AMARIN Baby And Kids – เพื่อลูกฉลาดและมีความสุข

ลูกวัยเตาะแตะเริ่มออกลาย เพราะกำลังท้าทายหรือแย่จริง?

จะให้พ่อแม่เข้าใจว่าอย่างไร เมื่ออยู่ดีๆ ลูกตัวน้อยแสนน่ารักที่เราดูแลกันมาใกล้ชิดกลับกลายเป็นเด็กที่มีพฤติกรรมแย่ๆ พอเข้าวัยเตาะแตะ ลูกดื้อมาก เดี๋ยวก็บงการคนนั้นคนนี้ จะมีวิธีการปราบเจ้าตัวร้ายอย่างไร ติดตามอ่านได้ที่บทความนี้ค่ะ

ลูกดื้อมาก เพราะกำลังท้าทายหรือแย่จริง?

พฤติกรรมก้าวร้าวหรือดื้อ

สำหรับลูกวัยทารกอายุประมาณ 8-9 เดือนจะเริ่มควบคุมมือของตัวเองได้ดี จึงมักจะลองตบสิ่งของใกล้ตัวหรือคนที่อยู่ใกล้ตัว ในระยะแรกของการตบก็ไม่เป็นไร แต่ถ้าปล่อยไปเรื่อยๆ เขาจะรู้ว่าการตบคนอื่นทำให้ผู้นั้นเจ็บได้ ถ้าไม่ห้าม ต่อไปเขาจะมีเครื่องมือในการทำร้ายคนอื่น เป็นการก่อให้เกิดความก้าวร้าวขึ้นมาในจิตใจของเขาโดยไม่รู้ตัว

ขณะที่เขาอายุ 2-3 ปี และมีพฤติกรรมชอบตบตีคนอื่น ควรรีบแก้ไขพฤติกรรมที่เอาแต่ใจตัวเองของลูก แต่ไม่แนะนำให้ตีเขา เพราะจะทำให้เขาใช้วิธีนี้กับผู้อื่น ควรใช้ความสงบในการลงโทษมากกว่าวิธีอื่น เช่น ขณะที่เขาก้าวร้าวจะวิ่งไล่ตีคนอื่น ก็ควรแยกเขาให้อยู่คนเดียวสัก 1-2 นาที จนกว่าอารมณ์ของเขาจะสงบลง ในกรณีที่เขาชอบแสดงอาการดื้อและก้าวร้าวในห้างสรรพสินค้า ขอให้ใจเย็นๆ นำเขากลับบ้านทันที ให้อยู่กับพี่เลี้ยง แล้วจึงออกไปทำธุระต่อให้เสร็จ การลงโทษเช่นนี้ควรทำสม่ำเสมอและทำตั้งแต่เขายังเล็ก

ดังนั้นในทุกครั้งที่ลูกมีพฤติกรรมเช่นนี้ พ่อแม่ต้องรีบจัดการ มิฉะนั้นพฤติกรรมนี้จะติดตัวและจะเป็นพฤติกรรมที่ทำร้ายตัวของลูกเองในภายหลัง

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น เฮทเธอร์ วิตเทนเบิร์ก นักจิตวิทยาเด็ก อธิบายสาเหตุของพฤติกรรมไม่เหมาะสมของเด็กวัยเตาะแตะ ไว้ว่า “ลูกวัยนี้กำลังพัฒนาบุคลิกภาพและนิสัยใจคอ จึงแสดงพฤติกรรมที่เป็นเหมือนการท้าทาย และดูนิสัยไม่ดีในสายตาผู้ใหญ่ แต่พฤติกรรมที่น่ารำคาญของลูกนั้น ก็เป็นสัญญาณที่บ่งชี้ถึงพัฒนาการที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วจนน่าทึ่ง”

อ่านต่อ >> “5 วิธีรับมือและแก้ไขเมื่อลูกดื้อมาก ให้มองเป็นเรื่องดี” คลิกหน้า 2

อ่านต่อ “บทความดีๆน่าสนใจ” คลิก!

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids

 

 

การเอาแต่ใจตัวเองเป็นพฤติกรรมที่เกิดขึ้นต่อเนื่องจากช่วงทารก ซึ่งในระยะแรกๆ ถ้าเขาสนใจอยากได้อะไร ผู้ใหญ่รอบๆ ข้างก็มักจะยอมและตามใจเขา โดยไม่มีการจำกัดขอบเขต เมื่อเขาเติบโตขึ้น บางสิ่งบางอย่างไม่ถูกต้องก็ควรจะห้ามเขาได้ แต่การเลี้ยงดูที่ไม่ถูกต้อง ทำให้ไม่เคยถูกจำกัดขอบเขตของพฤติกรรม อยากทำอะไรก็ไม่มีคนกล้าขัดใจ จนเป็นเด็กที่เอาแต่ใจตัวเอง ทำให้ติดเป็นนิสัย และมักจะแสดงอาการก้าวร้าวเมื่อมีคนมาขัดใจ เช่น ขว้างของ ตีคนรอบข้าง หรือ ทำร้ายตนเอง เช่น หัวโขกพื้น หรือร้องไห้แล้วกลั้นใจจนหน้าเขียวก็มี

ซึ่งก็มีพ่อแม่จำนวนมากเมื่อพบพฤติกรรมตอบโต้ของเขาเช่นนี้ก็เกิดความกลัว ในที่สุดก็ไม่กล้าขัดใจ ทำให้เขาได้ใจและใช้วิธีการนี้เป็นอาวุธประจำตัวเมื่อมีคนขัดใจ กลายเป็นเด็กที่เอาแต่ความคิดตนเองเป็นหลัก เมื่อเป็นมากขึ้นก็จะไม่เห็นความสำคัญของคนอื่น กลายเป็นคนเห็นแก่ตัวและเข้าสังคมไม่ได้ จึงควรดัดเขาตั้งแต่เล็กๆ ทุกครั้งที่พบพฤติกรรมเช่นนี้ เช่น การที่เขาร้องแล้วกลั้นหายใจจนเขียวนั้น ก็อย่ายอมเขา โดยปล่อยให้เขาร้อง อยู่ใกล้ๆ เขา เอามือหนึ่งของคุณไว้บนแผ่นหลังของเขา อีกมือหนึ่งของคุณไว้บนหน้าอกของเขา แล้วกดอกของเขาเข้าหากันเบาๆ เพื่อเป็นการผายปอด จะทำให้เขากลับมาหายใจได้เร็วขึ้น ลูกมักจะร้องกลั่นหายใจเฉพาะครั้งแรกที่ร้องเท่านั้น เมื่อเขากลับมาหายใจดังเดิมก็เดินจากมา ปล่อยให้เขาร้องต่อไป ในครั้งต่อๆ ไปเขาจะไม่ทำเช่นนี้อีก เพราะไมได้ประโยชน์อะไรจากการร้องไห้รุนแรงเช่นนี้

***ข่าวดี คือ พฤติกรรมแย่ๆ ทั้งหลายในเด็กวัยนี้มีด้านดีที่คุณอาจไม่รู้ และมีวิธีแก้ไข มามองมุมดีของพฤติกรรมเหล่านั้นกัน อย่างน้อยก็จะช่วยให้คุณเปลี่ยนอาการของขึ้น หงุดหงิด อารมณ์เสียตอนลูกออกลาย ไปเป็นผู้ช่วยปรับแต่งพฤติกรรมของลูกในทางที่ดีได้อย่างเข้าใจและยอมรับ

♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦

1. โกหกหน้าตาย

√ แง่ดีของพฤติกรรมนี้ ผลวิจัยชี้ว่าเด็กที่เริ่มพูดโกหกตอนอายุ 2-3 ขวบหรือเร็วกว่าเด็กส่วนใหญ่ 1-2 ปีมักมีระดับไอคิวที่สูงกว่าเล็กน้อย เพราะการโกหกต้องอาศัยความสามารถทางสติปัญญาในระดับที่สูงกว่าการสารภาพ คือนอกจากจะต้องพยายามไม่พูดความจริงแล้ว เด็กๆ ยังต้องแต่งเรื่องโกหกและพอจะต้อง “อ่านใจ” พ่อแม่ได้ด้วย จะได้ไม่โกหกให้จับได้แบบคาหนังคาเขา และการอ่านใจก็เป็นทักษะที่เกี่ยวโยงกับพัฒนาการด้านการมีอารมณ์ร่วม

♥ ปรับแก้ได้ : เวลาที่จับได้ว่าลูกโกหก (ส่วนใหญ่จับได้เสมอ) อารมณ์เสีย โมโห โกรธ และดุว่า ไม่ช่วยให้เด็กเล็กๆ เข้าใจ ควรเลี่ยงการลงโทษ ควรใช้โอกาสนั้นบอกให้ลูกรู้ว่า ถ้าเขาโกหก ต่อไปก็จะไม่มีใครเชื่อในสิ่งที่เขาพูด รวมถึงคุณด้วย ความซื่อสัตย์เป็นสิ่งสำคัญ และชี้ให้ลูกเห็นว่าครั้งต่อไปถ้าเกิดปัญหาขึ้น เขาสามารถแก้ไขได้ด้วยการพูดคุยกัน

