ช่วงอากาศเริ่มเย็นลงและมีฝนตกอาจทำให้ร่างกายปรับตัวไม่ทัน กรมคุมโรคได้ออกมาเตือนประชาชนและคุณพ่อคุณแม่ให้ระวัง ลูกเป็นไข้หวัดใหญ่ ที่มักระบาดในช่วงปลายฝนต้นหนาว โดยเฉพาะกลุ่มเด็กเล็กและเด็กวัยเรียน
โดยสถานการณ์โรคไข้หวัดใหญ่ปีนี้ ตั้งแต่ 1 มกราคม – 12 ตุลาคม 2563 พบผู้ป่วยแล้ว 112,283 ราย เสียชีวิต 3 ราย พบป่วยมากสุดในเด็กแรกเกิด – 4 ปี รองลงมาคืออายุ 10-14 ปี และอายุ 7-9 ปี ตามลำดับ ซึ่งเป็นกลุ่มเด็กเล็กและเด็กวัยเรียน ส่วนจังหวัดที่มีอัตราป่วยสูงสุด 5 อันดับแรก คือ พะเยา เชียงใหม่ หนองคาย ระยอง และกรุงเทพมหานคร ตามลำดับ
แต่หากเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว พบผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่น้อยลง เนื่องมาจากมาตรการการป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด 19 ด้วยการใส่หน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อยๆ เว้นระยะห่าง แยกของใช้ และหลีกเลี่ยงสถานที่แออัด
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากมีฝนตกในหลายพื้นที่ อาจทำให้เจ็บป่วยได้ง่าย โดยเฉพาะโรคระบบทางเดินหายใจ ระวังการเข้าไปในพื้นที่คนหนาแน่น อาจเกิดไอจามรดกัน ทำให้ติดเชื้อกันได้ง่าย หรือจากการสัมผัสสิ่งของที่มีเชื้อโรค เช่น แก้วน้ำ ลูกบิดประตู เป็นต้น
ระวัง! ลูกเป็นไข้หวัดใหญ่
ระบาด ช่วงปลายฝนต้นหนาว
Good you know : “การพยากรณ์โรคและภัยสุขภาพ” เป็นหนึ่งมาตรการในการทำงานของกรมควบคุมโรค เพื่อการคุ้มครองสุขภาพประชาชนในลักษณะของการคาดการณ์ หรือการทำนายล่วงหน้าเกี่ยวกับโรคและภัยสุขภาพต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นในรอบปี โดยมีเป้าหมายเพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและประชาชน เกิดความตระหนัก เกิดความรู้ ความเข้าใจถึงสาเหตุ การป้องกัน การดูแลสุขภาพ และการรับมือกับสถานการณ์เมื่อเกิดโรค
อ่านต่อ “บทความดี ๆ น่าสนใจ” คลิก!
- ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ H1N1
- ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A และ B ต่างกันอย่างไร ?
- รู้ไหมว่า ไข้เลือดออก กับ ไข้หวัดใหญ่ ต่างกันอย่างไร?
- ลูกเป็นไข้หวัด ไม่รับประทานยา จะหายได้หรือไม่?
