เวลาทำอะไรผิดพลาดขึ้นมา ลูกวัย 3 ขวบของเรามักจะอุทานออกมาว่า “โอ๊ย” “อุ๊ย” หรือ “อ้าว” แต่ไม่เคยรู้จักพูดขอโทษสักครั้งเดียว เมื่อไรจะถึงเวลาที่ “ลูกพูดขอโทษ” ได้อย่างเต็มปากเต็มคำเสียทีนะ?
ก่อนอื่น ไม่ว่าสิ่งที่ลูกทำจะเพิ่มระดับความปรี๊ดให้คุณมากแค่ไหน แต่ต้องยับยั้งใจสยบอารมณ์โกรธของตัวเองให้ได้ก่อน หายใจเข้า-ออกลึก ท่องพุทโธ พุทโธ อย่าหลุดเหตุผลนานัปการมาพร่ำบ่นให้เจ้าตัวเล็กสำนึกผิดเด็ดขาด ควรหันมาบอกให้ลูกพูดคำสั้นๆอย่าง “หนูขอโทษ” “ผมผิดเอง” หรือ “ผมไม่ได้ตั้งใจ” ดีกว่า
หัวใจของการสอนให้ ลูกพูดขอโทษ ให้เป็น
1. ย้ำความสำคัญของการ “ขอโทษ”
คำพูดสื่อความรู้สึกขอโทษจะช่วยให้ลูกเข้าใจว่าการขอโทษคือสิ่งที่สำคัญ และเมื่อลูกยอมพูดตามแล้ว ค่อยให้เขาทวนการกระทำที่ไม่ถูกต้องลงไปในคำขอโทษด้วย เช่น “ผมขอโทษที่โยนมันลงพื้น” เพื่อให้ลูกเข้าใจและยอมรับมากขึ้นว่า สิ่งที่เขาทำมันไม่สมควร
อ่านต่อ “อยากให้ลูกพูดขอโทษ ต้องคิดถึงอะไร?” คลิกหน้า 2
2. อยากให้ลูกพูดขอโทษ ความคาดหวังของพ่อแม่นั้นสำคัญ!
ความคาดหวังของผู้ใหญ่จะส่งผลโดยตรงต่อการตอบสนองของคุณยามที่เด็กๆ มีพฤติกรรมใดๆ และหากคุณคาดหวังอะไรที่ไม่เหมาะสม ก็อาจทำให้คุณลงโทษลูกอย่างไม่สมควร เช่น คุณอาจลงโทษลูกเมื่อเห็นว่าเขาทำผิด แต่แทนที่จะบอกขอโทษ เขากลับอุทานออกมาแทน
พ่อแม่อาจสับสนว่า แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่าควรคาดหวังอะไรกับลูกในช่วงอายุต่างๆ?
ตัวอย่างเช่น กรณีนี้สิ่งที่คุณควรรู้คือ เมื่อ 3 ขวบ เด็กๆ จะเข้าใจเหตุและผลของการกระทำของตัวเองมากขึ้น เห็นได้ชัดเมื่อเขาทำผิดอะไรขึ้นมา เช่น ทำของหกเลอะเทอะ อย่างน้อยที่สุดเขาก็ยังเปล่งเสียงออกมาว่า “อุ๊ยย” หรือ “อ้าววว” ใช่ไหมคะ นั่นหมายถึง เขาก็ยังสำนักผิดหรือรู้สึกอยู่นะคะ ว่าผู้ใหญ่คงไม่ปลื้มแน่ แต่เขายังไม่มั่นใจที่จะพูดขอโทษออกมาในทันที และไม่รู้ว่าการพูดขอโทษจะบรรเทาความรู้สึกไม่พอใจ เสียใจ กับคนที่ลูกทำผิดด้วยได้
อย่างไรเสีย อีกไม่นานคำขอโทษจากปากเขาก็คงตามมา เพียงแต่คุณเองก็ต้องเป็นตัวอย่าง “ที่ดี” ถ้าลูกได้เห็นคุณขอโทษกับสิ่งต่างๆ หรือ คนอื่นๆ รอบตัวเวลาทำผิด รวมถึงแนะนำลูกว่า อานุภาพของการขอโทษช่วยบรรเทาความรู้สึกเจ็บปวด และรักษาสัมพันธภาพที่ดีของลูกและคนรอบข้างที่เขารักได้อย่างไร ความน่ารักก็คงเกิดกับเด็กๆ ไม่ยากค่ะ
บทความโดย: กองบรรณาธิการนิตยสาร Amarin Baby & Kids
เรียบเรียง: กองบรรณาธิการเว็บไซต์
ภาพ: Shutterstock