AMARIN Baby And Kids – เพื่อลูกฉลาดและมีความสุข

อันตรายจาก ‘แมลงก้นกระดก’ และวิธีป้องกัน

อันตรายจากแมลงก้นกระดก

จากข้อความทางโซเชียลมีเดียที่ส่งต่อๆ กันมาเป็นทอดๆ เกี่ยวกับพิษภัยของ “ แมลงก้นกระดก ” ที่เมื่อโดนกัดหรือต่อยแล้ว จะเกิดเป็นโรคผิวหนังอักเสบ จนอาจทำให้ถึงขั้นเสียชีวิตนั้น

ทางสมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทยขอยืนยันว่าโรคผิวหนังอักเสบจากแมลงก้นกระดก ชนิดนี้ไม่ได้เป็นโรคใหม่ ซึ่งมีการค้นพบในประเทศไทยหลายสิบปีแล้ว แต่ก่อนนี้มักพบบ่อยตามชานเมืองที่มีหนองน้ำ แต่ปัจจุบันพบบ่อยขึ้น ทั้งในต่างจังหวัดและกรุงเทพฯและในทุกฤดูกาล ส่วนต่างประเทศมีรายงานการระบาด เช่น ไต้หวัน อินเดีย แอฟริกา แต่ยังไม่เคยมีรายงานว่าถึงแก่ชีวิต

แมลงก้นกระดก หรือ แมงก้นกระดก หรือ ด้วงก้นกระดก หรือ แมลงเฟรชชี่

ข้อมูลจากโซเชียลมีเดีย เขียนว่า “เตือนกันทั่วโลก ไปแล้วว่า แมลง ชนิดนี้ (ไม่ทราบว่าจะแปลชื่อเป็นภาษาไทยว่าอย่างไรดี) แต่ถ้ามาเกาะบนตัวคุณ ห้ามตบมันเด็ดขาด เพราะในตัวมันมีสารพิษชนิดเหลว เมื่อสัมผัสผิวเรา ตายลูกเดียวเลย บอกเด็กๆ เพื่อนๆ ด้วยว่าหากมีแมลงแบบนี้มาเกาะ ให้ใช้ปากเป่าไล่ก็ได้แล้ว ห้ามใช้มือตีมันเด็ดขาด หมอเน้นว่าถ้าแชร์เรื่องนี้ออกไปสักสิบคน อย่างน้อยช่วยชีวิตคนได้ถึงหนึ่งชีวิตเชียว”

ข้อความนี้มีส่วนถูกต้อง คือ เมื่อโดนแมลงก้นกระดกห้ามตบ เพราะในตัวมีสารพิษ แต่ที่ไม่ถูกต้องคือ ถึงแก่ชีวิต และแมลงตัวนี้บินไม่ได้ จึงไม่สามารถมาเกาะได้ ส่วนใหญ่ผู้ที่โดนจะไม่รู้สึกตัวจะทราบก็มีผื่นแล้ว ไม่เคยมีรายงานว่าถึงตาย และรูปที่ส่งมาเป็นตุ่มน้ำ พอง ไม่น่าจะเกิดจากแมลงชนิดนี้

มารู้จัก แมลงก้นกระดก กันดีกว่า

แมลงก้นกระดก หรือ แมงก้นกระดก หรือ ด้วงก้นกระดก หรือ แมลงเฟรชชี่ (มักจะเจอช่วงเปิดเทอมใหม่ๆ) มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ ว่า Paederus Fucipes เป็นแมลงขนาดเล็ก ประมาณ 7-8 มม. ส่วนหัวมีสีดำ ปีกน้ำเงินเข้มขนาดเล็ก และส่วนท้องมีสีส้ม ชอบงอส่วนท้ายกระดกขึ้นลง ทำให้ได้ชื่อว่าแมลงก้นกระดก เป็นแมลงที่พบเฉพาะในเขตร้อนชื้น โดยมากอาศัยบริเวณพงหญ้าที่มีความชื้น ใกล้หนองน้ำ ชอบออกมาเล่นไฟและแสงสว่างตามบ้านเรือน ทำให้พบว่ามันจะลอดมุ้งลวดเข้ามาได้

“แมลงก้นกระดก” พบกระจายทั่วโลกมากกว่า 600 สปีชีส์ โดยเฉพาะในเขตร้อนชื้น มักอาศัยบริเวณพงหญ้าที่มีความชื้น ชอบออกมาเล่นไฟและแสงสว่างตามบ้านเรือน โดยเฉพาะจะมีมากในช่วงปลายฤดูฝน

โดยเฉพาะในเขตร้อนชื้น มักอาศัยบริเวณพงหญ้าที่มีความชื้น ชอบออกมาเล่นไฟและแสงสว่างตามบ้านเรือน โดยเฉพาะจะมีมากในช่วงปลายฤดูฝน เจ้าแมลงก้นกระดกก็กำลังออกอาละวาดอยู่เพราะเป็นช่วงหน้าฝน แมลงก้นกระดกชอบไฟในเวลากลางคืน ดังนั้นไม่ควรเปิดไฟแรงสูงทิ้งไว้เพราะแสงไฟจะล่อแมลงเข้ามา จากการทดลองพบว่าแมลงจะชอบเข้ามาถ้าใช้แสงไฟนีออนหรือหลอดไฟที่มีแรงเทียนสูงกว่า 40 วัตต์ ดังนั้น ประตูหน้าต่างควรบุด้วยมุ้งลวดที่มีความถี่มากๆ เพื่อไม่ให้แมลงเข้ามาได้