ขอบคุณข้อมูลจาก : กรมควบคุมโรค
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
วิธีสังเกตอาการ โรคไข้หวัดใหญ่
อาการของโรคจะคล้ายไข้หวัด แต่จะมีอาการปวดกล้ามเนื้อและปวดศีรษะ อ่อนเพลีย แต่สามารถหายเองได้ใน 5-7 วัน
ดังนั้น ถ้ามีอาการไข้สูง ไอ มีน้ำมูก ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย อาการไม่ดีขึ้นภายใน 48 ชั่วโมง โดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยง ให้รีบพบแพทย์ด่วน ซึ่งได้แก่
- เด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี
- หญิงตั้งครรภ์
- ผู้สูงอายุ
- ผู้มีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน หอบหืด โรคหัวใจ
- ผู้ที่มีภาวะอ้วน
นอกจากนี้ หากมีอาการไข้ ไอ หายใจเหนื่อยหอบ อาจเป็นอาการของโรคโควิด 19 เพราะคล้ายกับโรคไข้หวัดใหญ่ ควรรีบพบแพทย์ทันที
ส่วนบุคคลทั่วไป ควรทานยาลดไข้ พักผ่อนให้เพียงพอ ดื่มน้ำมากๆ หากอาการไม่ดีขึ้นให้รีบไปพบแพทย์ …ทั้งนี้กรมควบคุมโรคจะใช้ประโยชน์จากรายงานพยากรณ์โรคและภัยสุขภาพในการเตือนภัยและวางแผนป้องกันควบคุมโรคและภัยสุขภาพแก่ประชาชน และเป็นรายงานให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถนำไปดำเนินงานและเผยแพร่ได้
ซึ่งกรมควบคุมโรคมีมาตรการเพื่อปกป้องประชาชนจากโรคและภัยสุขภาพดังกล่าว โดยมอบหมายให้หน่วยงานในสังกัด ทั้งหน่วยงานในส่วนกลาง สำนักงานป้องกันควบคุมโรคทั้ง 12 แห่งทั่วประเทศ และสถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง ดำเนินการเฝ้าระวัง ตรวจจับ คัดกรองโรคและภัยสุขภาพ และเตรียมพร้อมทีมเฝ้าระวังสอบสวนเคลื่อนที่เร็ว (SRRT) หากประชาชนมีข้อสงสัยสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรคโทร. 1422
อันตรายของไข้หวัดใหญ่
โรคไข้หวัดใหญ่จะมีการระบาดใหญ่เป็นประจำในช่วงฤดูหนาว เกิดจากเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ (Influenza virus) ซึ่งเชื้อนี้มี หลายชนิดมาก นอกจากคนแล้วยังก่อให้โรคในสัตว์ได้หลายชนิด เช่น หมู นก ม้า แต่โดยทั่วไปไวรัสของสัตว์ชนิดใดก็จะก่อให้เกิดโรคเฉพาะสัตว์ชนิดนั้น เช่น ไวรัสไข้หวัดนก (H5N1) จะก่อโรคในสัตว์ปีกเป็นหลัก แต่ในช่วงหลังที่ตกเป็น ข่าวดัง ก็เนื่องจากว่าไวรัสนี้มีการเปลี่ยนแปลงทำให้มีการติดต่อมายังมนุษย์ หรือสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมได้ และมีความรุนแรงสูง ทำให้เสียชีวิตได้ แต่ยังโชคดี ที่การติดต่อมาสู่คนไม่ง่ายนัก ต้องสัมผัสใกล้ชิดมาก และการติดต่อจากคนสู่คน ก็เกิดได้น้อยมาก เราจึงสามารถควบคุมการระบาดได้
ส่วนไข้หวัดใหญ่ในคนมี 2 กลุ่มใหญ่ๆ คือ ไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล และไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ ที่ทำให้เกิดการ ระบาดทั่วโลก
- ไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล เกิดจากเชื้อไข้หวัดใหญ่ที่พบกันมานานแล้ว แต่เนื่องจากเชื้อโรคไข้หวัดใหญ่มีการเปลี่ยนแปลงตัวเองได้ตลอดเวลา ทำให้คนที่ป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่ไปแล้วสามารถป่วยได้อีกถ้าเชื้อมีการเปลี่ยน แปลงไป แต่อาการมักจะไม่รุนแรง เนื่องจากเรามีภูมิคุ้มกันอยู่บ้าง
- ไข้หวัดใหญ่ที่ทำให้เกิดการระบาดใหญ่ หรือในปัจจุบันเรียกว่า ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ หรือสายพันธุ์ 2009 เกิดจากเชื้อไข้หวัดใหญ่ ชนิด เอช 1 เอ็น 1 (H1N1) ที่มีการเปลี่ยนแปลงจากเชื้อไวรัส H1N1 เดิมมาก ทำให้คนส่วนใหญ่ไม่มีภูมิคุ้มกัน ทำให้เกิดการระบาดหรือ ติดเชื้อเป็นวงกว้าง ดังจะเห้นตามข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์หรือตามโทรทัศน์ ซึ่งเชื้อนี้มีระบาดไปในแทบทุกประเทศทั่วโลกในเวลาอันสั้น แต่โชคดีที่ ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่นี้ มีความรุนแรงต่ำ ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะหายเองได้
การแพร่เชื้อที่ทำให้ลูกเป็นไข้หวัดใหญ่
เชื้อเข้าสู่ร่างกายทางทางเดินหายใจ ซึ่งเชื้อโรคจะมาจากน้ำมูก น้ำลายหรือเสมหะของผู้ป่วย เมื่อมีการไอ จามทำให้เชื้อแพร่กระจายในอากาศ แล้วเราสูดเข้าไปในทางเดินหายใจและทำให้เกิดโรคภายใน 1-3 วัน นอกจากนั้นอาจติดต่อโดยการที่เราไปจับสิ่งของที่ปนเปื้อนน้ำมูก น้ำลายของผู้ป่วย เช่น ลูกบิดประตู ราวบันได แก้วน้ำ โทรศัพท์ เป็นต้นแล้วเรามาจับบริเวณใบหน้าเรา ทำให้เชื้อเข้าไปในร่างกายทางจมูกได้
อาการของโรคไข้ใหญ่
โดยส่วนใหญ่โรคนี้ไม่ได้อันตรายร้ายแรงอันใดกับคนทั่วๆไป ซึ่งอาการโรคไข้หวัดใหญ่ คือ มีไข้ ไอ น้ำมูก บางคนมีอาการเจ็บคอ ปวดเมื่อยตามตัว คลื่นไส้อาเจียน ท้องเสีย อาการส่วนใหญ่จะไม่รุนแรง เป็นอยู่ประมาณ 3-5 วัน ซึ่งบางครั้งจะคล้ายโรคไข้หวัดธรรมดา แต่ท้ายที่สุด อาการก็จะหายไปเองได้ มีเพียงส่วนน้อยเท่านั้น ที่จะมีอาการรุนแรง เช่น ไอมาก หอบเหนื่อย หายใจลำบาก ซึ่งอาจเกิดจากไวรัสไข้หวัดใหญ่ทำให้ เกิดการอักเสบของปอด ทำให้ปอดบวม การหายใจล้มเหลว ซึ่งอาการอาจจะ รุนแรงจนถึงเสียชีวิตได้
และจะเป็นอันตรายร้ายแรงในผู้ป่วยบางกลุ่ม เช่น ผู้สูงอายุ ผู้ที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง เช่น หอบหืด ถุงลมโป่งพอง โรคหัวใจวาย เบาหวาน โรคไตวาย ผู้ป่วยภูมิคุ้มกันบกพร่อง เป็นต้น อาจเกิดปัญหาแทรกซ้อนได้มาก เช่น เกิดปอดอักเสบติดเชื้อทั้งจากไวรัสไข้หวัดใหญ่เองหรือจากการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อนตามมา ในประเทศไทยเองก็มีผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่ปีละ 20,000-50,000 รายทุกปี แต่อัตราการเสียชีวิตไม่ถึง 10 รายต่อปี โดยส่วนใหญ่ผู้ที่เสียชีวิตมักเป็นผู้ป่วยสูงอายุ
อ.ดร.นพ.สัณฑ์ ม่วงน้อยเจริญ รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลเวชศาสตร์เขตร้อน คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล แนะนำวิธีสังเกต และวิธีการรับมือกับโรคไข้หวัดใหญ่ ไว้ดังนี้
