การจะฝึกสอน ลูกหัดพูด วิธีสอนคำศัพท์ใหม่ โดยเฉพาะคำภาษาไทยให้ลูกน้อยวัย 1 ขวบเศษ มีเทคนิคอย่างไร และโดยปกติแล้วพัฒนาการด้านภาษาของลูกในแต่ละช่วงอายุเป็นอย่างไรนะ?
สอน ลูกหัดพูด ด้วย 3 วิธีการเพิ่มคลังศัพท์ใหม่
เข้าไปในสมองลูก!
ทักษะด้านการสื่อภาษาของเด็กวัยหัดพูด
เด็กส่วนใหญ่ยังรู้จักคำไม่มากนัก และคำแรกที่พูดได้ (นอกจากแม่กับพ่อ) ก็มักจะเป็นสิ่งที่เขาสนใจ อย่างรถ เป็ด นก แมว หมา ฯลฯ การพูดทวนคำที่เขาสนใจเป็นสิ่งที่สำคัญมาก เพราะจะช่วยฝึกให้เขาพูดเก่งขึ้นและทำให้เขารู้สึกภูมิใจที่พูดได้
การอ่านหนังสือให้ลูกฟังคือวิธีที่ช่วยส่งเสริมพัฒนาการทางภาษาได้ดีที่สุด และการเลือกหนังสือโดยดูจากสิ่งที่ลูกสนใจอย่างพาหนะที่ใช้ในงานก่อสร้างหรือสัตว์ต่างถิ่นในสวนสัตว์จะยิ่งส่งเสริมความอยากรู้ อยากฟัง ลูกจะซึมซับคำใหม่ๆ และสนุกกับการฝึกพูดคำใหม่ๆ เขายังอาจจะขอให้คุณอ่านหนังสือเล่มเดิมซ้ำแล้วซ้ำอีกจนกว่าจะจำขึ้นใจกันทั้งคู่ด้วย
ทักษะด้านการรับรู้และเข้าใจภาษา
สำหรับลูกวัยขวบไม่ว่าจะรู้จักคำมากน้อยแค่ไหน ก็มีทักษะด้านการรับรู้และเข้าใจภาษาที่น่าทึ่งมาก เรื่องสนุกอย่างหนึ่งของเด็กวัยนี้คือการช่วยงานเล็กๆ น้อยๆ ที่เขาทำได้ไม่ยาก เช่น ถ้าเขาอยากให้อ่านหนังสือให้ฟัง คุณควรขอให้เขาช่วยไปเลือกและหยิบมาให้ หรือให้เขาช่วยเก็บของหล่นที่หยิบได้ง่าย เพราะพอได้เห็นรอยยิ้มของคุณและได้ยินคุณพูดว่า “ขอบใจจ้ะ” เขาจะภูมิใจมากที่สามารถช่วยงานได้ การมีประสบการณ์ในทำนองนี้ร่วมกับคนสำคัญในชีวิต (อย่างพ่อแม่) ตั้งแต่ยังเล็กๆ จะช่วยหล่อหลอมให้เขามีความรู้สึกดีๆ กับตัวเอง
ชอบพูดคำว่า “ไม่”
พ่อแม่บางคนอาจจะแปลกใจที่ได้ยินคำว่า “ไม่” จากปากลูกที่เพิ่งอายุ 1 ขวบเศษๆ และอาจคิดไปว่าน่าจะเป็นคำที่เด็กอายุ 2 ขวบซึ่งถือว่าอยู่ในวัยต่อต้านชอบใช้มากกว่า แต่เหตุผลคือ เมื่ออายุเพียง 7 เดือน ลูกก็รู้แล้วว่าคำต่างๆ มีความหมายไม่เหมือนกันและยังรู้ด้วยว่าคำว่า “ไม่” มักจะทำให้เขาต้องหยุดทำสิ่งที่ต้องการ เขาจึงอยากแสดงความเป็นตัวของตัวเองโดยใช้การพูดคำว่า “ไม่” เป็นเครื่องมือ ฉะนั้นเวลาที่พ่อแม่ตั้งคำถาม เขาอาจจะตอบว่า “ไม่” เกือบทุกครั้ง
