ยาลดไข้มีมากมายหลายแบบ แต่ละยี่ห้อก็มีขนาดความเข้มข้นของตัวยาแตกต่างกัน คุณแม่จึงควรทราบ วิธีคำนวณปริมาณยาลดไข้เด็ก ที่ถูกต้อง ก่อนป้อนยาลดไข้ให้ลูกน้อย เพื่อให้ได้รับปริมาณยาที่เหมาะสม ไม่น้อยเกินไปจนไข้ไม่ลด และไม่มากเกินไปจนอาจได้รับยาเกินขนาด
ทำไมลูกถึงมีไข้
เมื่อลูกเป็นไข้ แสดงว่าร่างกายกำลังต่อสู้กับความเจ็บป่วยหรือการติดเชื้อที่เกิดขึ้นภายในร่างกาย ทำให้อุณหภูมิร่างกายสูงขึ้น เพื่อทำลายเชื้อไวรัสและเชื้อแบคทีเรียที่ไม่สามารถเจริญเติบโตได้ดีในอุณหภูมิสูงๆ และเมื่ออาการเจ็บป่วยดีขึ้น อาการไข้ก็จะลดลงและหายไปเองในที่สุด
อุณหภูมิเท่าไหร่ เรียกว่ามีไข้
- อุณหภูมิปกติของร่างกายคนเราจะเฉลี่ยประมาณ 37 °C
- มีไข้ต่ำ ๆ คืออุณหภูมิระหว่าง 37.5 – 38 °C
- มีไข้สูง คืออุณหภูมิตั้งแต่ 38 °C ขึ้นไป
ลูกมีไข้ ทำยังไงดี
- เมื่อลูกเริ่มมีไข้ต่ำๆ คุณแม่ควรเช็ดตัวให้ลูกด้วยน้ำอุ่น หรือน้ำประปา เพื่อลดอุณหภูมิร่างกาย
- ไม่ควรใช้น้ำเย็นหรือน้ำแข็ง เพราะอาจทำให้ลูกช็อคได้
- การเช็ดตัวควรเช็ดที่ศีรษะ และลำตัวส่วนที่ร้อน โดยเน้นบริเวณที่เป็นข้อพับต่างๆ เช่น ซอกคอ รักแร้ ขาหนีบ เพื่อให้ไข้ลดลงได้เร็วขึ้น
- เวลาเช็ดตัวให้เช็ดไล่จากปลายแขน ปลายขา เข้าไปสู่หัวใจ โดยเช็ดนานประมาณ 15-20 นาที
- ไม่ควรให้ลูกใส่เสื้อผ้าหนา หรือห่มผ้าหนาๆ รวมทั้งไม่ควรห่อตัวลูก เพราะความร้อนจะไม่สามารถระบายออกได้ ทำให้อุณหภูมิยิ่งสูงขึ้น
- ควรให้ลูกดื่มน้ำมากๆ เพื่อป้องกันการขาดน้ำ เพราะเวลามีไข้ร่างกายจะสูญเสียน้ำโดยระเหยจากผิวหนังมากกว่าปกติ
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
อ่านต่อ>> การใช้ยาลดไข้อย่างถูกวิธี คลิกหน้า 2
การใช้ยาลดไข้อย่างถูกวิธี
หากเช็ดตัวแล้วไข้ยังไม่ลด ควรใช้ยาลดไข้เด็กพาราเซตามอลร่วมด้วย แต่ก่อนจะป้อนยาลดไข้ให้ลูกน้อย คุณแม่ต้องทราบ วิธีคำนวณปริมาณยาลดไข้ ให้เหมาะกับเด็กแต่ละคนเสียก่อนค่ะ
สิ่งที่แม่ต้องรู้ก่อนใช้ยาลดไข้เด็ก
- ต้องรู้น้ำหนักตัวของลูก
- ต้องรู้ความเข้มข้นของยาลดไข้ที่จะใช้ ซึ่งคุณแม่สามารถดูได้จากกล่องหรือข้างขวดยา ทั้งนี้ยาลดไข้เด็กพาราเซตามอลที่มีจำหน่ายในท้องตลาดแบ่งออกเป็น
ยาลดไข้เด็กชนิดน้ำมี 2 ขนาด
- ขนาด 60 มก./6 มล., 80 มก./0.8 มล.เป็นชนิดหยด (ดรอป) เหมาะสำหรับเด็กทารก อายุไม่เกิน 1 ปี
- ขนาด 120 มก./5 มล., 160 มก./5 มล., 250 มก./5 มล. เป็นชนิดทานด้วยช้อน เหมาะสำหรับเด็กอายุ 1 ปีขึ้นไป
