อุบัติเหตุจากการจมน้ำ เป็นเหตุการณ์ที่ทำให้เด็กจมน้ำอย่างรวดเร็ว จากความประมาทและรู้ไม่เท่าทันการณ์จากตัวเด็กเอง คนอื่น และสิ่งแวดล้อม ทำให้เด็กได้รับอันตราย พิการ หรือเสียชีวิต แหล่งน้ำที่เด็กจมน้ำ อาจเป็นแหล่งน้ำธรรมชาติ เช่น แม่น้ำ ลำคลอง หนอง บึง ทะเล น้ำตก และแหล่งน้ำที่คนเราสร้างขึ้นใช้บริโภคและอุปโภคในชีวิตประจำวัน เช่น ถังเก็บน้ำ บ่อขุด ฯลฯ
การป้องกันจะช่วยลดปัญหานี้ได้ พ่อแม่และครูจึงควรจัดประสบการณ์ให้เด็กเรียนรู้การป้องกันอุบัติเหตุจากการจมน้ำในชีวิตประจำวัน >> เช่นเดียวกันเหตุการณ์นี้เป็นคลิปวีดีโอ จากกล้องวงจรปิดที่บันทึกภาพเหตุการณ์สุดลุ้นระทึกไว้ได้ เมื่อหนูน้อยคนหนึ่งเกิดพลัดตกน้ำ พอเพื่อนก็เห็นรีบกระโดดลงไปช่วยแต่ช่วยไม่ได้ ด้วยความที่มีสติและจดจำสิ่งที่ผู้ใหญ่บอก จึงต่างคนต่างลอยคอรอให้คนมาช่วย…เหตุการณ์จะเป็นอย่างไร ไปชมคลิปกันเลยค่ะ
https://www.facebook.com/ruengdenpenclip/videos/557254881119520/
และจากเหตุการณ์นี้ทำให้รู้เลยว่าการสอนลูกน้อยว่ายน้ำ หรือลอยตัวในน้ำให้เป็นตั้งแต่เด็กๆมีประโยชน์มาก เราจึงมีเทคนิคการสอนเด็กว่ายน้ำเพื่อป้องกันการจมน้ำเสียชีวิต มาฝากค่ะ
อ่านต่อ >> “เทคนิคการสอนเด็กว่ายน้ำเพื่อป้องกันการจมน้ำเสียชีวิต” คลิกหน้า 2
หลายคนอาจมองว่าลูกยังเล็ก ต้องคอยกังวล แต่อย่าลืมว่าเค้าเจริญเติบโตมาในครรภ์ที่มีน้ำคร่ำล้อมรอบ ความคุ้นเคยกับการอยู่ในน้ำมีมาตลอด 9 เดือน ดังนั้นการฝึกให้เด็กลงสระก็ไม่ยาก ซึ่งในต่างประเทศ การให้ลูกเรียนว่ายน้ำตั้งแต่เล็ก ถือเป็นพื้นฐานการเรียนรู้ในเด็กที่แนะนำ
ซึ่งโดยธรรมชาติแล้ว ร่างกายของคนเรานั้นลอยน้ำได้ถ้าในปอดมีอากาศ แต่เหตุที่คนจมน้ำก็เพราะความตื่นตระหนกตกใจกลัวจะจมน้ำตาย จึงพยายามดิ้นรนเอาชีวิตรอด ตะเกียกตะกายดันตัวเองให้ลอยอยู่ที่ผิวน้ำ เพื่อที่จะหายใจ ซึ่งกลับเป็นการเร่งให้จมน้ำเร็วขึ้น เพราะไม่นานก็จะหมดแรง และยิ่งส่วนของร่างกายโผล่พ้นน้ำขึ้นมามากเท่าไร ก็จะยิ่งมีน้ำหนักกดลงให้จมน้ำมากยิ่งขึ้นเท่านั้น
วิธีการเอาตัวรอดจากการจมน้ำที่ถูกต้อง ก็คือ การลอยตัวอยู่นิ่งๆ พยายามลอยอยู่ที่ผิวน้ำโดยใช้กำลังให้น้อยที่สุด จะได้ไม่เหนื่อย ไม่หมดแรง เมื่อหายใจเอาอากาศเข้าไปในปอด ปอดก็จะเป็นเสมือนชูชีพพยุงเราไว้ไม่ให้จมน้ำ การลอยตัว มี 3 แบบ ได้แก่
1. การลอยคอหรือลอยตัวแบบลูกหมาตกน้ำ
