วัยเตาะแตะกับนิสัยชอบขว้างเป็นของคู่กัน สำหรับเจ้าตัวเล็กซึ่งกำลังพัฒนาทักษะทางร่างกายแล้ว ขั้นตอนของการจับ-กำ-แล้วปล่อยนั้นถือเป็นกิจกรรมแสนสนุก แถมยังได้ฝึกจับโฟกัสไปที่สิ่งของซึ่งกำลังลอยละลิ่วห่างออกไปด้วยแรงของตัวเองอีกต่างหาก จะไม่ให้สนุกยังไงไหว แต่สำหรับคุณแม่ นิสัยนี้ชวนให้ใจหายใจคว่ำจนต้องหาทางรับมืออย่างด่วนเลยล่ะ
1. อย่าตื่นเต้นเกินเหตุ
ถ้าคุณเห็นลูกทำท่าจะก้มลงเก็บเศษอิฐบล็อกริมกำแพงมาขว้างเล่น อย่าทำท่าตื่นตระหนกเด็ดขาด ออกปากห้ามเขาด้วยน้ำเสียงนุ่มนวลพร้อมกับหยิบก้อนอิฐออกจากมือน้อยๆ อย่างสงบ ถ้าแสดงอาการตกใจออกไปล่ะก็ เด็กๆ จะจับทางได้ว่า ทำแบบนี้แล้ว แม่หันมาสนใจเขา…หลังจากนั้นเขาก็จะทำแบบเดิมอีก
2. บอกลูกว่า ‘อะไร’ ที่ขว้างได้
ลูกบอลพลาสติกน้ำหนักเบา ตุ๊กตาตัวนุ่ม หรือแป้งโดชิ้นเล็กๆ เป็นของที่หนูๆ นำมาขว้างหรือโยนเล่นได้ (แต่ห้ามขว้างใส่หน้าคนอื่น) ในขณะที่ก้อนหิน ของเล่นแข็งๆ หรืออาหารเป็นของต้องห้าม ทำความเข้าใจกันตั้งแต่แรกโดยเผื่อทางเลือกอื่นไว้ให้ลูก เช่น “ห้ามขว้างอิฐนะ ถ้าไปโดนคนอื่นแล้วเขาจะเจ็บ หนูไปเล่นโยนบอลดีกว่า” ถ้าคุณร่วมเล่นโยนลูกบอลกับลูกด้วยจะดีมาก
3. ทำความสะอาดด้วยกัน
แม่ไม่จำเป็นต้องก้มๆ เงยๆ ตามเก็บของทุกชิ้นที่ลูกขว้าง ขณะเดียวกัน หนูๆ ก็ยังตัวเล็กเกินกว่าจะตามเก็บกวาดผลงานของตัวเองได้หมด อย่ากระนั้นเลย คุกเข่าลง แล้วช่วยกันเก็บ ทำเป็นเกมเล่นกันเลยดีกว่า “ดูซิใครจะเก็บตุ๊กตาที่หนูโยนเมื่อกี้กลับเข้าตะกร้าได้เยอะกว่ากัน” หรือ “เอ ลูกเป็ดตัวสีเหลืองอยู่ตรงไหนน้า ใครหาได้มีรางวัล”
4. เป็นตัวอย่างที่ดี
แทนที่จะโยนอย่างไร้ค่า เรามาลองเปลี่ยนพฤติกรรมสุดเหวี่ยงให้เป็นเรื่องมีประโยชน์ เช่น ฝึกโยนเสื้อผ้าให้ลงตะกร้าซัก (แทนที่จะถอดทิ้งไว้ตรงนั้นตรงนี้) เหวี่ยงก้อนกระดาษทิชชู่ลงถังผง หรือขว้างเจ้าตุ๊กตากลับลงกล่องของเล่นไปเลย
5. ของที่ใกล้มือต้องปลอดภัย
อย่าวางหรือเก็บวัตถุอันตรายไว้ในที่ที่ลูกเอื้อมหยิบถึง เปลี่ยนอุปกรณ์ทุกชิ้นที่ลูกใช้ เช่น จานอาหาร ของเล่น หรือแม้แต่หนังสือภาพนิทานทั้งหลาย (ยิ่งประเภทสันแข็งๆ ยิ่งน่ากลัว) ให้เป็นของที่ไม่แตกง่ายและไร้เหลี่ยมคม (เพื่อความปลอดภัยของหนูและทุกคนรอบข้าง) ขณะเดียวกัน สมบัติแสนรักแสนหวงของคุณพ่อคุณแม่ อย่างพวกแก้วคริสตัลที่ได้ตอนแต่งงานก็วางไว้สูงๆ ด้วย
บทความโดย: กองบรรณาธิการนิตยสารเรียลพาเรนติ้ง