AMARIN Baby And Kids – เพื่อลูกฉลาดและมีความสุข

กลวิธีพาลูกละจากการเล่น

อย่างเช่นเมื่อถึงเวลาที่เขาจะต้องไปอาบน้ำ กินข้าว หรือออกไปข้างนอก แต่กลับเล่นเพลินจนไม่ยอมขยับหรือไม่สนใจคนเรียกแม้แต่น้อย

 
ถ้าลูกคุณเป็นแบบนี้ก็เห็นใจเขาบ้างเถอะ แม้เรื่องตรงหน้าจะจำเป็น แต่ลูกก็ไม่อาจเก็บความสนใจเอาไว้ก่อนเหมือนกับคุณ เพราะเขายังรับมือกับการเปลี่ยนแปลงได้ไม่ดี และไม่อาจมีวินัยได้ด้วยตนเองหรือไม่รู้ว่าเวลาไหนควรทำอะไรก่อน แล้วอย่างนี้จะรับมืออย่างไรดี

 
– เตือนให้รู้ตัว เพื่อให้ลูกค่อยๆปรับตัวและยอมรับ เช่น ประโยคแรก “นี่เกือบได้เวลาอาหารกลางวันแล้วนะลูก” ประโยคที่สอง “อีก 5 นาที ข้าวผัดของหนูก็จะเสร็จแล้วนะจ๊ะ” (ตั้งนาฬิกาจับเวลาเอาไว้ด้วย เขาจะได้รู้ว่า 5 นาทีนานแค่ไหน) และประโยคสุดท้าย “เอาล่ะ มากินข้าวได้แล้วจ้ะ”

 
– ปล่อยให้ทำจนเสร็จ ถ้าคุณไม่ได้เตือนให้ลูกรู้ตัวก่อนและยังพอรอได้อีกสัก 2-3 นาที เพราะหากคุณให้ความสำคัญกับสิ่งที่ลูกกำลังสนใจอย่างจดจ่อ เขาก็จะยอมให้ความร่วมมือกับคุณง่ายขึ้นด้วย

 
– ควบสองกิจกรรมเข้าด้วยกันเมื่อทำได้ เช่น ให้ลูกหยิบรถของเล่นไปอาบน้ำด้วยกัน เอาตุ๊กตาหมีที่กำลังรักษาอาการป่วยไปนอนด้วย หรือหนีบบาร์บี้ไปซื้อของที่ตลาดกับคุณแม่

 
– เปลี่ยนกิจกรรมพร้อมกันกับลูก โดยเข้าไปมีส่วนร่วมในกิจกรรมที่เขากำลังง่วนอยู่คนเดียว แค่เป็นคนคอยเชียร์ก็ยังดี แล้วเมื่อถึงเวลา คุณก็หยุดทำกิจกรรมนั้นพร้อมกับลูก อาจพูดแกมบ่นว่า “แหม…กำลังสนุกเชียว แม่ไม่อยากเลิกเล่นกับหนูเลย แต่ตอนนี้เราต้องกินข้าวกลางวันกันแล้วละ”

 
– อดทนในระดับที่เหมาะสม ถ้าคุณเตือนให้ลูกรู้ตัวก่อน และพยายามหาวิธีให้เขาเปลี่ยนกิจกรรมได้ง่ายขึ้นแล้ว แต่เขาก็ยังไม่ยอมขยับตัวลุกไปไหนคุณต้องบอกให้เขาเลิกทำกิจกรรมนั้น เพื่อทำในสิ่งที่คุณขอ ถ้าจำเป็น จะลากตัวไปเลยก็ยังได้ (ทำทุกอย่างด้วยความนุ่มนวล แต่หนักแน่น)

 
– ยอมยืดหยุ่นให้ลูกบ้าง ถ้าลูกกำลังจดจ่ออย่างเต็มที่ คุณก็เลื่อนเวลาซื้อของออกไปอีกสักนิดหรือถ้าอุ่นอาหารกลางวันให้ลูกได้ ก็รอให้เขาได้เล่นจนพอใจ แล้วค่อยกิน ความยืดหยุ่นของคุณอาจทำให้เขารู้จักยืดหยุ่นบ้างก็ได้

 

 

บทความโดย: กองบรรณาธิการนิตยสารเรียลพาเรนติ้ง