สอนลูกไหว้ …เพราะการไหว้เป็นมารยาทไทยที่สืบทอดกันมาช้านาน แสดงถึงความเคารพ ความมีสัมมาคารวะ การให้เกียรติซึ่งกันและกัน แสดงออกถึงการทักทาย การขอบคุณ การขอโทษ และกล่าวลา
ประเทศไทยมีวัฒนธรรมอันดีงามที่สืบทอดกันมาตั้งแต่สมัยโบราณ คือ “การไหว้” ซึ่งเป็นการแสดงออกถึงการมีมารยาทที่ดีงาม การมีสัมมาคารวะ การอ่อนน้อมถ่อมตน การแสดงความเคารพต่อผู้ที่มีอาวุโสกว่า คนไทยแสดงออกด้วยการไหว้เมื่อทักทายในการพบปะหรือลาจากกัน นอกจากนี้ การไหว้ยังเป็นการแสดงออกที่หมายถึงการขอบคุณ การขอโทษ และการให้เกียรติซึ่งกันและกัน
แต่น่าเสียดายที่ในปัจจุบันนี้วัฒนธรรมการไหว้นับวันจะค่อยๆ เลือนหายไปจากสังคมไทย เนื่องจากคนไทยรับเอาวัฒนธรรมของต่างชาติเข้ามา เช่น การเปลี่ยนจากการยกมือไหว้เมื่อเจอกันเป็นการจับมือแทน นอกจากนี้ มีคุณพ่อคุณแม่และผู้ปกครองจำนวนมากที่ไม่เห็นความสำคัญในการสอนลูกให้รู้จักการยกมือไหว้ผู้ใหญ่
ดังนั้น จึงทำให้เราได้พบเจอ “เด็กมือแข็ง”ไร้มารยาทเกิดขึ้นมากมายในสังคมไทย
คุณพ่อคุณแม่ สอนลูกไหว้ ได้อย่างไร?
1. ทำให้ดูเป็นตัวอย่าง
คุณพ่อคุณแม่สามารถสอนให้ลูกรู้จักการไหว้ได้ตั้งแต่ลูกอายุ 1 – 3 ปี โดยเริ่มจากการที่คุณพ่อคุณแม่ไหว้ให้ลูกดูเป็นตัวอย่าง ซึ่งในเด็กเล็กที่ยังพนมมือไม่เป็นนั้น คุณพ่อคุณแม่ควรสอนโดยจับมือลูกให้พนมมือเข้าด้วยกันอย่างถูกต้อง โดยบอกให้ลูกรู้ว่านี่คือการไหว้เป็นการแสดงออกที่สวยงามน่ารัก นอกจากนี้ เมื่อลูกได้เห็นคุณพ่อคุณแม่ยกมือไหว้คุณปู่คุณย่าคุณตาคุณยาย และผู้อาวุโสบ่อยๆ ก็จะรู้ว่านี่เป็นพฤติกรรมที่ดีที่ควรกระทำซึ่งจะทำให้ลูกเลียนแบบและซึมซับพฤติกรรมนี้ได้ไม่ยาก
2. สอนการไหว้อย่างถูกต้อง
คุณพ่อคุณแม่ควรสอนให้ลูกไหว้ผู้อาวุโสและผู้มีพระคุณ ได้แก่ พ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย ญาติผู้ใหญ่ ครู อาจารย์ โดยการพนมมือนิ้วชิดกันพร้อมกับก้มศีรษะลงให้หัวแม่มือจรดกับปลายจมูก ปลายนิ้วแนบระหว่างคิ้ว และการไหว้บุคคลที่มีอาวุโสกว่าเล็กน้อยที่เคารพนับถือ โดยการพนมมือนิ้วชิดกันแล้วยกขึ้นพร้อมทั้งก้มศีรษะลงให้หัวแม่มือจรดปลายคาง ปลายนิ้วแนบปลายจมูก
3. อย่าปล่อย! เมื่อลูกไม่ยอมไหว้
ทุกครั้งที่ลูกมีท่าทีดื้อหรือต่อต้านที่จะไหว้สวัสดีทักทายผู้ใหญ่ คุณพ่อคุณแม่ต้องไม่ยอมที่จะปล่อยตามใจลูกแต่ต้องเอาจริงเอาจังที่จะสอนให้ลูกตระหนักว่าการไหว้เป็นสิ่งสำคัญที่ลูกจะละเลยไม่ได้แต่ต้องปฏิบัติจนติดเป็นนิสัยความเคยชิน
อ่านต่อ >> “4 วิธีสอนให้ลูกไหว้ อย่างถูกต้อง” คลิกหน้า 2