หากลูกยอมสารภาพ คุณควรขอบคุณและชื่นชม (แต่พอดีๆ ไม่ชมจนออกนอกหน้า) และย้ำกับเขาได้ว่าถึงการสารภาพเป็นเรื่องดี แต่ถึงอย่างไร การพูดความจริงตั้งแต่แรกก็เป็นสิ่งที่ดีกว่า

2. ช่างฟ้องทุกเม็ด

√ แง่ดีของพฤติกรรมนี้ พฤติกรรมขี้ฟ้องจะเริ่มในวัย 3-4 ขวบ มองในด้านดีชี้ให้เห็นว่าเด็กๆ นึกถึงการทำตามกฎและเริ่มมีความรู้สึกผิดชอบชั่วดี (เด็กวัยนี้ยังไม่สามารถรู้ผิดชอบดีชั่วด้วยตัวเอง แต่จะรู้จากที่พ่อแม่และผู้ใหญ่บอก) จึงอยากให้คนอื่นทำสิ่งที่เหมาะสม และนั่นก็เป็นพื้นฐานที่จะทำให้เขาเติบโตเป็นพลเมืองดีในอนาคต

♥ ปรับแก้ได้ : ส่วนใหญ่พ่อแม่ไม่อยากให้ลูกเป็นเด็กช่างฟ้อง แต่ก็อาจจะมีบางสถานการณ์ เช่น กรณีที่เขาถูกรังแกหรือกลั่นแกล้ง จำเป็นต้องการคนช่วย คุณจึงควรจะชื่นชมที่เขารู้จักทำตามกฎ แต่ก็ต้องพยายามทำให้เขาเลิกหยุมหยิมกับการไม่ทำตามกฎเล็กๆ น้อยๆ (อย่างไม่ล้างมือก่อนกินข้าว โดยบอกเขาว่าเด็กๆ ต้องล้างมือก่อนกินข้าว ขอบคุณที่เตือน แต่เพื่อนอาจจะรอใช้อ่างล้างมืออยู่ก็ได้) หรือถ้าลูกฟ้องว่ามีเด็กคนไหนๆ ทำไม่ดีกับเขา คุณก็สอนให้เขารู้จักพูดเพื่อแก้ปัญหาด้วยตัวเองได้

อ่านต่อ >> “วิธีรับมือและแก้ไขเมื่อลูกดื้อมาก ให้มองเป็นเรื่องดี เปลี่ยนลูกได้ไปตลอดชีวิต” คลิกหน้า 3

อ่านต่อ “บทความดีๆน่าสนใจ” คลิก!

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids

 


3. จอมบงการ

√ แง่ดีของพฤติกรรมนี้ พฤติกรรมจอมบงการ หรือเจ้ากี้เจ้าการ บ่งชี้ว่าเด็กๆ กำลังพัฒนาทักษะในการเป็นผู้นำ ทว่าสมองส่วนที่ทำให้เขารู้จัก “คิดก่อนทำ” ยังพัฒนาไม่เต็มที่ จึงมีส่วนเป็นสาเหตุที่ทำให้เขามีพฤติกรรมดังกล่าว แต่พ่อแม่ก็จะเห็นการเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจนตอนเด็กๆ เรียนชั้นประถม 2 ซึ่งตอนนั้นจะเข้าสู่พัฒนาการของการคิดเป็นเหตุเป็นผลมากขึ้น เข้าใจเรื่องนามธรรมมากขึ้น จึงมีการปรับตัวและพฤติกรรมเพื่อให้เข้ากับกลุ่มเพื่อนได้

♥ ปรับแก้ได้ : ปล่อยให้เด็กๆ พยายามแก้ปัญหากันเองก่อน แต่ถ้าลูกยังคงวางอำนาจกับเพื่อนๆ คุณก็ควรจะช่วยโดยพยายามโน้มน้าวให้เปลี่ยนมาเล่นเกมที่ทุกคนสามารถมีส่วนร่วมอย่างเกมทายใจ หลังจากเล่นเสร็จ เมื่อคุณกับลูกอยู่ตามลำพัง ค่อยๆ สอนให้เขารู้จักพูดดีๆ กับเพื่อน หรือให้เขาใช้น้ำเสียงที่นุ่มนวลขึ้น

