พอนั่งโต๊ะทำงานทีละ ทำไม ลูกชอบนั่งตัก แม่เวลานี้ทุกที !! ยิ่งช่วง Work from home แบบนี้ คุณพ่อคุณแม่บ้านไหนเตรียมตัวอย่างดีเพื่อทำงาน ทั้งเก็บตัวอยู่ในห้องคนเดียว ล็อกประตู ใส่กลอน ปิดกระจก แต่ลูกยังทุบประตูห้องปังๆๆ อยู่ดี ยกมือขึ้น!!
ลูกชอบนั่งตัก ทุกครั้งที่แม่ทำงาน เพราะอะไรกันแน่
แม้จะไม่ต้องฝ่ารถติดเดินทางไกลไปออฟฟิศ แต่เวลาทำงานอยู่บ้านนั้น คุณพ่อคุณแม่หลายคนหัวหมุนกว่าเดิมอีก เพราะมีผู้ช่วยตัวจิ๋วคอยมาป้วนเปี้ยนอยู่ใกล้ๆ ยิ่งบ้านไหนเปิดวิดีโอคอลล์หรือประชุมออนไลน์ ไม่รู้ทำไม ลูกๆรีบพุ่งปรี่เข้ามามีส่วนร่วมด้วย จนพ่อแม่หลายคนต้องงัดกลยุทธ์เด็ด หาวิธีเว้นระยะห่างทางสังคมกับเจ้าตัวเล็กอย่างจริงจัง ไม่อย่างนั้นเผลอเมื่อไหร่ เป็นได้ปีนขึ้นมานั่งแหมะบนตักของคุณพ่อคุณแม่ทุกที
ทำไม ลูกชอบนั่งตัก พ่อแม่นัก
เพราะอะไร ลูกชอบนั่งตัก พ่อแม่นัก นักวิจัยได้ให้คำตอบไว้อย่างเรียบง่ายว่า นั่นก็เพราะ “ลูกรักเรานั่นเอง” เด็กทุกคนอยากได้ความรัก ความอบอุ่น ต้องการอ้อมกอดและการสัมผัสจากคนที่ตัวเองรักที่สุด หนีไม่พ้นพ่อกับแม่ (หรือคนที่ผูกพันใกล้ชิด เลี้ยงดูมาตั้งแต่เกิด) ไม่อยากให้พ่อแม่หันไปสนใจเรื่องอื่นมากกว่าตัวเอง ลองสังเกตว่าเมื่อไหร่ที่ลูกอยากให้พ่อแม่หันมากอด หอม หรือจั๊กกะจี้ให้หัวเรา มักชอบกระแซะและปีนขึ้นมานั่งกับผู้ใหญ่ ซึ่งเป็นวิธีเดียวกับที่คนและสัตว์ทำเพื่อปฏิสัมพันธ์กัน
MUST READ : 3 ข้อดีของ การกอดลูก สิ่งอุ่นใจที่สุดที่พ่อแม่ควรมอบ!
