เด็กวัยเตาะแตะหลายคนมีนิสัย “ชอบรื้อของ” ให้กระจัดกระจายไปหมด หรือไม่ก็เอาของเหล่านั้นมากองสุมไว้เป็นกองขยะส่วนตัวจนเกือบหาอะไรไม่เจอเลยก็มี โดยเฉพาะชิ้นที่เราไม่อยากให้ยุ่งเลย ถ้าห้ามก็ต้องกรี๊ดทุกทีไป จะทำอย่างไรดี
แต่ก่อนจะห้ามลูกให้หยุด ถามตัวเองก่อนว่าเราห้ามเพราะอะไร อย่างเช่นเวลาที่เขาคว้าหนังสือพิมพ์มาฉีก เราห้ามเพราะยังไม่ได้อ่าน เพราะเดี๋ยวพื้นจะเกลื่อนกลาดไปด้วยขยะ หรือเพราะเกรงว่าหมึกเคมีที่ใช้พิมพ์อาจเป็นอันตรายต่อเขา ถ้าไม่รู้แน่ว่าเพราะอะไร อาจหมายถึงคุณกำลังไม่มีเหตุผล
ที่ลูกชอบรื้อของก็เพราะลูกกำลังตื่นเต้นกับการได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ อยู่นั่นเอง ไม่ว่าจะเป็นของใช้ที่มีสีสันหลากหลาย ของที่มีผิวสัมผัสแตกต่างกัน และยิ่งมีกลิ่นยิ่งดูเหมือนจะถูกใจเป็นที่สุด ผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาการเด็กกล่าวว่า เราสามารถรับมือพฤติกรรมเหล่านี้ของลูกได้โดย
1. กันไว้ก่อน
วัยนี้ สิ่งที่เราควรกังวลเหนืออื่นใดคือเรื่องความปลอดภัย เช็คความเรียบร้อยก่อนก็ดี ปล่อยให้เขาเล่นไป แต่อย่าลืมคอยดูด้วยว่าขุมสมบัติ (กองขยะ) ของลูกมีของแหลมคมหรือมีสิ่งของที่แตกหักได้ รวมทั้งของชิ้นเล็กๆ ที่เอาเข้าปากได้แล้วอาจเป็นอันตรายกับเขาหรือเปล่าด้วย
อ่านต่อ “วิธีรับมือลูกชอบรื้อของ” คลิกหน้า 2
ถ้าคุณกลัวเครื่องแก้วหรือถ้วยโถโอชามจะเสียหายและลูกได้รับอันตรายหากมันเกิดแตกหักก็ให้ล็อกตู้ แต่ถ้าหากเจ้าตัวน้อยเห็นไปเรียบร้อยว่ามีอะไรอยู่ข้างใน ก็อพยพไปเก็บที่ที่ไกลเกินเอื้อมเสีย ดีที่สุดคือให้พ้นหูพ้นตาไปเลย
อีกทางเลือกคือลองย้ายข้าวของมีค่าราคาแพงออกจากตู้ใบที่เขาชอบเปิด แล้วบรรจุใหม่ด้วยถ้วยชามกับแก้วพลาสติกหลากสีสันแทน เพราะนอกจากไม่แพงและไม่แตกหักง่ายแล้วยังเป็นของเล่นที่ดึงดูดเสียยิ่งกว่าตุ๊กตุ่นตุ๊กตาราคาแพงๆ ด้วยค่ะ
2. ใช้กลยุทธ์หลอกล่อ
หาตะกร้าที่ไม่ใช้แล้วยกให้ลูกสักใบไว้เป็นมุมของเล่นส่วนตัว ใส่เศษกระดาษ ถุงก๊อบแก๊บหรือกล่องขนมก็ได้ เอาไว้ให้เจ้าตัวเล็กแทนการเล่นของกินจริงๆ (ฮา)
สำหรับวัยเรียนรู้จากการสัมผัส ขยำ ดึง ทึ้ง ลองหาแมกกาซีนหรือแผ่นพับที่เราไม่ใช้ประโยชน์แล้วมาให้เขาฉีกแทน เปลี่ยนจากการห้ามมาเป็นการรักษาความปลอดภัย รังสรรค์ความสุข และช่วยให้ลูกเรียนรู้กันดีกว่าค่ะ
3. มาตรการขั้นเด็ดขาด
ถ้าลองทำทุกวิถีทางในข้างต้นไปแล้วยังไม่ได้ผล ลองย้ายของเล่นของลูกไปไว้ในที่ที่เขาจะเล่นได้อย่างเต็มที่ และปลอดภัยทั้งสำหรับตัวเขาเองและคนรอบข้าง หรือไม่อย่างนั้นก็เอาไปซ่อนไว้จนกว่าลูกจะลืมไปเอง (เชื่อสิ ใช้เวลาไม่นานหรอกค่ะ)
บทความโดย: กองบรรณาธิการนิตยสาร Amarin Baby & Kids
ภาพ: Shutterstock