อ่านต่อ > > “การรักษาและการป้องกันการติดเชื้อโรคไข้หวัดใหญ่” คลิกหน้า 2
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
การรักษาโรคไข้หวัดใหญ่
โรคไข้หวัดใหญ่ส่วนใหญ่ทำได้โดยการรักษาแบบประคับประคองให้การดูแล รักษาตามอาการ ผู้ป่วยบางรายอาจจำเป็นต้องได้รับยาต้านไวรัส โดยเฉพาะ ผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงที่จะเป็นโรครุนแรง แพทย์จะพิจารณาให้การรักษาเป็นรายๆ ไป ในรายที่มีอาการรุนแรงหรือมีปอดบวมจำเป็นต้องนอนรักษาตัวใน โรงพยาบาล
แต่ที่สำคัญสำหรับลูกน้อย คุณพ่อคุณแม่ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานยาแอสไพรินลดไข้ เนื่องจากอาจทำให้เกิดกลุ่มอาการไรย์ได้ สำหรับยากดการเพิ่มจำนวนของไวรัส ได้แก่ Amantadine, Rimantadine และ Neuraminidase inhibitors (oseltamivir และ zanamivir) นั้นมักไม่ต้องใช้และไม่ค่อยมีในโรงพยาบาลทั่วไป อาจทำให้เกิดผลข้างเคียง ได้และปัจจุบันไวรัสมีการดื้อยามากขึ้น ส่วนใหญ่ใช้ในรายที่มีอาการแทรกซ้อนรุนแรง
♦⇒ Must read : เตือน! ยาลดไข้ ใช้ผิดวิธีอันตรายถึงชีวิตลูก
การป้องกันการติดเชื้อโรคไข้หวัดและไข้หวัดใหญ่
เนื่องจากโรคไข้หวัดใหญ่อาจทำให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพ และถึงแม้ส่วนใหญ่จะหายโดยไม่มีภาวะแทรกซ้อนก็ตาม แต่ก็อาจทำให้ผู้ป่วย มีไม่สบายหลายวัน จนอาจต้องหยุดเรียนหรือหยุดงาน ดังนั้นถ้าเป็นไปได้ควรลดโอกาสการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ลงโดย
- รักษาสุขภาพให้แข็งแรงอยู่เสมอ โดยการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์เพียงพอและครบหมู่ ดื่มน้ำมาก ๆ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ พักผ่อนให้เพียงพอไม่ตรากตรำทำงานหนักจนเกินไป
- อยู่ในที่อากาศถ่ายเทดี ไม่เข้าไปในที่แออัดโดยเฉพาะช่วงที่มีการระบาดของไข้หวัดใหญ่
- หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ , ดื่มสุรา และยาเสพติดต่าง ๆ เนื่องจากอาจทำให้สุขภาพร่างกายไม่ดี มีโอกาสติดเชื้อง่ายขึ้น
- หลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้ชิดกับผู้ที่ป่วยเป็นโรคไข้หวัดอยู่ และพยายามไม่ใช้ของใช้ส่วนตัว เช่น ผ้าเช็ดหน้า แก้วน้ำจานชาม ช้อน ร่วมกัน
- ล้างมือบ่อย ๆ เนื่องจากอาจไปสัมผัสเชื้อโรคที่อยู่ตามสิ่งของต่างๆ เช่น ราวบันได ลูกบิดประตู แก้วน้ำ เป็นต้น แล้วเผลอไปสัมผัสบริเวณหน้าได้ โดยล้างมือด้วยสบู่ธรรมดา 15-20 วินาทีหรือใช้น้ำยาล้างมืออื่น ๆ
- รักษาร่างกายให้อบอุ่นในช่วงฤดูหนาวหรือช่วงที่มีอากาศเปลี่ยนแปลง ในที่ที่หนาวมากควรสวมหมวกเพื่อลดการถ่ายเทความร้อนออกจากร่างกายด้วยเนื่องจากการถ่ายเทความร้อนออกจากที่ศีรษะร้อยละ 60
- ถ้าหากเป็นไข้หวัดหรือไข้หวัดใหญ่ ควรมีผ้าปิดปากและจมูกเวลาไอจาม ไม่คลุกคลีกับผู้อื่นและหมั่นล้างมือบ่อย ๆ
4 มาตรการ ที่กรมควบคุมโรคแนะนำในการดูแลสุขภาพ
เพื่อไม่ให้คุณและลูกเป็นไข้หวัดใหญ่
กรมควบคุมโรค ได้แนะนำให้คุณพ่อคุณแม่ดูแลสุขภาพของตนเองและลูกน้อย โดยใช้มาตรการ “ปิด ล้าง เลี่ยง หยุด” ได้แก่