MUST READ :กอดลูก ทารก ภาษารักง่ายๆ ช่วยเพิ่มความฉลาดทางอารมณ์
เด็กๆเองก็ชอบให้คุณแม่กอด หอม ลูบหัว นวดตัว หรือแค่จับมือเบาๆมาตั้งแต่แรกเกิด ตอนยังเป็นทารก ลูกใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่บนตักและในอ้อมแขนของพ่อแม่ เรามีเวลาผูกพันกันระหว่างกินอาหาร คุยเล่น สร้างความอบอุ่นใจ ตักของพ่อแม่คือแดนสวรรค์ของลูกน้อยที่เต็มไปด้วยความรัก ความอบอุ่น เวลาเดียวกันนี้ ลูกก็ได้เรียนรู้วิธีควบคุมร่างกายและอารมณ์ของตัวเองเวลานนอนอยู่ตักพ่อแม่ด้วย แม้ลูกโตขึ้น ช่วยเหลือตัวเองหรือนั่งเล่นคนเดียวได้ แต่ถ้าตอนไหนรู้สึกไม่ปลอดภัย เหงา หรือแค่เบื่อ พวกเขาจะวนกลับมาหาตักพ่อแม่เพื่อใช้เป็นที่พักใจ
กอดหอมจากพ่อแม่มีพลังมากแค่ไหน
นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ จิตแพทย์ชื่อดังได้ให้คำแนะนำไว้ในบทความตอนหนึ่งว่า “การกอดหอมลูกสำคัญกว่าให้ลูกกินนม กินข้าวให้อิ่มท้อง เพราะการกอดของพ่อแม่ทำให้ลูกอิ่มใจ แต่ควรสำรวจตนเองสักครั้งว่าใจของเราเองสงบพอสำหรับการเลี้ยงลูกหรือเปล่า เวลาเราอยู่กับลูก เล่นกับลูก รวมทั้งอุ้มกอดลูก ใจของเราอยู่ที่เขาพอเพียงหรือไม่ หรือที่แท้แล้วใจของเราไปอยู่ที่อื่น
เรื่องนี้เป็นเรื่องเล็กๆ ที่สำคัญมากน้อยไม่เท่ากันในแต่เด็กแต่ละคน เด็กบางคนพอใจเพียงแค่คุณพ่ออุ้มเดินไปมา ส่วนเรื่องคุณพ่อจะอุ้มไปดูฟุตบอลไปโดยไม่กอดเลยเขาไม่ว่า ในขณะที่เด็กบางคนไม่พอใจเท่านั้น เขาต้องการการอุ้มกอดที่มีประสิทธิภาพมากกว่าเด็กคนอื่น คุณพ่อจะอุ้มด้วยดูหนังด้วยไม่ได้ ต้องอุ้มด้วยกอดด้วยร้องเพลงด้วยและทุ่มใจให้เขาด้วยถึงจะเพียงพอ”
อ่านต่อ วิธีรับมือลูกน้อยเมื่อพ่อแม่ต้องทำงาน หน้า 2
คุยกับลูกอย่างไรเมื่อพ่อแม่ต้องทำงาน
แต่ในเวลาจำเป็นที่คุณพ่อคุณแม่ให้ ลูกนั่งตัก ไม่ได้ จะมีวิธีจัดการอย่างไร บอกลูกอย่างไรให้เข้าใจและไม่ทำให้เสียใจเพราะคิดว่าเราไม่รัก นักวิจัยได้แนะนำวิธีรับมือเมื่อพ่อแม่ต้องทำงาน 6 วิธี ดังต่อไปนี้
1.เช็กก่อนว่าลูก 3 ขวบหรือยัง
เด็กเล็กวัยไม่ถึง 3 ขวบยังต้องการให้ผู้ใหญ่ดูแล พวกเขาจึงอยากคลอเคลียพ่อแม่ตลอดเวลา บวกกับยังไม่รู้จักวิธีจัดการอารมณ์ตัวเอง หากจำเป็นต้องผละจากลูกจริงๆ คงต้องหาตัวช่วยมาทำหน้าที่แทน ไม่ว่าจะเป็น คุณปู่ย่าตายาย หรือพี่เลี้ยงที่เด็กคุ้นเคย
2.ลูก 3 ขวบ ฝึกให้รอคอยด้วยความอ่อนโยน
