดงออกมา และพูดคุยกับลูกอย่างมีเหตุผล เขาจะสารภาพความจริง เพราะจริงๆ แล้วเด็กๆ มีความฉลาด พิจารณาด้วยตัวเองได้ว่า การสารภาพและสัญญาว่าจะไม่ทำผิดอีกจะทำให้เขาไม่ถูกลงโทษ หรือได้รับโทษน้อยลง
แต่หากคุณพ่อ คุณแม่สังเกตแล้วว่าลูกยังคงโกหก ให้บอกเขาว่าถ้าลูกโกหก พ่อแม่จะเสียใจแค่ไหน
“ลูกไม่ได้โกหกแม่ใช่มั้ยคะ เพราะถ้าลูกโกหก แม่คงจะเสียใจมากเลย”
เขาอาจจะร้องไห้ หรือทำตัวไม่ถูก คุณแม่ควรกุมมือลูกไว้อย่างอ่อนโยน และพูดด้วยน้ำเสียงที่อ่อนโยนเพื่อสั่งสอน
“มีอะไรต้องบอกแม่ตรงๆ ห้ามโกหกเด็ดขาด เพราะมันจะกลายเป็นนิสัยที่ไม่ดี ติดตัวลูกไปจนโต คนโกหกเป็นที่รังเกียจของคนอื่น ไม่มีใครอยากคบด้วย ลูกเข้าใจมั้ยคะ”
“ผมเข้าใจแล้วครับ ต่อไปผมจะไม่ทำอีก”
คำมั่นสัญญาของลูก อาจทำให้คุณแม่รู้สึกสบายใจ แต่สิ่งสำคัญคือต้องสอนให้ลูกมีสติ เตือนลูกน้อยว่าอย่าทำในสิ่งที่ไม่ดี เพื่อชีวิต และอนาคตของลูกน้อยเอง แม้ลูกจะยังเล็ก เขาก็สามารถภูมิใจในตัวเองได้ และเป็นลูกที่มีจิตใจที่ดีด้วยการไม่โกหก
ข้อมูลอ้างอิง: คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, นิตยสารธรรมดี (ออนไลน์)
อ่านบทความที่น่าสนใจ คลิก!!
6 วิธีเข้าใจและสอนลูก เมื่อลูกพูดโกหก!
ลูกชอบพูดโกหก เพราะพ่อแม่เข้มงวดกับลูกมากไป
ลูกชอบโกหกบ่อยๆ กลัวจะติดเป็นนิสัย แก้อย่างไรดี?
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่