ยาลดไข้เด็กชนิดเม็ดมี 2 ขนาด ได้แก่ ขนาดเม็ดละ 325 มก. และ 500 มก. เหมาะสำหรับเด็กโตอายุ 5 ปีขึ้นไปที่สามารถทานยาเม็ดได้
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
ส่วนยาอีกชนิดที่นิยมใช้เพื่อลดไข้ คือ ตัวยา Ibuprofen หรือ Nurofen® 100 mg/ 5 ml จัดเป็นยาที่อยู่ในกลุ่มแก้ปวดแก้อักเสบ มีฤทธิ์ลดไข้ได้ดี แต่มีฤทธิ์ข้างเคียงที่สำคัญ คือ ระคายเคืองกระเพาะอาหาร จึงควรรับประทานยาหลังอาหารทันที ขณะที่ Paracetamol จะให้ก่อนหรือหลังอาหารก็ได้
- ปริมาณพาราเซตามอลที่เด็กควรได้รับ คือ 10-15 มก./กก./ครั้ง
- 10 คือ ปริมาณพาราเซตามอลที่น้อยที่สุดที่ควรทานเพื่อให้ไข้ลด
- 15 คือ ปริมาณพาราเซตามอล ที่มากที่สุดที่ไม่ควรทานเกิน เพราะจะเป็นอันตราย
อ่านต่อ>> วิธีคำนวณปริมาณยาลดไข้เด็ก ที่ถูกต้อง คลิกหน้า 3
วิธีคำนวณปริมาณยาลดไข้เด็ก ที่ถูกต้อง
คุณแม่ได้ทราบแล้วว่า ยายี่ห้อเดียวกัน ก็ยังมีความเข้มข้นไม่เท่ากัน การคำนวณปริมาณยาที่ได้จึงไม่เท่ากัน ทั้งนี้ต้องพิจารณาจากน้ำหนักตัวของลูกและความเข้มข้นของยาควบคู่กันไปเสมอค่ะ
สมมติ ลูกน้ำหนัก 10 กก. สามารถคำนวณปริมาณยาได้ดังนี้
- ปริมาณยาที่ควรได้รับที่น้อยสุดที่ลดไข้ได้ คือ 10 มก./กก./ครั้ง x นน.ตัว 10 กก. = 100 มก./ครั้ง
หากใช้ยาลดไข้เด็กที่มีความเข้มข้น 120 มก./5 มล. จะต้องป้อน (100×5)/120 = 4.16 มล.(ซีซี)
- ปริมาณยาพาราเซตามอลมากสุดที่ลดไข้ได้ คือ 15 มก./กก./ครั้ง x นน.ตัว 10 กก. = 150 มก./ครั้ง
หากใช้ยาลดไข้เด็กที่มีความเข้มข้น 120 มก./5 มล. จะต้องป้อน (150×5)/120 = 6.25 มล.(ซีซี)
ดังนั้น คุณแม่จะป้อนยาลดไข้ให้ลูกได้ตั้งแต่ 4.1-6.2 มล. (ซีซี) ทุก 4-6 ชั่วโมงตามที่ระบุข้างกล่องค่ะ
หากคุณแม่ใช้ยาลดไข้ที่มีความเข้มข้นต่างไปก็ใช้วิธีคำนวณแบบเดียวกันนี้ได้เลย
ในกรณีที่ลูกมีน้ำหนักตัวมากหรือกินยายาก แนะนำเลือกกินพาราเซตามอลชนิดที่มีความเข้มข้นสูง เช่น 250 มก./5 มล. เพื่อจะได้ทานยาปริมาณมล.น้อยลง
ส่วนยาไอบูโพรเฟน ขนาดยาที่เหมาะสมเท่ากับหรือใกล้เคียงกับพาราเซตามอล คือ 5 –10 มก./กก./ครั้ง ทุก 6 ชั่วโมง อย่างไรก็ตามสำหรับไอบูโพรเฟน คุณแม่ไม่ควรซื้อให้ลูกรับประทานเอง เนื่องจากมีผลข้างเคียงมากมาย ควรสั่งจ่ายโดยแพทย์เท่านั้น
หากคุณแม่มีข้อสงสัยเรื่องการคำนวณปริมาณยาลดไข้เด็ก สามารถปรึกษาเภสัชกรให้ช่วยคำนวณได้เลยค่ะ
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
ขอบคุณข้อมูลจาก เฟซบุ๊คร้านยาก้านณรงค์ , หมอชาวบ้าน
Save
Save