อ่านต่อ >> “ลักษณะผื่นและอาการที่เกิดจากแมลงก้นกระดก” คลิกหน้า 2

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids

ทางการเกษตร

มีประโยชน์ในทางเป็นการควบคุมการระบาดของแมลงศัตรูพืช โดยด้วงก้นกระดกจะช่วยกำจัดไข่หนอนผีเสื้อ ทำลายไข่และหนอนของแมลงวัน

ผื่นและอาการที่เกิดจาก แมลงก้นกระดก

ไม่ได้เกิดจากการที่ถูกแมงก้นกระดกกัดหรือต่อย แต่เกิดจากการที่ไปโดนแล้วบี้ทำให้สารเคมีในตัวที่ชื่อว่า paederin จะทำให้ผิวหนังบริเวณที่สัมผัสไหม้มักเป็นรอยแปลกๆ ตามที่มือไปสัมผัส อาจเป็นเส้น เป็นทางทำให้คิดว่าเป็นงูสวัดหรือเริม โดยเริ่มเกิดผื่นและอาการแสบ เมื่อผ่านไปประมาณ 24 ชั่วโมงหลังการสัมผัส ส่วนบางรายจะเกิดบริเวณซอกรอยพับที่ประกบกัน ร่วมกับตุ่มน้ำพองและตุ่มหนองใน 2-3 วัน ต่อมาผื่นหรือแผลจะตกสะเก็ดและหายเองภายใน 7-10 วัน เมื่อหายแล้วอาจทิ้งรอยดำไว้สักระยะหนึ่ง แต่มักไม่เกิดแผลเป็น

สารเคมีในตัวแมลงที่ชื่อว่า paederin จะทำให้ผิวหนังบริเวณที่สัมผัสไหม้มักเป็นรอยแปลกๆ

แต่บางคนอาจจะไม่หาย แถมยังมีการติดเชื้อแบคทีเรียซ้ำเติมที่บริเวณผื่นเดิม ทำให้ผื่นหายช้าลง นอกจากนี้อาจลุกลามจนมีโอกาสเกิดแผลเป็นได้ อีกทั้งยังมีอาการข้างเคียง ทั้งมีไข้ ปวดศีรษะ ปวดข้อ หรืออาการคลื่นไส้อาเจียนได้ หากเข้าตาอาจทำให้ตาบอดได้

อ่านต่อ >> “การรักษาโรคผื่นพิษจากแมลงก้นกระดกและวิธีป้องกัน” คลิกหน้า 3

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids

วิธีรักษาแมลงก้นกระดก เบื้องต้น

การรักษาโรคผื่นพิษจากด้วงก้นกระดกและวิธีป้องกัน

เมื่อโดนแมลงหรือเกิดอาการปวดแสบปวดร้อน ให้ล้างด้วยน้ำสบู่และน้ำสะอาดหลายๆ ครั้ง สามารถใช้แอมโมเนียทาบริเวณที่โดนแมลงก้นกระดกจะลดอาการแสบร้อนได้ หรือประคบเย็นในบริเวณที่โดนสัมผัส พร้อมสังเกตอาการเปลี่ยนแปลงที่ผิวหนัง หากเกิดเพียงรอยเล็ก ก็จะสามารถหายได้เพียง 2-3 วัน แต่ถ้ามีการติดเชื้อแทรกซ้อนต้องให้ยาปฏิชีวนะทาหรือรับประทานด้วย ถ้ามีแมลงก้นกระดกมาเกาะพยายามอย่าตบ หรือบดขยี้บนลงผิวหนัง ให้ปัดออกหรือกำจัดโดยวิธีอื่น เช่นมีแม่ๆ ท่านอื่นๆ ที่เคยเจอ ก็ใช้กระดาษทิชชูหนาๆ ค่อยๆ หยิบแมลงออกจากร่างกาย คุณแม่หลายท่านใช้สก็อตเทปแปะไปที่แมลงเบาๆ แล้วเอาไปทิ้งก็เป็นวิธีเลี่ยงสารพิษจากแมลงก้นกระดกได้เป็นอย่างดีค่ะ

ถ้ารู้สึกแสบๆ ร้อนๆ แต่ไม่แน่ใจว่าโดนแมงก้นกระดกหรือไม่ ให้ทำความสะอาดผ้าปูที่นอน ซักปลอกหมอน ทำความสะอาดบ้าน มองหาตามผนังและเพดานใกล้หลอดไฟ อย่าเปิดไฟนอน และควรปิดประตูหรือหน้าต่างให้ดีก่อนที่จะเข้านอน

จะเห็นว่าแมลงก้นกระดกไม่ได้อันตราย กัดต่อยแล้วถึงกับชีวิต แต่สามารทำให้ผิวหนังไหม้พองได้ อย่างไรก็แล้วแต่ คุณพ่อคุณแม่ควรป้องกันลูกให้ห่างจากเจ้าแมลงพวกนี้ ไว้ก่อนจะดีที่สุด ควรหลีกเลี่ยงไม่ไปสัมผัสกับแมลงก้นกระดกโดยตรง และในกรณีที่ลูกน้อยของคุณเป็นหนักหรือเป็นผื่นใกล้ดวงตาหรือส่วนที่บอบบางแนะนำว่าควรไปพบแพทย์เพื่อป้องกันการติดเชื้อค่ะ

อ่านต่อ “บทความอื่นน่าสนใจ” คลิก!


ขอบคุณข้อมูลและภาพจาก : health.kapook.com , healthmeplease.com (สมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย) , www.thaihealth.or.th

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids