AMARIN Baby And Kids – เพื่อลูกฉลาดและมีความสุข

ระวัง!!! “ประโยคอันตราย” บาดใจลูก

หยุด!! ทำร้ายลูกด้วยการใช้ ประโยคอันตราย หรือคำพูดทำร้ายจิตใจ..พ่อแม่เช็คด่วนก่อนจะสาย!!

เพราะคงไม่มีพ่อแม่คนไหนอยากสร้างรอยแผลในใจลูกน้อย แต่บางครั้งด้วยคำพูดพลั้งปากไม่กี่คำจากอารมณ์แรงเพียงชั่วครู่

…คำพูดเหล่านี้ที่คุณเผลอพูดทำร้ายจิตใจลูกน้อยให้เขาเสียใจ บางครั้งเขาอาจร้องไห้ออกมา หรืออาจมีเด็กอีกหลายคนที่เก็บไปคิด บั่นทอนความเชื่อมั่นลึกๆให้ลดลงเรื่อย ๆ อย่างไม่รู้ตัว เมื่อรู้เสียอย่างนี้แล้วคุณยังคิดจะทำร้ายจิตใจของเขาโดยไม่ตั้งใจอีกต่อไปหรือเปล่า?

ลองมาดูกันดีกว่าค่ะว่า คำพูดแบบไหนกันที่ทิ่มแทงหัวใจดวงน้อยๆ…

เด็กโง่! / ทำไมโง่อย่างนี้

ก่อนจะโมโหจนหลุดประโยคนี้ เรื่องหนึ่งที่ลูกวัยเตาะแตะๆ คงอยากบอกพ่อแม่มากๆ คือ ทุกอย่างเป็นเรื่องใหม่ที่ต้องเรียนรู้ แม้จะเป็นเรื่องแสนง่าย หรือสิ่งนั้นคุณจะทำให้ดู หรือถึงขั้นจับมือเขาทำรอบแล้วรอบเล่าก็ตาม

ดังนั้น การทดลองและผิดพลาดในเรื่องเดิมๆ ของลูกวัยนี้ ก็เพื่อต้องการทำอะไรด้วยตัวเอง ไม่ได้หมายความว่า เขาโง่  ลองเปลี่ยนประโยคใหม่ เป็น “แม่ว่าถ้าลูกทำแบบนี้จะดีกว่านะ เราลองมาทำด้วยกันไหม” กำลังใจ การทำให้ดู ทำด้วยกัน จะช่วยพัฒนาทักษะของลูกให้ก้าวหน้าได้ดีกว่าด้วย


หยุดร้องนะ ถ้าไม่หยุด เดี๋ยวแม่จะ…

เด็กในวัยนี้ทักษะด้านการสื่อสารยังไม่ดีมากนัก การร้องไห้จึงเป็นวิธีแรกและสำหรับหลายๆ คนก็เป็นวิธีเดียวที่เขาใช้สื่อสาร ดังนั้นถ้าคุณมองข้าม และบังคับให้ลูกทำตามความต้องการของคุณ (ทำให้ลูกหยุดร้องไห้ให้ได้) ด้วยการตะคอก ตวาด หรือสั่งให้หยุดจึงไม่มีผลต่อความเข้าใจของลูกเลยแม้แต่น้อย แต่ถ้าลูกจะหยุดร้องก็เพราะเขากลัวท่าทีของคุณแม่เสียมากกว่า

อ่านต่อ >> “ประโยคอันตราย” บาดใจลูก ที่พ่อแม่ต้องระวัง คลิกหน้า 2

รอให้พ่อแกกลับบ้านก่อนเถอะ

การขู่ จัดอยู่ในกลุ่มวิธีที่ไม่ค่อยได้ผลกับเด็กๆ เช่นกัน เพราะในทางอ้อมคุณกำลังปล่อยผ่านพฤติกรรมไม่เหมาะสมของเจ้าตัวเล็ก และเขาก็อาจจะลืมสิ่งที่ตัวเองได้ทำไปซะแล้ว (เด็กกับปลาทองไม่ต่างกันสักเท่าไหร่) แถมการยกคนในครอบครัวมาขู่จะทำให้ลูกมีทัศนคติลบกับคนนั้นอีกด้วย


เร็วเข้า อืดอาดจริง

อยากให้ลูกวัยเตาะแตะใส่ถุงเท้า รองเท้าได้เอง หรือหยิบถุงเท้า รองเท้าถูกคู่ เป็นสิ่งที่พ่อแม่คาดหวังได้และควรคาดหวัง แต่ไม่ใช่ภายในระยะเวลาจำกัดหรือชั่วโมงเร่งด่วนของคุณ ดังนั้นเรื่องที่พ่อแม่ควรเข้าใจใหม่คือ สนามฝึกกับสนามรบต้องแยกกัน ถ้าคุณต้องการฝึกก็ไม่ควรทำในเวลาเร่งรีบ แต่ถ้าจะฝึกในสถานการณ์จริงก็ต้องเผื่อเวลาให้ลูกด้วย


เยี่ยมไปเลย สุดยอด

ทำไมหรือ?? คำชมเชยชัดๆ ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร แต่ที่จริงแล้วมันละเอียดอ่อนกว่านั้นค่ะ
นั่นคือ การชมเชยเป็นเรื่องดี แต่ถ้าลูกวาดรูปมาโชว์ ถอดรองเท้าเรียงเป็นคู่ ใส่ชุดนอนเอง หรือกระดกนมจนเกลี้ยงแก้ว แล้วคุณก็ชมลูกด้วยประโยคนี้ประโยคเดียว เขาจะแยกไม่ออกว่าอันไหนพ่อแม่ชมจริงหรือเป็นแค่คำพูดติดปากกันแน่ (หรือไม่ได้ชมจริงนั่นเอง)

บทความโดย: กองบรรณาธิการนิตยสาร Amarin Baby & Kids