เพื่อให้การสื่อสารราบรื่นขึ้นและให้ลูกได้พัฒนาทักษะภาษา การคำถามโดยมีตัวเลือกให้เขาจะช่วยได้มาก เช่น “อยากดื่มน้ำผลไม้หรือน้ำเปล่า” และเมื่อเขาจะทำอะไร คุณควรทำให้เขารู้สึกว่าได้ตัดสินใจเอง อย่างให้เลือกถุงเท้าเอง ถึงแม้ถุงเท้าที่เขาเลือกจะไม่เข้ากับเสื้อผ้า แต่อย่างน้อยเขาก็ยอมสวมถุงเท้า และในกรณีที่เลือกไม่ได้จริงๆ คุณก็ไม่ควรจะให้เขาเลือกตั้งแต่แรก
แม้การหักห้ามใจไม่ให้พูดคำว่า “ไม่” กับลูกวัยนี้จะเป็นสิ่งที่ทำได้ยากมาก แต่ก็มีวิธีอื่นๆ ที่ช่วยคุณปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของลูกได้ เช่น ให้ทางเลือก ถ้าจะพูดว่าโยนบอลในบ้านไม่ได้ ให้บอกลูกแทนว่า “ถ้าจะโยนบอล ก็ต้องเล่นข้างนอกบ้าน”หรือ “แต่ถ้าจะกลิ้งบอล ก็เล่นในบ้านได้” แต่ถ้าลูกเกิดทำอะไรที่ไม่ปลอดภัย คุณก็ต้องรีบหยุดพฤติกรรมดังกล่าว คำว่า “ไม่” คือคำสำคัญในกรณีนี้ เช่น “ไม่จับปลั๊กไฟ” “ออกห่างจากเตาแก๊ส” ฯลฯ
ทั้งนี้เมื่อลูกวัยเตาะแตะเริ่มหัดพูด เขาจะเรียนรู้เรื่องจังหวะการโต้ตอบ และได้รับกำลังใจจากท่าทีที่คุณฟังและตอบสนองต่อสิ่งที่เขาพูด ซึ่งท่าทีดังกล่าวจะมีความสำคัญเป็นพิเศษถ้าเขามีปัญหาเรื่องการพูด เช่น พูดไม่ชัดหรือพูดติดอ่าง ซึ่งมักถือเป็นเรื่องปกติสำหรับเด็กที่เพิ่งหัดพูด Amarin Baby & Kids จึงมีเทคนิคช่วยลูกฝึกพูดมาฝากค่ะ
วิธีการฝึกให้ลูกหัดพูด
- พูดช้าๆ เพื่อให้ลูกเลียนแบบคำพูดของคุณได้ง่ายขึ้น และลูกจะพูดได้ดีที่สุดถ้าไม่ถูกกดดันให้คอยจับคำพูดที่เร็วเกินไปของคุณ อย่าขัดจังหวะลูก คุณอาจหงุดหงิดที่ต้องรอให้ลูกพูดในสิ่งที่คิดทั้งหมดด้วยตัวเอง แต่ถ้าคุณใจร้อนแล้วรีบพูดต่อให้เองจนจบ เขาก็จะไม่ได้เรียนรู้หรือฝึกพูดอย่างเต็มที่
- เป็นผู้ฟังที่ดี ด้วยการสบตาลูก (ถ้านั่งยองๆ ให้อยู่ในระดับเดียวกับลูกด้วยก็ยิ่งดี) การพูดกับลูกด้วยน้ำเสียงที่แสดงความสนใจ เขาจะได้มีกำลังใจและพยายามพูดมากยิ่งขึ้น อย่าวิจารณ์ลูก เพราะอาจทำให้เขารู้สึกไม่มั่นใจยิ่งกว่าเดิม
อ่านต่อ >> “พัฒนาการด้านภาษาของลูกน้อยในวัยหัดพูด” คลิกหน้า 2
อ่านต่อ “บทความดี ๆ น่าสนใจ” คลิก!