การลอยตัวท่านี้จะช่วยให้มองเห็นทิศทางและสิ่งต่างๆ ที่อยู่รอบๆ ตัว ท่านี้ลำตัวจะอยู่ในแนวตั้งตรงหรือเอนไปข้างหน้าเล็กน้อย ศีรษะตั้ง ปากและจมูกจะพ้นระดับน้ำเพื่อหายใจ มือทั้งสองจะสลับกันพุ้ยน้ำลงข้างล่าง ฝ่าเท้าและขาจะถีบน้ำสลับกันแบบขี่จักรยานหรืออาจจะใช้วิธีเตะเท้าสลับกัน (Flutter kick) แต่เปลี่ยนทิศทางผลักดันให้น้ำลงไปด้านล่างเพื่อดันให้ร่างกายลอยขึ้นมา ท่านี้เปลืองแรงเหนื่อยง่าย แต่ทำได้ง่ายในคนที่ว่ายน้ำไม่แข็ง เพราะมีความกลัวเป็นแรงกระตุ้นให้พุ้ยน้ำได้ไวอยู่แล้ว
2. การลอยตัวแบบนอนคว่ำ (ปลาดาวคว่ำ แมงกะพรุน)
ท่านี้ฝึกง่ายและคนส่วนใหญ่จะลอยน้ำท่านี้ได้ โดยการหายใจเข้าเต็มปอดแล้วกลั้นเอาไว้ จากนั้นให้นอนคว่ำหน้าลงในน้ำปล่อยตัวตามสบาย ลำตัวอาจจะตรงหรือโค้งเล็กน้อย แขนและขากางออกปล่อยตามสบายไม่เกร็ง เมื่อใกล้จะสุดกลั้นลมหายใจให้หายใจออกด้วยการเป่าลมออกทางปากแล้วเงยหน้าขึ้น หายใจเข้าทางปากแล้วคว่ำหน้าลงไปในน้ำอีก ต้องควบคุมการหายใจให้ดี อย่ารอจนลมหมดปอดเพราะอาจจะทำให้รีบร้อนในการหายใจ ทำให้สำลักน้ำได้ กะว่าให้เหลือลมในปอดสักเล็กน้อยก่อนที่จะสูดลมหายใจเข้าไปใหม่
3. การลอยตัวแบบนอนหงาย (แม่ชีลอยน้ำ)
ท่านี้จะเหมือนกับการนอนหงายอยู่บนที่นอน ที่สำคัญคือ ลำตัวต้องเหยียดตรง เงยหน้า แขนแนบอยู่ข้างลำตัว ขาเหยียดตรง การที่เราลอยตัวแบบนอนหงายได้นั้นเป็นไปตามกฎของอาร์คิมิดิสและการแผ่กระจายน้ำหนัก แต่ถ้าทำได้แล้วจะใช้แรงน้อยที่สุดและทำให้ไม่เหนื่อย ทรงตัวรอการช่วยเหลือได้นาน
ทั้งนี้ยังมีทักษะพื้นฐานของการว่ายน้ำอีกสองแบบง่ายๆที่พ่อแม่ควรสอน ดังนี้
สอนท่าหมาว่ายน้ำ
ท่าหมาว่ายน้ำเป็นท่าที่เด็ก ๆ จะว่ายได้เองโดยอัตโนมัติ ลองให้เขาเหยียดขา ตีขาใต้น้ำ ยืดแขนแล้ววักแขนใต้น้ำเพื่อพยุงตัวให้ลอยบนน้ำ ลูกของคุณจะทำท่านี้ได้ง่าย ๆ คุณอาจจะช่วยพยุงเอวเขา หรือให้เขาใส่ปลอกแขนลอยน้ำไปด้วยก็ได้
ลงใต้น้ำ
การทำให้เขารู้สึกสบายเมื่ออยู่ในน้ำเป็นพื้นฐานแรกในการสอนให้ลูกวัยเตาะแตะว่ายน้ำ พวกเขาจะสามารถจุ่มหน้าลงในน้ำได้โดยไม่รู้สึกกลัว และเมื่อเขารู้สึกสบายมากขึ้น พวกเขาจะสามารถจุ่มทั้งศีรษะลงในน้ำได้เลย ลองให้ลูกคุณจุ่มศีรษะลงในน้ำโดยนับหนึ่งถึงสามดู ตะโกนดัง ๆ บอกให้เขากลั้นหายใจให้ได้ถึงสามวินาที พยายามกระตุ้นให้เขาลองทำให้สำเร็จ และเอ่ยปากชมเมื่อเขาทำได้ คุณสามารถฝึกให้เขากลั้นหายใจใต้น้ำได้โดยให้เขาเกาะขอบสระเอาไว้ เพื่อให้เขารู้สึกปลอดภัยมากยิ่งขึ้นด้วย
