AMARIN Baby And Kids – เพื่อลูกฉลาดและมีความสุข

5 หลักง่ายๆ ปลูกฝังลูกเตาะแตะเรื่อง “การให้”

คุณอาจคิดว่าการสอนให้เด็ก 2 ขวบรู้จัก “การให้” หรือปลูกฝังความใจบุญสุนทานแก่เขาเป็นเรื่องยาก แต่รู้ไหมว่า การมาอบรมตอนเขาโตแล้วบางทีกลับยากยิ่งกว่า (เพราะไม้แก่นั้นหักไปเลยจะง่ายกว่าคอยมานั่งดัดเสียอีก)

แล้วไม้อ่อนในบ้านเราจะค่อยๆ ดัดเขาอย่างไรดีล่ะ

1. สร้างบรรยากาศอบอุ่นในครอบครัว

ผลวิจัยพบว่า ถ้าได้รับการเลี้ยงดูในครอบครัวที่อบอุ่น เด็กส่วนใหญ่จะเติบโตมาเป็นผู้มีน้ำใจเอื้อเฟื้อ ตรงกันข้ามกับเด็กที่ไม่ได้รับความรักมักมีแนวโน้มว่าจะโตมาเป็นคนเห็นแก่ตัว นั่นก็เพราะเขาไม่เคย “ได้รับ” จึงไม่มีโอกาสเรียนรู้ที่จะ “ให้”

2. “ให้” ตามเทศกาล

มีเทศกาลและวันสำคัญมากมายที่เราจะได้ทำบุญหรือให้ของขวัญแก่กัน เช่น ปีใหม่ วันเกิด วันสำคัญทางศาสนา ฯลฯ เวลาที่คุณไปเลือกซื้อของเหล่านี้ ก็ให้ลูกมีส่วนร่วมด้วย คะยั้นคะยอให้เขาเลือกของขวัญให้คุณตาคุณยาย พี่ๆ น้องๆ หรือเพื่อนฝูงด้วยตัวเอง หรือถ้าคุณเลือกซื้อของมาจัดสังฆทานเอง แทนที่จะซื้อแบบสำเร็จรูป ลูกก็จะได้ซึมซับหรือเรียนรู้เรื่องการจัดของสำหรับทำบุญไปในตัวด้วย

3. “ให้” อย่างสม่ำเสมอ

การให้ตามเทศกาลเป็นเรื่องดี แต่จะดีกว่าถ้าลูกรู้จักให้โดยไม่เลือกโอกาสด้วย เช่น เวลาเดินผ่านกล่องรับบริจาค คุณอาจยื่นเหรียญให้เขาหย่อนลงกล่องด้วยตนเอง หรือวันดีคืนดีก็อาจจะชวนเขาเลือกข้าวของหรือเสื้อผ้าที่ใส่ไม่ได้แล้วบรรจุลงกล่องเพื่อนำไปบริจาค พร้อมอธิบายให้เขาฟังว่า ยังมีเด็กๆ อีกมากที่ไม่มีของเล่นเหมือนลูก และการให้ของเราจะทำให้เขาดีใจแค่ไหน

4. ให้ด้วยใจ

เหตุผลที่ว่าทำบุญแล้วจะได้ขึ้นสวรรค์หรือมีชีวิตที่ดีกว่านับเป็นแรงจูงใจที่ดี แต่หลายครั้งความสุขก็เกิดแก่เรา “ทันที” ที่ได้ให้คนอื่น สุขที่ได้เป็นผู้ให้ สุขที่เห็นคนอื่นได้รับ สอนลูกให้พอใจเพียงเท่านี้ อาจจะดีกว่าให้เขาต้องผิดหวังในภายภาคหน้า ว่าทำบุญมาทั้งชีวิต แต่ทำไมหนูไม่รวยกับเขาสักทีละแม่

5. ค่อยเป็นค่อยไป

อย่าใจร้อนว่าฉันสอนลูกมาดีแล้วทำไมเขายังนึกถึงแต่ตนเองอยู่ เพราะเด็กก็คือเด็ก เป็นธรรมดาที่วันนี้ดี พรุ่งนี้ก็อาจจะร้าย คุณจึงควรดูแลเขาอย่างใกล้ชิด ยอมรับในพัฒนาการของลูกและค่อยๆ ขัดเกลากันไป วันหนึ่งข้างหน้าคุณจะได้ภูมิใจว่า ไม่ใช่แค่สร้างลูก แต่คุณยังสร้างโลกดีๆ ด้วยการผลิตประชากรที่มีน้ำใจเอื้อเฟื้อขึ้นมาด้วย

 

บทความโดย: กองบรรณาธิการนิตยสารเรียลพาเรนติ้ง