AMARIN Baby And Kids – เพื่อลูกฉลาดและมีความสุข

กรมสุขภาพจิตพบ! เด็กเล็กเป็นโรค “ไฮเปอร์เทียม” มากขึ้น เพราะพ่อแม่ให้ลูกเล่นแท็บเล็ต-มือถือ

ลูกติดโทรศัพท์ – แท็บเล็ต พ่อแม่ต้องระวังให้มากและคอยห้าม เพราะทางกรมสุขภาพจิต ตรวจพบเด็กไทยป่วยโรคไฮเปอร์กว่า 4 แสนคน โดยเฉพาะเด็กเล็กเป็นโรค “ไฮเปอร์เทียม” มากขึ้น เหตุพ่อแม่ให้ลูกเล่นเกมในแท็บเล็ต มือถือ ทำให้เด็กคุมสมาธิไม่ได้ อารมณ์ร้อน และรอคอยไม่เป็น

พบ! เด็กเล็กเป็นโรค “ไฮเปอร์เทียม” มากขึ้น เหตุเพราะปล่อยให้ลูกเล่นแท็บเล็ต-มือถือ

อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า โรคจิตเวชที่ส่งผลกระทบต่อการเรียนรู้ของเด็กวัยเรียนนั้น พบว่า กลุ่มเด็กนักเรียนอายุ 6-15 ปี ที่มีปัญหาการเรียน ผลการเรียนไม่ดี หรือเรียนไม่ทันเพื่อน มักจะพบมีโรคทางจิตเวชแอบแฝงที่พบบ่อยที่สุดมี 4 โรค ได้แก่ โรคออทิสติก โรคสมาธิสั้น โรคแอลดีหรือภาวะบกพร่องในการเรียนรู้ และสติปัญญาบกพร่อง

⇒ Must read : รวม 11 โรค กับวิธีสังเกต ลูกมีปัญหาสุขภาพจิต

โดยเกิดมาจากกรรมพันธุ์และสิ่งแวดล้อมรอบตัวเด็ก ซึ่งเด็กที่เป็นออทิสติกและมีสติปัญญาบกพร่องจะตรวจพบพัฒนาการที่ผิดปกติได้เร็วตั้งแต่อายุยังน้อย ส่วนเด็กที่มีลักษณะของโรคแอลดี (LD) นั้น เด็กกลุ่มนี้ไม่มีปัญหาเรื่องไอคิว แต่มีความผิดปกติทางการอ่านเขียนคำนวณต่ำกว่าเด็กวัยเดียวกัน 2 ชั้นปี จึงควรได้รับการติดตามช่วยเหลือ

สำหรับโรคสมาธิสั้น เป็นโรคที่พบได้มากและมีผลกระทบกับคนรอบข้างได้บ่อยที่สุด โดยผลสำรวจของกรมสุขภาพจิต ปี 2559 พบร้อยละ 5.4 คาดว่ามีเด็กอายุ 6-15 ปี ซึ่งทั่วประเทศมี 7 ล้านกว่าคน เป็นโรคนี้ประมาณ 420,000 คน หรือพบได้ 2-3 คนต่อห้องเรียนที่มีเด็ก 40-50 คน มักพบในเด็กชายมากกว่าหญิง

อีกทั้งอธิบดีกรมสุขภาพจิต ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า โรคสมาธิสั้นเด็กจะมีอาการแสดงหลักๆ 3 ด้าน ได้แก่ ซนอยู่ไม่นิ่ง ขาดสมาธิ และหุนหันพลันแล่น

⇒ Must read : ลูกไฮเปอร์ กับสมาธิสั้น แตกต่างกันอย่างไร?
⇒ Must read : เทคนิคดูแลเรื่องเรียน เมื่อลูกสมาธิสั้น

ซึ่งคนทั่วไปมักนิยมเรียกว่าโรคไฮเปอร์ โดยเด็กจะวอกแวก ทำงานตกๆหล่นๆ ทำอุปกรณ์การเรียนหายประจำ ซุ่มซ่าม ใจร้อน และวู่วาม อาการดังกล่าวเกิดมาจากสมองทำงานผิดปกติ ซึ่งคุณพ่อคุณแม่ ผู้ปกครองมักจะเข้าใจผิดว่าเป็นเด็กดื้อหรือเป็นเด็กที่ไม่มีความรับผิดชอบ โดยจะพบความผิดปกติชัดเจนขึ้นเมื่ออยู่ชั้นประถมศึกษา

