AMARIN Baby And Kids – เพื่อลูกฉลาดและมีความสุข

ลูกพูดช้า ทำอย่างไรดี

ลูกพูดช้า อีกหนึ่งปัญหาที่สร้างความกังวลใจให้กับพ่อแม่ เด็กปกติบางคนพูดคำแรกตั้งแต่อายุ 8 เดือน แต่บางคนยังไม่พูดจนกระทั่ง 2 – 2 ขวบ 6 เดือน ซึ่งหากคุณพ่อคุณสังเกตว่าลูกในวัย 2 ขวบพูดได้น้อยกว่า 50 คำ ก็จัดว่าลูกของคุณมีพัฒนาการการพูดที่ช้าได้

ในกลุ่มเด็กทั่วไป จะสามารถพบเด็กพูดช้าราว 10 เปอร์เซ็นต์ของวัยเตาะแตะ ดร.มอร่า มัวเยอร์ ผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับความปกติด้านการพูดกล่าว เด็กราวครึ่งหนึ่งที่อยู่ในกลุ่มพูดช้ามักพูดได้ดีขึ้นด้วยตัวของเขาเองในที่สุด เด็กกลุ่มที่มักพบปรากฏการณ์พูดช้า ได้แก่

1. เด็กผู้ชาย เด็กผู้ชายมีแนวโน้มพูดช้ามากกว่าเด็กผู้หญิงถึง 3 เท่า อาจเป็นเพราะโดยธรรมชาติเด็กผู้ชายถนัดเรียนรู้ทีละทักษะ

2. เด็กคลอดก่อนกำหนด กลุ่มนี้อาจต้องการเวลาพัฒนาทักษะการพูดมากกว่าคนอื่นๆ

3. ฝาแฝด ผู้เชี่ยวชาญบางท่านอธิบายว่า เป็นไปได้ที่ฝาแฝดสื่อสารกันได้อย่างดีเยี่ยมโดยไม่ต้องใช้คำพูด พวกเขาจึงไม่รีบร้อนที่จะพัฒนาทักษะด้านการพูด

4. วัยเตาะแตะที่มีพี่น้องช่างจ้อ เด็กอาจรู้สึกว่าคนอื่นพูดเยอะแล้ว เขาไม่ต้องพูดอีกก็ได้

สาเหตุที่ ลูกพูดช้า            

1. ลูกขาดการกระตุ้นทางภาษา การใช้ภาษาที่เหมาะสม มีความจำเป็นต่อการพูดอย่างยิ่งยวดค่ะ แต่หากเด็กไม่ได้รับการกระตุ้นทางภาษาที่เหมาะสม หรือคุณแม่อาจจะไม่ได้พูดกับเด็กก็จะทำให้เด็กขาดทักษะในการเรียนรู้ด้านการพูด รวมถึงการไม่เปิดโอกาสให้เด็กพูด หรือพยายามที่จะพูด เช่น เมื่อเด็กอยากได้อะไร แค่ชี้ผู้ใหญ่ก็หยิบให้ โดยเด็กไม่ต้องพยายามออกเสียง

2. มีความผิดปกติทางร่างกาย ความผิดปกติทางร่างกายเหล่านี้ ได้แก่ หูตึง หูหนวก ซึ่งอาจเกิดจากภาวะการตั้งครรภ์ผิดปกติ ส่งผลต่อการได้ยิน หรืออาจเป็นโรคที่เกิดขึ้นภายในหลัง

3. มีความผิดปกติจากโรคทางพันธุกรรม ความผิดปกติทางพันธุกรรมเหล่านี้ได้แก่ เด็กกลุ่มอาการดาวน์ (Down Syndrome) หรือความผิดปกติที่เกิดจากภาวะการคลอด เช่น ขาดเลือดไปเลี้ยงสมอง