- ปิด คือปิดปาก ปิดจมูก เมื่อไอ จาม ต้องใช้ผ้าหรือกระดาษทิชชูปิดปากและจมูกทุกครั้ง หากเจ็บป่วยด้วยไข้หวัดใหญ่ ควรใส่หน้ากากอนามัย
- ล้าง คือล้างมือบ่อยๆ ด้วยน้ำและสบู่เมื่อสัมผัสสิ่งของ เช่น กลอนประตู ลูกบิด ราวบันใด ราวบนรถโดยสาร
- เลี่ยง คือ เลี่ยงการอยู่ใกล้กับผู้ที่มีอาการป่วย มีไข้ ไอ จาม และการอยู่ในพื้นที่แออัด
- หยุด คือ หยุดเรียน หยุดงาน หยุดทำกิจกรรมในสถานที่แออัดเมื่อมีอาการป่วย แม้ผู้ป่วยจะมีอาการไม่มากก็ควรหยุดพักรักษาตัวอยู่ที่บ้านจนกว่าจะหายเป็นปกติ เพื่อให้หายป่วยได้เร็วขึ้นและไม่ไปแพร่เชื้อให้กับบุคคลอื่น
ทั้งนี้สำหรับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ แนะนำให้ฉีดในรายที่มีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนของโรคได้แก่
- เด็กที่ 6 เดือน – 18 ปี ที่รับประทานยาแอสไพรินเป็นประจำควรได้รับการฉีดวัคซีนนี้ด้วยเช่นกัน เนื่องจากถ้า มีป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่อาจเกิด กลุ่มอาการไรย์ ( Reye’s syndrome) ขึ้นได้โดยมีตับอักเสบและสมองอักเสบ
- ผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ไตรมาสที่ 2 และ 3
- ผู้สูงอายุ
- ผู้ที่มีโรคปอดเรื้อรัง โรคหอบหืด โรคหัวใจและระบบไหลเวียนเลือด
- ผู้ที่มีโรคประจำตัวเรื้อรังอื่นๆ เช่น โรคไต โรคเบาหวาน
- ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง รวมถึงผู้ที่ได้รับยากดภูมิคุ้มกันด้วย
- ผู้ที่ต้องทำงานใกล้ชิดกับผู้ป่วยโรคเรื้อรังหรือชุมชน เช่น แพทย์ พยาบาลและบุคลากรทางการแพทย์ ผู้ที่ทำงานในสถานดูแลผู้ป่วยสูงอายุ เป็นต้น
ซึ่งการให้ลูกได้รับวัคซีนก็จะช่วยลดอาการและความรุนแรงของโรค ภาวะแทรกซ้อน หรือโอกาสที่ ลูกเป็นไข้หวัดใหญ่ ต้องนอนโรงพยาบาลและอัตราการเสียชีวิตลง ซึ่งวัคซีนได้ผลประมาณร้อยละ 70-90 แต่ในผู้สูงอายุมีการตอบสนองต่อยาน้อยกว่านี้ ประมาณร้อยละ 30-70 การฉีดวัคซีนนี้จะต้องฉีดทุกปีเข้ากล้าม 1 ครั้งก่อนช่วงที่จะมีการระบาด ( ฤดูฝน) เนื่องจากเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่มีการเปลี่ยนแปลงพันธุกรรมตลอด วัคซีนจึงต้องผลิตใหม่ให้ตรงกับสายพันธุ์ที่กำลังแพร่ระบาดอยู่ ร่างกายใช้เวลาประมาณ 2 สัปดาห์กว่าจะสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมาได้ ผลข้างเคียงจากการฉีดยาที่พบในผู้ป่วยบางรายได้แก่ อาการไข้ ปวดเมื่อยตามตัวเล็กน้อยหรือปวด บวม คันบริเวณที่ฉีดซึ่งมักมีอาการไม่มากนักและมักจะหายไปใน 1-2 วัน
อ่านต่อ “บทความดี ๆ น่าสนใจ” คลิก!
- วัคซีนไข้หวัดใหญ่ กับเรื่องที่คุณพ่อ คุณแม่ควรรู้
- อัพเดท ราคาวัคซีนไข้หวัดใหญ่ 2563 กว่า 25 แห่งรพ.รัฐ-เอกชน ทั่วกรุง
- ฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ฟรี ! ประกันสังคมให้สิทธิผู้ประกันตนอายุ 50 ปีขึ้นไป
ขอบคุณข้อมูลจาก : www.thaihealth.or.th , www.si.mahidol.ac.th , www.tm.mahidol.ac.th