ดังนั้น หากคุณพ่อคุณแม่ ผู้ปกครองและครูไม่เข้าใจ จะยิ่งทำให้เด็กเกิดปัญหาอารมณ์และพฤติกรรมอาจส่งผลถึงอนาคต เช่น ความเสี่ยงติดสารเสพติด ก่ออาชญากรรม เป็นต้น หากเด็กได้รับการดูแลที่เหมาะสมก็จะสามารถเรียนร่วมกับเด็กปกติ มีอาชีพได้ อย่างไรก็ตาม เด็กที่เป็นโรคสมาธิสั้น เมื่อได้รับการบำบัดรักษาแล้ว ประมาณ 2 ใน 3 อาการจะหายหรือดีขึ้น

อ่านต่อ >> “สาเหตุ และวิธีรักษาเมื่อลูกเป็นโรคไฮเปอร์เทียม” คลิกหน้า 2

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids

 

การแก้ไขและส่งเสริมการเรียนรู้ของเด็กวัยเรียนอย่างเต็มศักยภาพ

กรมสุขภาพจิตได้จัดระบบเฝ้าระวัง IQ , EQ และค้นหาเด็กชั้นประถมศึกษาที่ป่วยเป็นโรคทางจิตเวชแอบแฝง เชื่อมโยงระหว่างโรงเรียนโรงพยาบาลในพื้นที่และครอบครัว เพื่อให้เด็กได้รับการดูแลรักษาเร็วที่สุด ซึ่งขณะนี้ดำเนินการครอบคลุมทุกอำเภอ โดยครูประจำชั้นสามารถตรวจคัดกรองเด็กที่มีผลการเรียนต่ำ ตามแบบคัดกรองอย่างง่ายที่กรมสุขภาพจิตพัฒนาขึ้น

ผลการตรวจที่ผ่านมาพบมีเด็กที่มีอาการใกล้เคียงและเป็นกลุ่มเสี่ยงร้อยละ 30 หลังจากได้รับการดูแลช่วยเหลือจากครูแล้ว เด็กร้อยละ 20 เรียนรู้ดีขึ้น มีร้อยละ 10 จำเป็นต้องพบจิตแพทย์ตรวจรักษา ซึ่งทำให้เด็กป่วยเข้าถึงบริการดีขึ้น
ส่วนด้านรองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า เรื่องที่น่าห่วงมากขณะนี้พบว่า เด็กเล็กทั่วไปที่ปกติ เป็นโรคไฮเปอร์เทียมกันมากขึ้น กล่าวคือ มีอาการคล้ายโรคไฮเปอร์ แต่ยังไม่ถึงขั้นป่วย

Good you know : ไฮเปอร์” แท้ คือ ในระยะที่คุณแม่กำลังตั้งครรภ์อยู่ ถ้าเด็กน้อยในครรภ์ได้รับการกระทบกระเทือนทางสมอง หรือในกรณีที่เด็กคลอดออกมาแล้วขาดออกซิเจน หรือช่วงเป็นเด็กไม่ได้รับสารอาหารที่มีคุณค่าอย่างเพียงพอ หรือได้รับสารพิษ สาเหตุทั้งหมดนี้จะทำให้เด็กมีแนวโน้มสูงที่จะเป็นโรคไฮเปอร์ได้

สาเหตุของโรคไฮเปอร์เทียม

เกิดมาจากพ่อแม่รู้เท่าไม่ถึงการณ์ เลี้ยงดูลูกแบบตามใจ หรือปล่อยปละละเลยให้เด็กเล็กอายุต่ำกว่า 3 ขวบเล่นหรือดูเกมในแท็บเล็ตหรือสมาร์ทโฟน เพราะเห็นเหมือนว่าเด็กจะนิ่ง ไม่ซุกซน ไม่กวนใจพ่อแม่ วงการจิตแพทย์พบว่าความเร็วของภาพในเกมซึ่งเปลี่ยนเร็วทุก 3 วินาทีจะส่งผลโดยตรงต่อสมองทำงานไม่ลงตัว คุมสมาธิไม่ได้ ทำให้ทักษะการอ่านการเขียนการพูดของเด็กแย่ลง เด็กมีอารมณ์ร้อน รอคอยไม่เป็น มีปัญหาการอยู่ร่วมกับเด็กวัยเดียวกันหรือคนอื่น

