ลูก “ติดจุกหลอก” ไม่ยอมเลิก … ต้องทำอย่างไร Amarin Baby And Kids มีวิธีการดี ๆ มาบอกค่ะ
มีคุณพ่อคุณแม่ท่านไหนที่กำลังประสบกับปัญหาลูกน้อย “ติดจุกหลอก” แล้วไม่ยอมเลิกกันบ้างคะ ถ้าใช่ละก็ไม่จำเป็นต้องกังวลใจไปค่ะ เพราะวันนี้ทีมงาน Amarin Baby And Kids ได้เตรียม 4 วิธีเอาไว้ให้แล้วละค่ะ แต่ก่อนที่เราจะไปดูกันนั้น ทำไมเราไม่มาทำความรู้จักกับเจ้า “จุกหลอก” ที่ว่านี้กันก่อนละคะ เพราะจุกหลอกที่เราให้ลูกใช้นั้น มีทั้งข้อดีข้อเสีย ที่คุณพ่อคุณแม่ควรรู้เลยละค่ะ
ข้อดีของการใช้จุกหลอก
- ช่วยลดความเสี่ยงในการเกิด SIDS หรือ Sudden Infant Death Syndrome คุณพ่อคุณแม่หลายท่านรู้จักกันดีในชื่อที่เราเรียกกันว่า การหลับไม่ตื่นในเด็กทารก หรือโรคไหลตายในเด็กนั่นเองค่ะ ซึ่งถือเป็นสาเหตุการเสียชีวิตของทารกที่มีอายุต่ำกว่า 1 ปี
- ช่วยลดอาการโคลิคของทารกได้ นั่นหมายถึง การช่วยทำให้ลูกมีความสุข นอนหลับสบาย และไม่เครียด อีกทั้งยังทำให้ลูกนอนหลับได้ยาวนานขึ้นอีกด้วยละค่ะ
- ช่วยลดอาการเจ็บปวด จุกหลอกก็คล้าย ๆ กับจุกนมแม่นั่นเองค่ะ หากคุณพ่อคุณแม่สังเกตให้ดี ทุกครั้งที่ลูกเจ็บปวดไม่ว่าจะจากการหกล้ม การฉีดวัคซีน หรืออะไรก็แล้วแต่นั้น เวลาที่คุณแม่อุ้มลูกเข้าเต้า ลูกจะเงียบสงบทันทีเหมือนกับไม่มีอะไรเกิดขึ้น จุกนมหลอกก็เช่นกันค่ะ
- สามารถช่วยลดความเครียดขณะเดินทาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเดินทางโดยเครื่องบิน คล้าย ๆ กับคำแนะนำของคุณหมอที่แนะนำให้เอาลูกเข้าเต้าทุกครั้งที่เครื่องบินขึ้น หรือในระหว่างเครื่องบินลอยอยู่บนอากาศ การเข้าเอาลูกเข้าเต้าจะช่วยลดแรงดัน และทำให้หูของลูกไม่อื้อ ไม่อึดอัดได้
ตามที่ได้เกริ่นไปในตอนต้นนั้น ข้อเสียของการให้ลูกใช้จุกหลอกก็มีเช่นเดียวกัน และนี่คือข้อเสียที่คุณพ่อคุณแม่ทุกคนควรทราบค่ะ
ข้อเสียของการให้ลูกใช้จุกหลอก
- อาจทำให้ลูกเกิดความรู้สึกสับสน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากคุณพ่อคุณแม่ให้ลูกใช้จุกหลอกเร็วเกินไป (ตั้งแต่แรกเกิด) ซึ่งนั่นจะส่งผลทำให้ลูกน้อยเกิดความสับสนลักษณะของหัวนม เนื่องจากความต่างของนมแม่กับจุกหลอกนั้นไม่เหมือนกัน
- ทำให้ลูกหย่านมเร็วเกินไป เนื่องจากลูกอาจจะติดใจที่จะชอบใช้จุกหลอกมากกว่านมแม่ จึงทำให้โอกาสที่ลูกจะดูดนมจากเต้าของคุณแม่นั้นลดน้อยลง และส่งผลให้ลูก ติดจุกหลอก จนไม่อยากเลิกนั่นเองค่ะ
