อาการไอมีทั้งชนิดเฉียบพลันและชนิดเรื้อรังหากทิ้งไว้นานไม่รักษาจนกลายเป็นไอเรื้อรัง (มีอาการไอเกิน 4 สัปดาห์) นอกจากจะก่อให้เกิดความรำคาญและทำให้ลูกน้อยนอนหลับพักผ่อนไม่เต็มที่ เพราะอาการไอคอยรบกวนตลอดคืน ถ้า ลูกไอไม่หายสักที พ่อแม่ควรทำอย่างไร เรามีคำตอบมาฝากค่ะ
ลูกไอมาก นอกจากจะทำให้ลูกพักผ่อนไม่เต็มที่แล้ว ยังอาจทำให้เกิดแผลเลือดออกภายในระบบทางเดินหายใจ จนกระทั่งไอออกมาเป็นเลือดหรือทำให้มีเลือดออกทางตาขาวได้ คุณหมอเฉลิมไทย เอกศิลป์ กุมารแพทย์ด้านระบบทางเดินหายใจในเด็ก โรงพยาบาลพญาไท 3 จึงแนะนำให้คุณพ่อคุณแม่สังเกตหาสาสาเหตุอาการไอของลูกน้อยและพามาหาคุณหมอ เพื่อรักษาอาการไอให้ตรงจุดค่ะ
ลูกไอไม่หายสักที เกิดได้จากหลายสาเหตุ
- ไอจาก “การติดเชื้อ”อาการไอแบบเฉียบพลันมักเกิดจากการติดเชื้อไวรัสในระบบทางเดินหายใจ เช่น เชื้อหวัด เชื้อ RSV ซึ่งก่อให้เกิดโรคปอดบวมและหลอดลมฝอยอักเสบ เชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ หรือเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย เช่น เชื้อไอกรน เป็นต้น
- ไอจาก “สารระคายเคือง”สารระคายเคืองมีอยู่ในทุกที่ ทั้งในบ้านและนอกบ้าน เช่น ควันบุหรี่ ควันธูป ควันเทียน ควันจากการประกอบอาหาร ควันรถหรือควันการเผาไหม้อื่นๆ ควันเหล่านี้มีสารที่ก่อให้เกิดอาการระคายเคืองในระบบทางเดินหายใจ เป็นที่มาของอาการไอเรื้อรังได้ โดยเฉพาะไรฝุ่นที่สะสมอยู่บนเครื่องนอนก็สามารถทำให้ระคายคอและเกิดอาการไอได้เช่นกัน
- ไอจาก “โรค” ที่ซ่อนอยู่โรคบางชนิดแม้ฟังดูเหมือนไม่เกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ แต่ก็ทำให้เกิดอาการไอได้เช่นกัน เช่นโรคหลอดลมไว โรคภูมิแพ้ โรคไซนัสอักเสบ กรดไหลย้อน เมื่อลูกน้อยมีอาการไอติดต่อกันโดยไม่ทราบสาเหตุ คุณพ่อคุณแม่จึงไม่ควรนิ่งนอนใจ
ลูกไอมาก ไอเรื้อรัง จะหายได้ต้องหาสาเหตุ
อาการไอเรื้อรังในเด็กวัยเตาะแตะที่พบได้ทั่วไปมักเกิดหลังการติดเชื้อได้รับสารระคายเคืองโรคภูมิแพ้ ไซนัสอักเสบ หรือติดเชื้อจากวัณโรคซึ่งพบไม่บ่อยนัก เด็กที่ป่วยด้วยวัณโรคจะมีอาการไข้เรื้อรังและไออยู่นานสำหรับโรคไซนัสอักเสบมักเกิดต่อเนื่องจากการเป็นหวัด หากอาการหวัดและไอไม่ดีขึ้นภายใน 2 สัปดาห์อาจเกิดจากไซนัสอักเสบได้ อาการไอหากไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม อาการไออาจยืดเยื้อยาวนานกลายเป็นไอเรื้อรังได้ แม้การติดเชื้อไวรัสหลายชนิดจะหายได้เอง แต่ไวรัสไข้หวัดใหญ่ วัณโรค และไซนัสคุณหมอแนะนำให้รับการรักษาจึงจะหายเป็นปกติได้ หรือหากเป็นไข้หวัดธรรมดา แต่ก่อให้เกิดความทุกข์ทรมาน เช่น ไข้ขึ้นสูง ปวดตัว มีอาการไอรุนแรง ก็ควรรับการรักษาจากคุณหมอจะเป็นการดีที่สุด