4. ความเครียดหรือกังวล สภาพการเลี้ยงดูที่ดี มีผลต่อการพูดเช่นกัน แต่หากครอบครัวมีภาวะความเครียดมาก ซึ่งเป็นปัจจัยที่ส่งผลกระทบโดยตรง เช่น การทะเลาะกันภายในครอบครัว หรือการที่เด็กถูกตำหนิบ่อยครั้ง สิ่งเหล่านี้ก็อาจทำให้เด็กไม่กล้าพูด หรือกลัวที่จะพูด รวมไปถึงการเลือกใช้ไวยากรณ์ไม่ถูกต้องจนกระทั่งอาจเกิดความบกพร่องในการออกเสียง ใช้เสียงก็ได้ค่ะ

5.ภาวะออทิสติก ซึ่งมักจะมีอาการร่วมกับสมาธิสั้น มักจะพูดช้าหรือไม่พูด หรือพูดสื่อสารอย่างไม่มีความหมาย

เพื่อช่วยพัฒนาการพูดของลูก ให้พยายามสื่อสารด้วยการพูดคุยกับเขาเจาะจงแบบตัวต่อตัว แต่อย่าออกคำสั่งหรือใช้วิธีกดดัน เพราะการพูดคุยกับลูกคือวิธีกระตุ้นการเรียนรู้ทักษะการพูดที่ดีที่สุด แม้มีข้อสันนิษฐานข้างต้น ก็ไม่ง่ายนักที่จะรู้ว่าอะไรเป็นสาเหตุแท้จริงที่ทำให้ลูกพูดช้า อาจเป็นเพราะปัญหาในการได้ยินก็ได้ หากเกิดสัญญาณผิดปกติเหล่านี้ร่วมด้วย ลองให้คุณหมอตรวจเช็คดูจะดีกว่า

อ่านต่อ >> ” วิธีเช็คอาการผิดปกติเมื่อ ลูกพูดช้า ” คลิกหน้า 2

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids

 

สัญญาณผิดปกติเมื่อ ลูกพูดช้า

หากสังเกตอาการต่างๆ ของลูกแล้วเกิดคำถามหรืออยากให้ลูกได้รับการทดสอบโดยผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง ขอแนะนำให้ปรึกษากุมารแพทย์ประจำของคุณเป็นคนแรกค่ะ

ลูกพูดช้า ทำอย่างไรดี?

คุณพ่อคุณแม่ควรดูแลช่วยเหลือหากลูกมีพัฒนาการภาษาล่าช้าหรือพูดช้า ได้โดย

1. ให้การเลี้ยงดูที่เอื้อต่อพัฒนาการทุกด้านของเด็ก เช่น การเล่น การเล่านิทาน การพูดคุยกับเด็ก ไม่ให้ดูโทรทัศน์มากเกินไป และควรสังเกตพัฒนาการด้านต่าง ๆ ของลูกอย่างใกล้ชิด

2. ตรวจประเมินเพื่อหาสาเหตุของภาวะพูดช้า และให้การรักษาที่ตรงกับสาเหตุ รวมถึงใช้อุปกรณ์ช่วยฟังถ้ามีความบกพร่องทางการได้ยิน

3. ส่งเสริมพัฒนาการด้านภาษาและด้านอื่นๆที่บกพร่องอย่างสม่ำเสมอ ดูแลเด็กให้มีโอกาสได้รับการส่งเสริมพัฒนาการในชีวิตประจำวัน และครอบครัวควรต้องมีส่วนร่วมในการส่งเสริมพัฒนาการ

4. การใช้ยา การใช้ยาอาจจำเป็นเพื่อบรรเทาปัญหาพฤติกรรมบางอย่างเช่น ซน ไม่อยู่นิ่ง ต่อต้าน อาละวาด ก้าวร้าว แต่ไม่มียาหรือวิตามินหรืออาหารเสริมชนิดใดที่ทำให้พัฒนาการดีขึ้น

5. ตรวจหาและรักษาความผิดปกติที่พบร่วม เช่น ปัญหาซน สมาธิสั้น การใช้กล้ามเนื้อมือและสายตา ทักษะทางสังคม และปัญหาการเรียนรู้