- เสี่ยงต่อการอักเสบของหูชั้นกลาง เนื่องจากจุกหลอกนั้นไม่สะอาดมากพอนั่นเอง ส่งผลทำให้แบคทีเรียที่ติดอยู่นั้นลุกลามจากปากสู่หูชั้นกลางได้
- ทำให้ฟันเสียรูป จากข้อมูลของประเทศสหรัฐอเมริกาได้กล่าวเอาไว้ การใช้จุกหลอกในเด็กเล็กที่มีอายุไม่เกิน 1 ปีนั้น ไม่ส่งผลเสียต่อรูปทรงของฟันค่ะ แต่หากใช้จุกหลอกหลังอายุ 1 ปีไปแล้ว โอกาสที่จะทำให้ฟันหน้าไม่สวยนั้นเป็นไปได้ง่าย
4 วิธีการแก้ปัญหาลูก “ติดจุกหลอก”
หากคุณพ่อคุณแม่กำลังประสบกับปัญหานี้อยู่ละก็ แนะนำให้ทำตาม 4 วิธีนี้ดูค่ะ
- ลดเวลาในการให้ลูกใช้จุกหลอกน้อยลง อาจจะเหลือให้ลูกได้ใช้เพียงวันละครั้ง และต้องไม่ให้ตลอดเวลานะคะ แรก ๆ ลูกอาจจะงอแงนิดนึง แต่คุณพ่อคุณแม่ต้องอดทนและคอยเบี่ยงประเด็นโดยการพาลูกออกไปเดินเล่น หรือให้ลูกเล่นของเล่นดูก็ได้นะคะ
- หากลูกมีปัญหาเรื่องของการนอน และการให้จุกนมหลอกกับลูกถือวิธีการแก้ละก็ ให้คุณพ่อคุณแม่ลองหาวิธีใหม่ดูค่ะ ยกตัวอย่างเช่น การนวดลูกเบา ๆ ก่อนนอนดูค่ะ บางทีลูกอาจจะรู้สึกสบายจนลืมเรื่องของจุกนมไปเลยละค่ะ
- เปลี่ยนรสชาติ คุณพ่อคุณแม่หลาย ๆ ท่านอาจจะทราบวิธีนี้กันอยู่แล้ว และหลาย ๆ ท่านทราบดีว่า ลูกน้อยของเราชอบทานอะไรหรือไม่ชอบทานอะไร การที่จะแก้ปัญหาลูกติดจุกนั้น อาจจะทำได้โดยการเปลี่ยนรสชาติของมันให้เป็นรสชาติที่ลูกไม่ชอบ โดยการเอารสชาตินั้นมาทาบนจุก และให้ลูกค่ะ ทำแบบนี้อยู่สองสามครั้ง ลูกก็จะเลิกชอบจุกหลอกนี้ไปได้เอง โดยที่คุณพ่อคุณแม่ไม่ต้องเหนื่อยเลยละค่ะ
- เล่านิทาน คุณพ่อคุณแม่หลาย ๆ ท่านเล่านิทานให้กับลูกน้อยฟังเป็นประจำกันอยู่แล้วใช่ไหมละคะ วิธีการที่ทีมงานจะนำมาเสนอในวันนี้ก็ใช้นิทานนี่ละค่ะเป็นพระเอก วิธีการก็คือ ให้คุณพ่อคุณแม่เอาจุกหลอกนั้นไปซ่อนหรือไปแอบให้ลับตาลูกกันก่อนค่ะ หลังจากนั้นให้คุณพ่อคุณแม่เล่านิทานผ่านตัวการ์ตูนว่า เด็กน้อยในการ์ตูนนั้นมีฟันที่ไม่สวยเนื่องจากใช้จุกหลอกมากเกินไป ลูกก็จะเริ่มรู้สึกกังวลใจ และจะเลิกใช้ไปเองเพราะอยากที่จะมีฟันสวยเมื่อโตขึ้น แต่ตรงนี้อาจจะต้องใช้เวลากันนิดนึงนะคะ แต่รับรองว่าได้ผลแน่นอน
ลองนำวิธีเหล่านี้ไปใช้กันดูนะคะ รับรองว่า ลูกน้อยจะเลิกติดจุกหลอกแน่นอนค่ะ
ขอบคุณที่มา: Momjunction
อ่านต่อเรื่องอื่นที่น่าสนใจ:
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่