AMARIN Baby And Kids – เพื่อลูกฉลาดและมีความสุข

5 กระบวนรับมือคุณหนูจอมกรี๊ด

ลูกชอบกรี๊ด ชอบตะโกน พูดเสียงดัง

เมื่อ ลูกชอบกรี๊ด หรือตะโกนไปทั่ว คงทำให้พ่อแม่หลายคนปวดแก้วหูไม่หยอก ในขณะที่ลูกเล็กวัยเตาะแตะนี้กลับชอบนักละที่ได้ทดสอบพลังเสียงของตัวเอง จะแก้ปัญหาอย่างไรดี ต่อไปนี้คือคำตอบ

5 วิธี รับมือ ลูกชอบกรี๊ด หรือชอบตะโกนเสียงดัง

1. งดใช้เสียงดังภายในบ้าน

ไม่ตะโกนใส่กัน ไม่เปิดโทรทัศน์ วิทยุ มือถือ แท็บเล็ต หรือเพลงเสียงดังๆ เพื่อให้เจ้าตัวเล็กเคยชินกับการใช้เสียงระดับปกติ จำไว้ว่า ไม่ควรใช้เสียงดังแข่งกับเสียงลูก เพราะการตะโกนเพื่อห้ามลูกไม่ให้ตะโกน มีแต่จะยั่วยุให้เจ้าหนูอยากส่งเสียงดังแข่งกับเสียงคุณมากขึ้นไปอีก และเขาก็จะรู้สึกด้วยว่า ในเมื่อพ่อแม่ยังส่งเสียงดังได้ แปลว่าการกรีดร้องของหนูก็ไม่ได้เลวร้ายอะไรนี่นา

ลูกชอบกรี๊ด ทําไงดี

2. ให้เขาใช้เสียงทำอย่างอื่น

เมื่อลูกกรี๊ด ลองเปิดเพลงสนุกๆ แล้วชวนให้เขาร้องตาม หรือคุณแม่จะร้องเอง แล้วให้ลูกร้องตามก็ได้ ถ้าไม่ใช้เพลง ก็อาจชวนลูกเลียนเสียงสัตว์ เช่น ร้องเหมียวๆ แบะๆ โฮ่งๆ ฯลฯ ซึ่งนอกจากจะสนุก ยังน่าฟังกว่าเสียงกรี๊ดด้วยนะ

ลูกชอบกรี๊ด ทําไงดี

อ่านต่อ “วิธีรับมือลูกจอมโวยวาย ข้อ 3-5” คลิกหน้า 2

3. กระซิบให้ลูกฟังเมื่อลูกกรี๊ด

ให้จ้องตาเขา แล้วกระซิบอะไรก็ได้ เจ้าตัวเล็กจะอยากรู้อยากเห็นทันทีว่า แม่กำลังจะบอกอะไรหนูนะ ว่าแล้วก็หยุดส่งเสียงดัง แล้วหันมาตั้งใจฟังคุณเสียอย่างนั้น

4. สอนลูกให้รู้จักกระซิบ

การลดเสียงลงให้เป็นเสียงกระซิบกระซาบ ถือเป็นเรื่องยากสำหรับเด็กเล็ก แต่ทำให้เป็นเรื่องสนุกสำหรับเขาได้ เมื่อไรที่เขาส่งเสียงดัง ลองกระซิบนำแล้วให้เขากระซิบตาม เล่นไปสักพักหนูน้อยจะรู้สึกว่า การพูดเบาๆ ก็สนุกเหมือนกันนะ

ลูกชอบกรี๊ด ทําไงดี

5. กำหนดขอบเขต

เมื่ออายุได้สัก 2 ขวบครึ่ง ลูกจะเข้าใจถ้าคุณบอกเขาว่าเวลาไหนจึงจะใช้เสียงดังได้ เช่น เวลาอยู่ในห้องตัวเอง หรือในสนามเด็กเล่น แต่ถ้าเราอยู่ในห้องอื่นๆ หรือในร้านอาหาร เราจะไม่ส่งเสียงดัง การกำหนดขอบเขตได้ผลดีกว่าการห้ามทั้งหมด เพราะกับเด็กวัยนี้ สิ่งที่พ่อแม่ห้ามคือสิ่งที่น่าทำเหลือเกินสำหรับลูก

ลูกชอบกรี๊ด ทำไงดี

เป็นอย่างไรบ้างคะ 5 ข้อที่แนะนำไป ทำไม่ยากเลยใช่ไหมล่ะ หากลูกกำลังอยู่ในวัยชอบเสียงดังตึงตัง ลองนำไปทำดู ลูกจะได้ควบคุมเสียงอันดังของตัวเองได้ เป็นเด็กน่ารักในสายตาของผู้ใหญ่ทั่วๆ ไปอีกด้วยค่ะ

 

บทความโดย: กองบรรณาธิการนิตยสาร Amarin Baby & Kids

ภาพหลัก : aaron gilson (edited by website editor staff)

ภาพประกอบ : Shutterstock