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
พัฒนาการด้านภาษาของลูกน้อย
และเมื่ออายุประมาณ 15 เดือน เด็กส่วนใหญ่จะสามารถพูดคำพื้นฐานทั่วๆ ไปได้ประมาณ 10 – 15 คำ แต่ในไม่ช้าคำล้ำๆ อย่าง “โยเกิร์ต” หรือคำเฉพาะเจาะจงอย่าง “แม่น้ำ” แทนที่จะเป็น “แม่” เฉยๆ จะค่อยๆ หลุดออกมาจากปากเจ้าตัวเล็กได้เอง
พอถึงวัย 2 ขวบ เด็กส่วนมากจะเอื้อนเอ่ยได้ไม่น้อยกว่า 100 คำ และเรียนรู้เข้าใจคำอื่นๆ ได้อีกกว่า 100 คำ ส่วนประโยคสั้นๆ ที่ประกอบไปด้วยคำ 2 – 3 คำ เขาก็ใช้เป็นแล้ว
3 วิธีเพิ่มคลังศัพท์ใหม่ให้ลูกน้อยวัยหัดพูด
ช่วงนี้เป็นเวลาที่ระบบความจำของเจ้าหนูกำลังพัฒนา เขาจะเริ่มโยงความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งที่ได้ยินกับสิ่งที่เห็น เช่น ถ้าได้ยินคำว่า “นม” และเห็นขวดนมวางอยู่ เขาก็จะเชื่อมโยงสองสิ่งนี้แล้วลองออกเสียงตาม หรืออาจจะแค่ทำความเข้าใจก็เป็นได้ทั้งนั้น ซึ่งคุณแม่อาจช่วยเขาหัดพูดได้ด้วยวิธีต่อไปนี้ค่ะ
1. ใช้คำเดิมในหลายๆ โอกาส
เช่น ถ้าคุณเห็นสุนัขพันธุ์คอลลี่ ให้ชี้ไปที่มันแล้วพูดว่า “ดูหมาตัวนั้นสิ” หรือถ้าเจ้าปั๊กหน้าย่นเดินผ่าน ให้บอกอีกทีว่า “นั่นหมาอีกตัว” ด้วยวิธีนี้ หนูน้อยจะเรียนรู้เองว่าน้องหมาคืออะไร ไม่ใช่ว่าจะรอเรียก “หมา” เมื่อคอลลี่โฉบมาให้เห็นเท่านั้น
2. บอกแบบเจาะจง
นอกจากจะชี้ชวนให้ลูกมองสิ่งต่างๆ ลองอธิบายให้เขาฟังด้วยว่าสิ่งนั้นหรือเจ้าตัวนั้นกำลังทำอะไรอยู่ แม้ว่าเจ้าตัวเล็กอาจยังไม่เข้าใจนัก แต่คำศัพท์ใหม่ๆ ที่ปรากฏในคำอธิบายของคุณก็เข้าหูเขาไปเรียบร้อยแล้วละ
3. ใส่บริบทเข้าไปแล้วพูดซ้ำๆ
เช่น ขณะที่แต่งตัวให้หนูน้อย อาจพูดให้เขาฟังว่า “แม่กำลังเอาเสื้อยืดสวมหัวแล้วนะ ตอนนี้เสื้อยืดอยู่บนตัวหนูแล้ว” การใช้คำที่ลูกเข้าใจอยู่แล้วเพื่อสอนเขาว่าสิ่งใหม่ๆ เรียกว่าอะไร จะช่วยให้ลูกเรียนรู้คำศัพท์นั้นๆ ได้ง่ายขึ้น
อ่านต่อ >> “ลูกวัยอนุบาลพูดไม่ชัดสักที จะทำอย่างไรดี?” คลิกหน้า 3
บทความโดย: กองบรรณาธิการนิตยสาร Amarin Baby & Kids
ภาพ : Shutterstock
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
ลูกพูดไม่ชัดสักที ทำอย่างไรดี?