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
การไหว้ โดยการยกมือ 2 ข้างขึ้นมาพนม นิ้วชิดกัน ปลายนิ้วจรดกัน ยกมือขึ้นระดับต่างๆ ตามฐานะของบุคคล จึงเป็นเรื่องสำคัญที่พ่อแม่ควร “สอนลูกไหว้” ให้เป็นนิสัย
การไหว้นั้นสามารถฝึกได้ตั้งแต่อายุ 1 ขวบ เพราะเด็กในวัยนี้เริ่มใช้สายตา และหูจดจำสิ่งรอบตัว คุณพ่อ คุณแม่ สามารถฝึกลูกได้ตั้งแต่ยังเล็กๆ เด็กจะซึมซับการไหว้ เมื่อโตขึ้นเด็กจะไหว้ได้ดียิ่งขึ้น
วิธีสอนให้ลูกไหว้
1.จับมือลูกน้อยมาพนมมือเข้าด้วยกัน และบอกลูกว่าที่คือการไหว้ ทำวันละ 2-3 ครั้ง
2.เมื่อลูกเริ่มยกมือไหว้ได้ คุณพ่อ คุณแม่ ลองให้ลูกหัดไว้ผู้ใหญ่ทุกครั้ง เพื่อเป็นการสวัสดี
3.สอนให้ลูกไหว้ เมื่อมีผู้ใหญ่ให้ของ และสอนรู้จักการขอบคุณผู้ใหญ่
4.สอนให้ลูกยกมือไหว้ขอโทษเมื่อลูกทำผิด เช่น เล่นซน แย่งของเล่น เป็นต้น
คำที่มักกล่าวเมื่อไหว้ทักทายหรือบอกลาคือ “สวัสดี” มาจากคำ “สฺวสฺติ” ในภาษาสันสกฤต แปลว่า ความดีงาม ความเจริญรุ่งเรือง หรือความปลอดภัย
ระดับในการไหว้
1.ไหว้พระ ประนมมือขึ้น ก้มศีรษะ จรดหัวแม่มือที่กลางหว่างคิ้ว นิ้วชี้แตะที่เหนือหน้าผาก แล้วก้มหัวลง
2.ไหว้ผู้มีพระคุณและผู้อาวุโส เช่นเดียวกับการไหว้พระ แต่นิ้วหัวแม่มือจรดปลายจมูก นิ้วชี้จดหว่างคิ้ว
3.ไหว้บุคคลทั่วไปและผู้เสมอกัน ประนมมือขึ้น ก้มศีรษะเล็กน้อย หัวแม่มือจรดที่ปลายคาง นิ้วชี้แตะที่จมูก
ชมคลิปหนูน้อยวัย 2 ขวบ 9 เดือน ที่คุณแม่สอนเรื่องมารยาทในการไหว้ จนเป็นนิสัย
เพราะ การไหว้ เป็นขนบธรรมเนียมที่ดีงามของคนไทยที่ปฏิบัติกันมายาวนาน ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่ควรปลูกฝังให้ลูกรู้จักไหว้จนเป็นนิสัย เพราะเด็กคนใดที่เป็นคนมีนิสัยนอบน้อมยกมือไหว้ผู้ใหญ่ได้เองโดยที่ไม่ต้องมีใครมาคอยสั่ง แน่นอนว่า ผู้ใหญ่ที่พบเห็นก็มักจะให้ความเมตตาเอ็นดู ซึ่งก็เป็นประโยชน์ต่อตัวของเด็กคนนั้นนั่นเอง
อย่าลืม “สอนลูกไหว้” คุณปู่ คุณย่า คุณตา คุณยาย และผู้ใหญ่ ให้เป็นนิสัย เพื่อเสริมสร้างมารยาทที่ดีให้ลูกน้อย คนอื่นมองจะได้ชื่นชมในความน่ารักน่าเอ็นดูของลูกน้อย
อ่านต่อบทความอื่นน่าสนใจ คลิก!
- โรคมารยาททางสังคมบกพร่อง ระบาดหนักส่งต่อสู่รุ่นลูก !
- สอนลูกเรื่องมารยาท ด้วยหนังสือนอกเวลา
- สอนลูกให้ “ขอบคุณ” เป็น
- 3 คาถาบูชาพ่อแม่! ให้ลูกสวดได้ทุกวัน เพื่อชีวิตที่ราบรื่น
เครดิต: www.thaihealth.or.th , kroobannok.com, kanchanapisek.or.th, youtube WeingPing Benedetta