จึงขอให้พ่อแม่ผู้ปกครองระมัดระวัง อย่าให้เด็กเล็กเล่นเกมจากแท็บเล็ต โทรศัพท์สมาร์ทโฟน ยิ่งหากให้หยุดเล่นสิ่งเหล่านี้ได้เร็วเท่าใดจะเป็นผลดีต่อเด็ก อาการจะค่อยๆหายไป โดยผู้ปกครองควรให้เด็กได้เล่นกับเด็กวัยเดียวกัน เพื่อให้เด็กมีทักษะและพัฒนาการทุกด้าน

วิธีการดูแลเด็กที่เป็นโรคไฮเปอร์

คุณพ่อคุณแม่ และผู้ปกครอง ต้องร่วมมือกันกับโรงเรียน โดยคุณครูควรจัดให้เด็กนั่งเรียนหน้าชั้นหรือใกล้ครู เพื่อที่จะคอยกำกับให้เด็กมีความตั้งใจ มีสมาธิ ไม่ควรให้นั่งเรียนหลังห้องหรือนั่งใกล้ประตู หน้าต่าง เนื่องจากเด็กจะมีโอกาสเสียสมาธิง่าย ควรชื่นชมทันทีเมื่อเด็กตั้งใจเรียนหรือตั้งใจทำงาน

ส่วนคุณพ่อคุณแม่ ผู้ปกครองควรจัดบริเวณสงบในบ้านขณะเด็กทำการบ้าน แบ่งงานให้เด็กทำทีละน้อย และควรบอกเด็กล่วงหน้าถึงเรื่องที่ต้องการให้เด็กปฏิบัติ หากเด็กทำผิดควรใช้ท่าทีเอาจริง แต่จัดการอย่างสงบ ลงโทษเด็กตามข้อตกลง เช่นลดเวลาดูทีวี ที่สำคัญผู้ปกครองต้องฝึกลูกให้มีวินัย อดทน รอคอยเป็น จัดระเบียบให้ทำกิจกรรมต่างๆ โดยพ่อแม่ทำเป็นตัวอย่าง ทั้งนี้อาการอยู่ไม่นิ่งของเด็กจะลดลงเมื่อโตขึ้น มีประมาณร้อยละ 40 ของผู้ป่วยจะมีอาการจนถึงวัยผู้ใหญ่

อ่านต่อ >> วิธีแก้ไข เมื่อลูกติดโทรศัพท์ – แท็บเล็ต” คลิกหน้า 3

อ่านต่อ “บทความน่าสนใจ” คลิก!


ขอบคุณข้อมูลจาก : m.manager.co.th

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids

 

อาการ ลูกติดโทรศัพท์ – แท็บเล็ต เป็นอย่างไร?

ในเด็กที่ติดสิ่งต่างๆ เหล่านี้จะเข้าครอบงำจิตใจ ทำให้ขาดความสุขและขาดการเจริญเติบโตตามวัยอันควร ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่ ผู้ปกครองควรสังเกต ว่าลูกมีอาการติดโทรศัพท์ – แท็บเล็ต หรือกำลังเข้าสู่การพัฒนาการในภาวะติดสิ่งเหล่านี้

1.สิ่งแรกเมื่อตื่นขึ้นมักถามถึง โทรศัพท์ – แท็บเล็ต ก่อนหรือถามถึงอยู่บ่อย ๆ ในระหว่างวัน
2.ใช้เวลาเล่น โทรศัพท์ – แท็บเล็ต เป็นเวลานานหากไม่ควบคุม
3.เมื่อคุณพ่อคุณแม่กลับถึงบ้าน ลูกไม่มาทักทายเพราะมัวสนใจแต่จะเล่น โทรศัพท์ – แท็บเล็ต เท่านั้น
4.เลิกทำกิจกรรมอื่นๆ ที่น่าสนใจ อยากแต่จะเล่น โทรศัพท์ – แท็บเล็ต เท่านั้น
5.พัฒนาตัวเองสู่พฤติกรรมการแยกตัวจากสังคม ในขณะที่เล่น โทรศัพท์ – แท็บเล็ต
6.แยกตัวและกระวนกระวายใจหลังถูกควบคุมไม่ให้เล่น โทรศัพท์ – แท็บเล็ต
7.มีพฤติกรรมก้าวร้าวหรือไม่ชอบใจหากถูกควบคุมไม่ให้เล่น โทรศัพท์ – แท็บเล็ต
หากสังเกตว่าลูกมีอาการเหล่านี้คุณพ่อคุณแม่อย่าเพิ่งตกใจ แต่จะมีวิธีการช่วยเหลือ ที่ควรแก้ไขตั้งแต่เนิ่นๆ ในการจำกัดการเล่นโทรศัพท์ – แท็บเล็ต ไม่ให้ลูกติดได้ ดังนี้

