ทั้งตกใจทั้งปวดใจ เวลาหงุดหงิดทีไร เจ้าตัวน้อยพูดแบบนี้ทุกที (ทั้งที่บางครั้งแม่ก็ไม่ได้เป็นคนผิดนะจ๊ะ ลูกจ๋า) สถานการณ์จี๊ดใจแบนี้ ใครๆ ก็คงไม่อยากให้เกิดเป็นครั้งที่สอง
เด็กวัยก่อนเรียนไม่มีความซับซ้อนของอารมณ์มากเท่าผู้ใหญ่ พวกเขาไม่อาจแยกแยะคำว่า รัก กับ เกลียด ในมุมที่ซับซ้อนได้เหมือนผู้ใหญ่เมื่อไรที่เขาพอใจ (เพราะได้ทานขนมอร่อยหรือเพราะต่อตัวต่อออกมาสวย) เขาก็จะดีใจและชอบ รู้สึกรักโลกรอบตัวไปเสียหมด แต่ถ้าเมื่อไรเกิดพายุความหงุดหงิด (บางทีก็แค่โดนบังคับให้ดื่มนมถั่วเหลืองที่แสนเกลียดเท่านั้นเอง) แกก็อาจเกิดอารมณ์ ไม่ชอบ คุณขึ้นมาได้ทันที
การที่คุณทำเป็นไม่สนใจคำว่า เกลียด ที่ออกมาจากปากเล็กๆ และตอบรับด้วยประโยคตรงกันข้ามอย่าง แต่แม่รักหนูนะลูก รวมถึงประโยคแบบ แม่ก็รู้ว่ายังไงหนูรักแม่ นั้นใช้ไม่ได้ทุกสถานการณ์หรอก เพราะนั่นเป็นการละเลยความรู้สึกที่แท้จริงของเขาไปเลย(ก็ตอนที่พูด หนูไม่ชอบแม่จริงๆ นี่นา)
อย่าลืมว่า ในช่วงวัยนี้ เด็กๆ กำลังเรียนรู้วิธีแสดงออกทางอารมณ์จากพ่อแม่โดยเฉพาะกับอารมณ์ด้านลบ เช่น ท้อแท้ หงุดหงิด เสียใจ ซึ่งมีวิธีแสดงออกแตกต่างกัน แต่ในเมื่อเขาไม่รู้วิธีที่จะส่งสัญญาณขอความช่วยเหลือ เขาจึงทำได้เพียงเลือกการแสดงที่ใกล้เคียงที่สุดที่เขารู้จัก (รัก – เกลียด) ไม่ต่างจากการเล่นเกมใบ้คำเลยละ
ดังนั้นแทนที่คุณแม่จะมัวนั่งเศร้านึกว่าถูกลูกเกลียดจริงๆ ควรดึงตัวเองออกมาจากปลักความทุกข์แล้วรีบมองหาว่า จริงๆ แล้วลูกหงุดหงิดเรื่องอะไรกันแน่ดีกว่า ถ้าหาพบแล้วก็อย่าลืมชี้จุดนั้นให้เขาเห็นด้วยล่ะ ที่หนูพูดแบบนี้ เพราะว่าหนูต่อตัวต่อเป็นรูปรถไม่ได้ใช่ไหมลูก ไม่เป็นไร เรามาช่วยกันต่ออีกทีดีกว่านะ หรือหากตัวต่อรูปรถที่สวยเพอร์เฟ็คท์ก็ยังไม่ทำให้ลูกหายหงุดหงิด ลองมองหาทางเปลี่ยนอารมณ์เขา เราไปช่วยคุณพ่อรดน้ำต้นไม้กันไหมลูก หรือ คุกกี้ต้องเก็บไว้กินหลังข้าวเที่ยง แต่ตอนนี้แม่จะปอกแอปเปิ้ลให้หนูกินก่อนก็ได้ เอาไหมจ๊ะ
สุดท้าย อย่าลืมกลับมาสำรวจตัวเองด้วยว่า คุณเป็นต้นทางของกิริยาเกรี้ยวกราดยามเกิดอารมณ์โมโหโทโสนั่นหรือไม่ เพราะถ้าประโยคติดปากแม่ยามรถติดคือ เกลียดจริงๆ พวกแท็กซี่ชอบปาดเนี่ย แล้วละก็…เตรียมพบกับกอปปี้แคทตัวเล็กๆ ได้เลยคุณพัณณิตาและด.ช.จิรวัฒน์ สกุลจิตจินดา
บทความโดย: กองบรรณาธิการนิตยสารเรียลพาเรนติ้ง