6. การช่วยเหลือด้านการศึกษา ถ้าเด็กได้รับการประเมินจากแพทย์และโรงเรียนร่วมกันว่ามีความพร้อมเพียงพอ เด็กสามารถเข้าเรียนได้ตามวัยและควรเรียนในโรงเรียนทั่วไปร่วมกับเด็กปกติ โดยมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาทักษะทางสังคม การสื่อสาร และทักษะอื่นๆในการดำรงชีวิตประจำวัน ไม่ใช่เพื่อเน้นเนื้อหาสาระในการเรียน ควรมีการจัดแผนการสอนเฉพาะตัวสำหรับเด็กโดยความร่วมมือของครูแพทย์และพ่อแม่ให้สอดคล้องกับปัญหาและระดับพัฒนาการของเด็กเช่น ใช้สื่อการสอนที่ช่วยพัฒนาทักษะทางภาษาเช่น สื่อรูปภาพ เป็นต้น

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids

 

เทคนิคเพื่อกระตุ้นการพูดของลูก

การดูแลรักษาเด็กที่มีปัญหาเกี่ยวกับการพูดและใช้ภาษาจำเป็นต้องได้รับการดูแล เพราะหากละเลยไม่กระตุ้นลูก นอกจากจะเป็นปัญหาด้านพัฒนาร่างกายแล้ว ยังส่งผลให้เด็กมีปัญหาทางด้านอารมณ์และจิตใจตามมานะคะ ถึงเวลาที่คุณแม่ต้องช่วยคุณลูกแล้วนะคะ

จากสภาพการณ์ในปัจจุบัน ท่ามกลางความเร่งรีบ และสังคมตัวใครตัวมัน ทำให้เด็กยุคสมัยนี้มักจะพูดช้าเพราะไม่ค่อยมีใครคุยด้วย หรือไม่ก็ถูกปล่อยให้อยู่กับทีวี หรือพี่เลี้ยง ยิ่งถ้าพี่เลี้ยงใช้ภาษาอื่นด้วยแล้ว ยิ่งจะเป็นปัญหาสำหรับเด็กเพิ่มขึ้นไปอีก  โดยเฉพาะพ่อแม่ในสังคมชนบทมักจะปล่อยเรื่องการพูดของลูกให้เป็นเรื่องตามธรรมชาติ หากลูกพูดช้าหรือพูดไม่ชัดก็มักจะจบลงที่ว่าเมื่อถึงเวลาก็พูดได้ หรือก็พูดชัดได้เอง   ในขณะที่พ่อแม่คนเมืองกลับมีปัญหาอีกแบบ ก็คือ พ่อแม่ไม่มีเวลาอยู่กับลูก ไม่มีเวลาได้ฝึกพูดกับลูก หรือไม่ลูกก็ถูกปล่อยให้อยู่กับผู้อื่น หรืออยู่กับเทคโนโลยีมากกว่า

ฉะนั้น เมื่อพบว่า ลูกพูดช้า คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรนิ่งนอนใจ ควรพาเด็กไปพบแพทย์ เพื่อตรวจหาสาเหตุของการพูดช้า ซึ่งจะเป็นประโยชน์ ในการวางแผนช่วยเหลือให้เหมาะสมกับเด็กได้อย่างทันท่วงที และสุดท้าย…ไม่ว่าเด็กจะพูดช้า หรือพูดไม่ชัด ก็เป็นหน้าที่ของคนเป็นพ่อแม่ หรือผู้เลี้ยงดูเด็กนั่นแหละค่ะที่ต้องตามแก้ปัญหาและช่วยเหลือลูก อย่าลืมว่า ปัญหาเรื่องลูกพูดช้า หรือพูดไม่ชัด ก็ยังดีกว่าลูกพูดไม่รู้เรื่องนะคะ

อ่านต่อบทความน่าสนใจ คลิก!

12 วิธี สำหรับพ่อแม่สอนลูก“ฝึกพูด”
พูดกันดีๆ สร้างลูก EQ ดี เพื่อชีวิตเป็นสุขและพบความสำเร็จในแบบตัวเอง
12 ประโยคที่พ่อแม่ควรพูดกับลูกทุกวัน

บทความโดย: กองบรรณาธิการนิตยสาร Amarin Baby & Kids

บทความโดย: แพทย์หญิงสุธีรา เอื้อไพโรจน์กิจ กุมารแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านทารกแรกเกิด

ข้อมูลอ้างอิงจาก : www.manager.co.th , haamor.com

Save