เด็กบางคนพูดชัดตั้งแต่อายุยังไม่ถึง 3 ขวบ บางคนก็ยังพูดไม่ชัดตอนเข้าโรงเรียนอนุบาล การพูดชัดหรือไม่ชัดไม่ได้เป็นตัววัดระดับสติปัญญา แต่เป็นเรื่องของการควบคุมกล้ามเนื้อปากและลิ้น ซึ่งแต่ละคนเร็วช้าไม่เท่ากันเหมือนพัฒนาการด้านอื่นๆ เช่น การเดิน การขับถ่าย ฯลฯ
คุณพ่อคุณแม่ควรแสดงให้ลูกรู้ว่าการออกเสียงที่ถูกต้องเป็นอย่างไร เด็กๆ มักออกเสียงคำง่ายๆ ได้ก่อน เช่น อ้ำ หม่ำ ป๊า สำหรับคำยากๆ คงต้องขอเวลาอีกสักนิด ส่วนของปากที่ใช้ในการออกเสียงของหนูน้อยยังเติบโตและพัฒนาไม่เต็มที่ ตัวอักษรบางตัวและเสียงบางเสียง เช่น ตัวควบกล้ำ จึงออกเสียงยากเกินไปสำหรับวัยนี้
หากอยากฝึกให้เขาพูดคำบางคำได้ ก็ลองบอกให้ลูกมองปากและพูดตามคุณ ถ้าลูกยังออกเสียงไม่ได้จริงๆ หรือไม่รู้วิธีใช้คำที่ถูกต้อง ก็ให้เวลาเขาได้ฝึกหรือลองผิดลองถูกต่อไปอีกสักนิด แล้วค่อยปรึกษาคุณหมอให้มั่นใจมากยิ่งขึ้น
ถ้าลูกอายุ 3 ขวบแล้ว และยังพูดชัดน้อยกว่าร้อยละ 50 คุณแม่ไม่ควรรีรอที่จะปรึกษาแพทย์เพื่อถามถึงความเป็นไปได้ในความผิดปกติ เช่น หูได้ยินไม่ชัด ลูกติดนิสัยการดูดบางสิ่งบางอย่างหรือไม่ เช่นจุกหลอก ดูดนิ้ว ลูกเลียนแบบการพูดไม่ชัดจากทีวีหรือพี่เลี้ยงต่างด้าวหรือไม่ จะได้รีบทำการแก้ไข เพราะการพูดไม่ชัดอาจส่งผลถึงความสามารถด้านการเรียนและการพัฒนาความมั่นใจในตัวเองของลูกอีกด้วย
หากคุณหมอประเมินว่าลูกไม่ได้มีความผิดปกติแต่อย่างใด นักฝึกพูดอาจช่วยลูกได้ โดยแนะนำทักษะการฝึกฝนให้แก่คุณ การฝึกเบื้องต้นเช่น การฝึกเคี้ยวอาจช่วยลูกได้เช่นกัน เช่น ให้เคี้ยวหมากฝรั่งไร้น้ำตาล แต่ต้องแน่ใจว่าไม่ติดคอลูกหรือกลืนลงไป หรือฝึกเคี้ยวผักผลไม้ เช่น แครอทหรือเซเลอรี่หั่นบางๆ
มีข้อควรระวังและควรทำในการดูแลลูกระหว่างนี้ คือ
- ไม่ควรล้อเลียน เพราะลูกจะยิ่งอายและไม่กล้าพูด
- ไม่ควรแกล้งพูดไม่ชัดเหมือนลูก เพราะลูกจะไม่ได้เลียนแบบการพูดที่ถูกต้อง
- ไม่ตำหนิหรือแสดงอาการหงุดหงิดเวลาลูกพูดไม่ชัด เพราะทำให้ลูกไม่มีความสุข
- อย่าเอาแต่บังคับให้ลูกพูดซ้ำจนกว่าจะชัด เพราะลูกจะหงุดหงิด เช่น ถ้าลูกพูดว่า หนูยักแม่ ให้คุณพูดตอบลูกว่า แม่ก็รักหนูจ้ะลูก
- ควรตั้งใจฟังทุกครั้งที่ลูกพูด สนับสนุนให้ลูกได้พูดอย่างเต็มที่ และแสดงความชื่นชมเวลาที่ลูกพูดได้ถูกต้อง
อย่างไรก็ดีหากลูกมีปัญหาเรื่องพัฒนาการพูดได้ช้า ปัญหานี้ก็จะค่อย ๆ หายไปเองในที่สุด แต่ถ้าคุณกังวลหรือไม่สบายใจ จะขอให้คุณหมอเด็กช่วยแนะนำผู้เชี่ยวชาญให้ก็ได้
อ่านต่อ “บทความดี ๆ น่าสนใจ” คลิก!
- ต้นเหตุลูกพูดช้า เพราะดูทีวี มือถือ และแท็บเล็ต ประสบการณ์จากคุณแม่
- วิธีสอน baby sign วิจัยชี้! ช่วยเสริมพัฒนาการลูกได้เป็นอย่างดี
- ค้นสาเหตุ-แก้ปัญหา: ลูกไม่ยอมพูดเสียที
บทความโดย: แพทย์หญิงสุธีรา เอื้อไพโรจน์กิจ กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านทารกแรกเกิด