อ่านต่อ >> “การดูแลและป้องกันอุบัติภัยทางน้ำ” คลิกหน้า 3
สำหรับการป้องกันอุบัติภัยทางน้ำนั้น ทำได้โดย
- สำรวจบริเวณบ้านและใกล้บ้านว่ามีจุดเสี่ยง เช่น คู หรือรางระบายน้ำ บ่อน้ำ หรือแหล่งน้ำที่น่าจะมีอันตรายอยู่ตรงไหนบ้าง
- หาทางป้องกันอุบัติภัยทางน้ำ เช่น ทำรั้วรอบสระว่ายน้ำหรือแหล่งน้ำ เพื่อป้องกันไม่ให้เด็กเข้าไปเล่นคนเดียว
- อย่าปล่อยให้เด็กว่ายน้ำ หรืออยู่ใกล้แหล่งน้ำตามลำพัง หากมีสระน้ำอยู่ใกล้ๆ แล้วเด็กหายไป ให้รีบไปดูที่สระน้ำก่อน
- อย่าปล่อยให้เด็กเล็กเล่นน้ำในอ่างคนเดียวแม้เพียงชั่วครู่ก็ตาม เด็กเล็กๆ สามารถจมน้ำในอ่างได้แม้น้ำจะมีความสูงแค่ไม่กี่นิ้ว เพียงแค่จุ่มหัวหรือคว่ำหน้าลงไปในน้ำเท่านั้น ก็จมน้ำเสียชีวิตได้แล้ว
- แม้แต่ผู้ใหญ่ก็ไม่ควรเล่นน้ำตามลำพัง หรือดำน้ำลึกๆ ในที่ที่ไม่คุ้นเคย และไม่ควรเล่นน้ำในที่ลึกๆ หากร่างกายไม่สมบูรณ์หรือเป็นตะคริวง่าย
- หากเป็นโรคลมชัก ควรระมัดระวังหากอยู่ใกล้แหล่งน้ำ และไม่ควรลงเล่นน้ำ
- ไม่ควรเล่นน้ำในระยะเวลา 1 ชั่วโมง หลังจากเพิ่งรับประทานอาหาร
- อย่าดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ระหว่างว่ายน้ำ หรืออยู่บนเรือ และไม่ควรเล่นน้ำเมื่อรู้สึกมึนเมา แม้จะมีอาการเพียงเล็กน้อย
- หากจะว่ายข้ามแม่น้ำหรือว่ายไปยังเรือที่จอดอยู่ ให้ระมัดระวังให้มาก เพราะเรือที่จอดหรือฝั่งตรงข้าม จะอยู่ไกลกว่าที่คิดหรือที่มองเห็น โดยเฉพาะในน้ำที่ค่อนข้างเย็น จะทำให้เหนื่อยง่ายขึ้น
- หากเล่นน้ำในทะเล ควรว่ายขนานไปกับฝั่งจะปลอดภัยกว่าว่ายออกจากฝั่ง ขณะว่ายก็ควรมองฝั่งเป็นครั้งคราว เพราะอาจถูกกระแสน้ำพัดออกนอกฝั่งได้ หากจะว่ายน้ำออกจากฝั่ง ควรมีเพื่อนไปด้วย หรือมีเรือตามไปด้วย
- เมื่อเดินทางทางน้ำ รอให้เรือจอดเทียบท่าให้เรียบร้อย จึงค่อยก้าวขึ้น-ลง
- มองหาชูชีพทุกครั้งเมื่ออยู่บนเรือและเรียนรู้วิธีการใช้ สำหรับเด็กเล็กควรใส่เสื้อชูชีพทุกครั้งที่ลงเรือ
- อ่านกฎระเบียบของสถานที่ท่องเที่ยว และปฏิบัติตามโดยเคร่งครัด
- และอย่าลืมหัดว่ายน้ำ
ไม่ใช่เรื่องยากนะคะที่เราจะดูแลและป้องกันลูกๆ ไว้เสมอ เพราะเหตุการณ์ไม่คาดคิดบางอย่างสามารถเกิดขึ้นได้เพียงแค่เสี้ยววินาที และเราคงไม่อยากให้เสี้ยววินาทีนั้นเกิดกับลูกรักของเรา จริงไหมคะ
ขอบคุณที่มากจาก : infantswim.com
ขอบคุณข้อมูลจาก : www.manager.co.th , www.gotoknow.org
ขอบคุณคลิปวีดีโอจาก : เรื่องเด่นเป็นคลิป