4. หูทวนลม

√ แง่ดีของพฤติกรรมนี้ เด็กๆ กำลังสร้างมิตรภาพกับเพื่อนๆ ตื่นตาตื่นใจกับทุกสิ่งที่เพื่อนๆ ทำ พูด กินและใส่ และยังไม่สามารถให้ความสนใจกับเพื่อนและพ่อแม่พร้อมๆ กัน แต่พอขึ้นชั้นประถม 1 เด็กๆ จะแบ่งความสนใจได้ดีขึ้น

♥ ปรับแก้ได้ : คุณคงไม่อยากแทรกแซงการสร้างมิตรภาพของลูก แต่บางครั้งเขาก็ต้องฟังคุณบ้าง คุณจึงควรจะลองใช้วิธีแปลกๆ เพื่อให้เขาสนใจอย่างร้องเพลงหรือใช้สำเนียงตลกๆ เวลาต้องการบอกให้เขาทำอะไร ควรบอกในระยะใกล้ๆ ลูก ไม่ใช่พูดจากอีกห้อง และควรจะใช้เสียงดังเฉพาะกรณีที่เกี่ยวกับความปลอดภัยซึ่งเขาต้องสนใจโดยด่วนเท่านั้น

5. เล่นแรงๆ กับเพื่อน

√ แง่ดีของพฤติกรรมนี้ เด็กๆ จะเล่นต่อสู้ได้ “ดี” ซึ่งหมายถึงไม่เล่นกับเพื่อนแรงๆ ต้องมีทักษะทางสังคมบางอย่าง เช่น สื่อสารกับเพื่อนๆ โดยไม่ต้องใช้คำพูด ดูสีหน้า ท่าทาง มีความสามารถในการกะ ประมาณได้ว่าควรเล่นแรงแค่ไหนและรู้จักหยุดเมื่อเพื่อนต้องการพัก

เด็กวัยอนุบาลอาจจะเล่นแรงเกินไปโดยไม่ได้ตั้งใจ เพราะการควบคุมร่างกาย และการกะ ประมาณยังทำได้ไม่ดี แต่ถ้าได้ฝึกบ่อยๆ เขาก็จะรู้จักเล่นแบบมีขีดจำกัด การเล่นต่อสู้ยังช่วยสอนเรื่องการควบคุมอารมณ์ด้วย เพราะถ้าเพื่อนเล่นแรงๆ เด็กๆก็ต้องรู้จักสงบสติอารมณ์เองให้ได้

♥ ปรับแก้ได้ : ต้องให้ลูกกับเพื่อนๆ เล่นต่อสู้กันในบริเวณกว้างๆ ที่ปลอดภัยและคอยดูแลอย่างใกล้ชิด ถ้าเห็นว่ามีการเตะต่อยกันหรือเห็นสีหน้าหมดสนุกของเด็กๆ คุณก็ต้องเข้าไปห้าม และเวลาอยู่ที่บ้าน คุณก็ต้องสอนให้ลูกรู้จักเล่นแบบมีขีดจำกัดด้วย อย่างถ้าเขาโถมเข้าใส่โดยไม่มีการเตือนให้รู้ตัว คุณก็ควรจะพูดว่า “เล่นแรงเกินไปแล้วนะ ลูกอาจทำอะไรแตกก็ได้ ถ้าจะเล่นแบบนี้ เราไปเล่นนอกบ้านกันดีกว่า”

จะเห็นได้ว่า ลูกอาจมีพฤติกรรมและอารมณ์ที่ไม่พึงประสงค์มากมาย คุณพ่อคุณแม่ควรรู้ถึงพฤติกรรมและอารมณ์เหล่านี้ของลูกตั้งแต่ต้นๆ และควรหาทางแก้ไข การแก้ไขในช่วงแรกๆ จะประสบผลสำเร็จได้ง่าย และทำให้ลูกเลิกพฤติกรรมนั้นได้ไปตลอด แต่ในทางกลับกัน ถ้าอารมณ์และพฤติกรรมที่ผิดๆ ของลูกไม่ได้รับการแก้ไขในช่วงแรกๆ การจะแก้ไขในภายหลังมักจะไม่ประสบผลสำเร็จ เพราะพฤติกรรมและอารมณ์ร้ายเหล่านี้ได้ติดตัวลูกไปแล้ว

อ่านต่อ “บทความดีๆน่าสนใจ” คลิก!


บทความโดย: กองบรรณาธิการนิตยสาร Amarin Baby & Kids