หากเป็นเด็กเล็ก มี 2 แง่คิด ดังนี้

  1. คุณพ่อคุณแม่บางท่านเชื่อว่า การนำเอาเทคโนโลยีทุกสิ่ง ออกให้ห่างจากเด็กมากที่สุดเป็นเรื่องจำเป็น ส่วนอีกกลุ่มหนึ่ง เชื่อว่า เทคโนโลยีเหล่านี้ ยังคงพอมีประโยชน์อยู่บ้าง กลุ่มหลังนี้ให้การสนับสนุนต่อสื่อ เทคโนโลยีที่ทันสมัย และควรไว้ใจเด็กๆ ควรช่วยให้ลูกเข้าถึงเทคโนโลยีที่ทันสมัยที่สุด แต่อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่จัดให้ อยู่ในสายตาของผู้ใหญ่
  2. การจำกัดเวลาเล่นเป็นสิ่งที่ช่วยได้มาก เพราะจะสร้างให้เด็กมีความสมดุลในการใช้ชีวิตประจำวัน หลีกเลี่ยงไม่ให้ลูกติดโทรศัพท์ – แท็บเล็ต ตั้งแต่อายุยังน้อย สนับสนุนให้ลูกทำกิจกรรมส่งเสริมสุขภาพตามวัย จะช่วยให้ลูกเรียนรู้ทักษะอื่นๆ นอกเหนือจากการใช้สายตาจ้องจอภาพของโทรศัพท์ และแท็บเล็ตเป็นเวลานาน

สำหรับเด็กโต สิ่งที่ทำได้ คือ

1.สอนให้ลูกมีความรับผิดชอบในการเรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ๆ เหล่านี้ ตั้งข้อตกลง กฎการเล่นให้ชัดเจน และสร้างความปลอดภัยต่อการเข้าเล่น ดาวน์โหลดข้อมูลไว้ล่วงหน้าก่อน การปฏิบัติตัวเป็นตัวอย่างให้ลูกเป็นสิ่งสำคัญมากต่อการแก้ไขพฤติกรรมการติด

2.กำจัดเวลาในการเล่นในแต่ละสัปดาห์ ไม่ควรเกิน 30 นาทีหรือ 1 ชั่วโมงต่อครั้ง ตามอายุของเด็ก

3.ช่วยส่งเสริม และให้กำลังใจแก่ลูกในการทำงานอดิเรกใหม่ ๆ อย่างอื่น เพื่อเพิ่มความเชื่อมั่นและไม่มีเวลาคิดถึงเกมในโทรศัพท์ หรือ แท็บเล็ต

4.คุณพ่อและคุณแม่ต้องทำตัวเป็นตัวอย่างที่ดีกับลูก สร้างปฏิสัมพันธ์ พูดคุย เล่น และทำกิจกรรมกับลูก อย่าเล่น หรือติดเกมต่างๆ ให้ลูกเห็น เพราะลูกจะทำตาม

นอกจากนี้แล้ว ยังมีงานวิจัยที่กล่าวถึงการแผ่รังสีจากโทรศัพท์และแท็บเล็ต อาจก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อมะเร็งสมองได้หากใช้เป็นเวลานาน อย่างไรก็ดี ขอให้คุณพ่อคุณแม่ ตระหนักไว้เสมอว่า สมาร์ทโฟน แท็บเล็ต หรือทีวี ไม่ใช่พี่เลี้ยงสำหรับเด็กๆ เพราะของเล่นที่ดีที่สุดสำหรับลูกคือตัวคุณพ่อคุณแม่เอง ขอเป็นกำลังใจให้ทุกครอบครัวเสมอนะคะ

อ่านต่อ “บทความน่าสนใจ” คลิก!


ขอบคุณข้อมูลจาก : manager.co.th