นอกจากนี้ไอเรื้อรังยังเป็นผลจากการติดเชื้อไวรัสซึ่งทิ้งรอยแผลไว้ในระบบทางเดินหายใจ เนื่องจากติดเชื้อไวรัสบางชนิด แม้อาการจากไวรัสนั้นจะบรรเทาลงแล้ว แต่ร่องรอยหรือแผลที่เกิดจากเชื้อไวรัสลงไปในหลอดลมหรือแผลจากการติดเชื้อไวรัสในปอดจะกลายเป็นสาเหตุให้ลูกน้อยยังมีอาการไอได้อีกนาน อีกสาเหตุสำคัญที่ทำให้อาการไอของลูกน้อยที่มีไข้หวัดมาก่อนไม่หายสักที ลูกมีอาการไอมากตอนกลางคืน ตอนวิ่งเล่น และบางครั้งอาการไอดีขึ้นได้ด้วยยาขยายหลอดลม ให้คุณพ่อคุณแม่สงสัยไว้ก่อนว่าลูกน้อยอาจไอจากโรคภูมิแพ้หรือหลอดลมไว แนะนำให้พาลูกไปรับการตรวจวินิจฉัยจากคุณหมอเพื่อใช้ยารักษาและหลีกเลี่ยงสิ่งที่จะทำให้เกิดอาการแพ้ได้ถูกต้องค่ะ
ติดตามอ่าน “อาการไอของลูก” ต่อที่หน้า 2
กินยาต่อเนื่อง สู้ภัย “ไอ” จากวัณโรค
วัณโรคแม้จะเป็นโรคที่ฟังดูน่ากลัวและอันตราย เนื่องจากหลายรายมีอาการไอรุนแรงและมีเลือดปน แต่คุณหมอยืนยันว่ารักษาให้หายขาดได้ไม่ยาก เพียงรับประทานยาต้านวัณโรคต่อเนื่องตามแพทย์สั่ง ก็จะหายจากโรคและกลับมาแข็งแรงได้ไม่ยาก แม้ยารักษาวัณโรคอาจก่อให้เกิดอาการข้างเคียง เช่น อาการคลื่นไส้อาเจียน ตัวเหลือง หรือเบื่ออาหาร แต่เด็กมีโอกาสเกิดผลข้างเคียงน้อยกว่าผู้ใหญ่ เนื่องจากใช้ปริมาณยาน้อยกว่ามาก คุณพ่อคุณแม่จึงไม่ต้องกังวลและให้ลูกน้อยกินยาตามหมอสั่งได้อย่างสบายใจ ปัญหาของวัณโรคในประเทศไทยที่เป็นกันรุนแรงเกิดจากการกินยาไม่ต่อเนื่อง ทำให้เกิดวัณโรคชนิดดื้อยาซึ่งรักษายากและบางรายไม่สามารถรักษาให้หายได้นั่นเอง
ดูแลลูกไอเรื้อรังไม่ยากอย่างที่คิด
การดูแลลูกน้อยที่มีอาการไอเรื้อรัง เพียงพาลูกน้อยไปรักษากับคุณหมอ ดูแลให้กินยาจนครบ และดูแลเพิ่มเติมตามสาเหตุของอาการไอ เท่านี้ก็สามารถรักษาอาการไอเรื้อรังได้ไม่ยาก
- หากเป็นไอเรื้อรังที่เกิดจากน้ำมูกไหลลงคอ คุณพ่อคุณแม่ควรดูดน้ำมูกออกหรือล้างจมูกให้ลูกน้อย
- หากอาการไอมีสาเหตุจากเสมหะ เพียงให้ลูกน้อยดื่มน้ำอุ่นเยอะๆ เพื่อให้น้ำอุ่นช่วยละลายเสมหะในหลอดลม
- หากเป็นอาการไอแห้งๆ ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากสารระคายเคืองที่อยู่บริเวณจมูกให้หลีกเลี่ยงสารระคายเคือง และล้างจมูกให้ลูกน้อยด้วยน้ำเกลือ เพื่อลดปริมาณสารระคายเคืองที่สะสมในจมูกและลำคอ ก็จะช่วยให้ลูกน้อยไอน้อยลงหรือหายจากอาการไอได้
สุดท้ายนี้คุณหมอฝากคำเตือนถึงคุณพ่อคุณแม่ทุกครอบครัวจากประสบการณ์ของคุณหมอเนื่องจากอาการไอในเด็กวัยเตาะแตะส่วนใหญ่เกิดจากการติดเชื้อไวรัส โดยเฉพาะการติดเชื้อจากแม่หรือคนในครอบครัว แต่คุณพ่อคุณแม่สามารถป้องกันได้ด้วยการชวนทั้งครอบครัวล้างมือเป็นประจำ ให้คนป่วยในบ้านสวมหน้ากากอนามัยเพื่อลดโอกาสการแพร่เชื้อ ดูแลให้ลูกน้อยกินอาหารครบ 5 หมู่ พักผ่อนให้เพียงพอ และพาลูกน้อยไปฉีดวัคซีนให้ครบถ้วน โดยเฉพาะวัคซีนสำคัญสำหรับเด็กแรกเกิดถึง 3 ขวบ เช่น วัคซีนคอตีบ-บาดทะยัก-ไอกรน วัคซีนวัณโรค วัคซีนหัด-หัดเยอรมัน-คางทูม วัคซีนป้องกันปอดอักเสบ และวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ วัคซีนเหล่านี้ช่วยป้องกันการติดเชื้อทางระบบหายใจ หากคุณพ่อคุณแม่ให้ลูกน้อยฉีดวัคซีนเหล่านี้ได้ โอกาสเสี่ยงต่อการติดเชื้อก็จะลดลงไปมากทีเดียวค่ะ
นพ.เฉลิมไทย เอกศิลป์ กุมารแพทย์หัวหน้าศูนย์อภิบาลผู้ป่วยเด็กวิกฤต และกุมารแพทย์ด้านระบบทางเดินหายใจในเด็ก ประจำศูนย์สุขภาพเด็ก โรงพยาบาลพญาไท 3
ภาพประกอบ : shutterstock