แต่ถ้าลูกโตเกิน 3 ขวบแล้ว พ่อแม่สามารถสอนเรื่อง “ พื้นที่ส่วนตัว” ให้เจ้าตัวน้อยเข้าใจด้วยวิธีง่ายๆ อย่างเช่น บอกกับลูกด้วยน้ำเสียงอ่อนโยนว่า “ตอนนี้ยังให้ ลูกนั่งตัก แม่ไม่ได้ แต่เปลี่ยนมานั่งข้างๆ แทนดีไหมคะ” ระหว่างที่ผละจากงานตรงหน้า แล้วหันมามองหน้า สบตา กอด และให้ความสนใจกับลูกเต็มที่
3.อย่าพูดไปจ้องหน้าจอไป
เวลาบอกให้ลูกอดทนรอไปก่อน พ่อแม่ควรมองหน้า สบตา กอด และให้ความสนใจลูกอย่างเต็มที่ ซึ่งความสนใจนี้ก็คือสิ่งที่พวกเขาต้องการนั่นเอง ถ้าเราเสนอทางเลือกให้ลูกนั่งข้างๆ แต่ตายังมองคอมพิวเตอร์และมือพิมพ์งานอยู่ เท่ากับว่าเรายังให้สนใจอย่างอื่นมากกว่าตัวลูก ซึ่งเด็กทุกคนดูออก สัมผัสได้แม้เขายังไม่รู้ความนัก หลังจากนั้นพวกเขาก็จะยิ่งเรียกความสนใจหนักขึ้น ทั้งเรียก ปีนป่าย ร้องไห้ หรือกรี๊ดร้องเสียงดัง เป็นต้น
4.จำไว้เสมอ ลูกจะไม่ยอมในครั้งแรก
เพราะเด็กวัยนี้ใช้อารมณ์มากกว่าเหตุผล คำอธิบายจากพ่อแม่แม้จะฟังดูถูกต้องแต่อาจไม่ถูกใจลูก ดังนั้นทุกครั้งที่ลูกพยายามขัดขวางการทำงานของคุณ ขอให้ใจเย็นและสอนด้วยวิธีซ้ำๆ อย่างค่อยเป็นค่อยไป อย่าเผลอหงุดหงิด หรือรีบผลักไสลูกก่อนที่พวกเขาจะขึ้นมานั่งแป้นแล้นบนตัก เพราะการกระทำแบบนั้นจะทำให้ลูกสับสน ไม่มั่นใจว่า “พ่อแม่ยังรักเขาหรือไม่” ก็จะยิ่งหาวิธีเรียกร้องความสนใจมากขึ้น ยิ่งพยายามหาทางมานั่งบนตักจนได้ ในอีกทางอาจรู้สึก รู้สึกเสียใจ หรือกลัวการเข้าใกล้พ่อแม่ ซึ่งนั่นเป็นสิ่งที่น่าเสียใจที่สุด
5. อดทนรอจนลูกควบคุมตัวเองเป็น
อาการเอะอะอยากนั่งตักแบบนี้จะเกิดขึ้นเพียงไม่นานพอลูกอายุสัก 3 หรือ 4 ขวบ ก็อยากเป็นอิสระมากขึ้น และควบคุมตัวเองได้มากขึ้น แต่ก็อาจโหยหาตักอุ่นๆ ของคุณพ่อคุณแม่เป็นบางครั้งบางคราว โดยเฉพาะเวลาเข้านอนหรือเวลาอยากอ้อนให้เอาใจเป็นพิเศษ เด็กแต่ละคนอาจมีพฤติกรรมไม่เหมือนกันขึ้นอยู่กับนิสัยพื้นฐานด้วย
จริงๆ พฤติกรรมแสดงความรักที่ลูกมีให้เป็นเรื่องปกติ เพียงแต่มาไม่ถูกที่ ถูกเวลาเพราะพวกเขาไม่รู้หรอกว่าการทำงานสำคัญอย่างไร ก่อนที่พ่อแม่จะหงุดหงิดรำคาญจนเผลอดุออกออกมา ขอให้สูดหายใจลึกๆ ใจเย็นลงสักนิด แล้วหันไปลูกอย่างอ่อนโยนและค่อยเป็นค่อยไปจะดีที่สุดนะคะ
บทความน่าสนใจอ่ื่นๆ
ลูกติดมือ ไม่มีจริง! ยิ่งอุ้มลูกบ่อย ลูกยิ่งเลี้ยงง่าย อารมณ์ดี
7 วิธีระงับความโกรธ ก่อนเผลอตีลูกด้วยอารมณ์
แหล่งข้อมูล www.romper.com
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่