การฝึกลูกอาบน้ำเอง หัดทำความสะอาดร่างกายตัวเองตั้งแต่ยังเล็กๆ เป็นสิ่งที่จะช่วยให้ลูกรู้จักมีวินัย ความรับผิดชอบ และช่วยแบ่งเบาภาระของคุณแม่ได้
ทั้งนี้ในเรื่องของการให้ลูกดูแลตนเอง หมายถึง การสอนให้ลูกรู้จักระวังดูแลรักษาร่างกายให้สะอาดปราศจากเชื้อโรค อันตรายที่อาจจะทำให้บาดเจ็บหรือพิการ การดูแลจิตใจให้สดชื่นแจ่มใส รวมไปถึงการระวังภัยจากสังคม เป็นคุณลักษณะสำคัญที่พ่อแม่ควรสอนให้แก่ลูก และเมื่อลูกดูแลตนเองได้จะป้องกันอันตรายที่จะเกิดขึ้นกับตัวเองได้ ก็จะสามารถสร้างความภูมิใจ ความรับผิดชอบให้แก่ลูกได้เป็นอย่างดี
การฝึกลูกอาบน้ำเอง และรู้จักดูแลตนเอง
มีความสำคัญอย่างไร?
การสอนลูกให้ดูแลตนเองมีความสำคัญดังนี้
- เด็กได้มีความรู้เรื่องร่างกายของตนเอง ร่างกายของคนเรามีอวัยวะทั้งภายนอกและภายใน และมีชื่อเรียก อวัยวะมีการทำงานให้เรามีชีวิต มีจิตใจ มีความรู้สึกที่ทำให้เราทำกิจกรรมต่างๆ
- เด็กได้รู้จักพึ่งตนเอง การที่เด็กได้ดูแลตนเอง เด็กจะได้เห็นความสามารถของตนเอง เป็นการปลูกฝังความมั่นใจและความรับผิดชอบให้เด็ก
- ครอบครัวมีความสุข เพราะทุกคนต่างใช้ความสามารถของตนเองทำงานต่อตนเอง ไม่เป็นภาระแก่กัน และเมื่อเด็กดูแลตนเองได้ หมายถึงเด็กสามารถหลีกเลี่ยงสิ่งที่เป็นอันตรายได้แม้จะอยู่ตามลำพัง
- สังคมเป็นสุข เนื่องจากคนแต่ละคนประกอบกันเป็นสังคม และสังคมที่เป็นรากฐานคือครอบครัว คือได้กล่าวมาแล้วว่า ลูกที่สามารถดูแลตนเองได้ จะไม่เป็นภาระแก่ครอบครัว สภาพของคนในครอบครัวไม่เครียดคือมีสุขภาพจิตดี ดังนั้นครอบครัวทุกครอบครัวเป็นสุข จะส่งผลให้สังคมเป็นปกติสุขด้วย เมื่อคนมีความสุขจะปฏิบัติตนด้วยจิตใจดี มองโลกในแง่ดี ต่างปรองดองรักกัน ลด ละความเห็นแก่ตัว และสามารถที่จะรักกันด้วยปัญญาได้ ให้ความรักตามอุดมคติทางพุทธศาสนา คือสามารถที่จะรักกันด้วยปัญญาได้ ลดความเห็นแก่ตัวลง
คุณพ่อคุณแม่ควรเริ่มปลูกฝัง สร้างนิสัยให้ลูกรักรู้จักดูแลรักษาความสะอาดตั้งแต่ยังเล็ก ค่อยๆ ให้ลูกซึมซับเข้าไป เป็นการกระตุ้นการเรียนรู้ และยังเพิ่มศักยภาพให้ลูกอีกทางหนึ่ง เพราะเรื่องสุขอนามัย เป็นเรื่องสำคัญสำหรับร่างกายของลูกน้อย และยังเริ่มฝึกได้ตั้งแต่วัย 1 ขวบ ขึ้นไปเลยนะคะ
⇒ Must read : ชวน ลูกอาบน้ำ แบบสนุกมีความสุขได้ทุกวัน ด้วย 5 สิ่งโดนใจ ไม่มีเบื่อ!
จะรู้ได้อย่างไรว่า แม่สามารถ ฝึกลูกอาบน้ำเองได้แล้ว!
ลองตอบคำถามเหล่านี้ดู เพื่อเช็กว่าคุณสามารถฝึกลูกอาบน้ำเองได้แล้วหรือยัง…
- ลูกไม่ค่อย “เล่นไปอาบน้ำไป” เหมือนตอนยังเล็กๆหรือเปล่า หากลูกให้ความสนใจกับแชมพูสระผมมากกว่าของเล่นลอยน้ำแบบต่างๆ เขาก็น่าจะยอมอาบน้ำฝักบัวเองแทนการอาบในอ่าง (โดยคุณเป็นคนอาบให้)
- ลูกอยากอาบน้ำด้วยฝักบัวเองหรือเปล่า ถ้าใช่… ก็หมายความว่าเขาพร้อมจะอาบน้ำเองได้แล้ว แม้คุณอาจยังต้องคอยอยู่แถวๆ หน้าห้องน้ำเผื่อเขาจะต้องการความช่วยเหลือก็ตาม
- ลูกมีทักษะในการเล่นเครื่องเล่นประเภทปีนป่ายดีแค่ไหน หากลูกรู้วิธีเล่นเครื่องเล่นต่างๆได้อย่างปลอดภัย เขาก็น่าจะทรงตัวบนพื้นห้องน้ำลื่นๆได้ (แต่วางแผ่นกันลื่นไว้ด้วยก็ดีนะ)
- ลูกจะอาบน้ำเองได้สะอาดเหมือนคุณอาบให้หรือเปล่า เด็กส่วนใหญ่มักอาบน้ำเองได้ตอนอายุ 5 หรือ 6 ขวบ แต่ก็ควรให้ลูกลองดูก่อน เพื่อประเมินว่าเขามีความสนใจและความเอาใจใส่มากพอที่จะอาบได้จนสะอาดหมดจดหรือเปล่า
- ลูกจดจำคำสั่งได้ดีแค่ไหน เด็กที่ทำตามคำสั่ง 2-3 อย่างได้ในคราวเดียวโดยไม่ต้องเตือนกันบ่อยๆ น่าจะอาบน้ำเองได้จนเสร็จและสะอาดเรียบร้อยดี
อ่านต่อ >> “นี่คือทักษะการทำความสะอาดร่างกายที่ลูกสามารถทำได้เอง ตั้งแต่ 1-7 ขวบ” คลิกหน้า 2
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
มาทำความสะอาดร่างกายกันเถอะ !
ทักษะการทำความสะอาดร่างกายที่ลูกของคุณสามารถทำได้เองเมื่อถึงวัยอันสมควรมีดังนี้
การสอนลูกวัย 1-2 ขวบ ทำความสะอาดร่างกาย
สำหรับเด็กวัยนี้ อาจเป็นการสอนให้ซึมซับและเคยชินกับการดูแลความสะอาดเท่านั้น อย่าคาดหวังว่าเด็กจะทำความสะอาดร่างกายได้หมดจด และทำได้เองโดยไม่ต้องสั่ง เพราะยังเด็กเกินไปที่จะคิดทำอะไรด้วยตัวเอง คุณยังต้องคอยช่วยลูกจับแปรง ใช้ขัน ถูสบู่อยู่ คอยแนะแนวทางปฏิบัติให้ลูกทีละขั้นตอน และทำให้เป็นกิจวัตร ซึ่งต้องบวกกับความสนุกและใช้เวลาสั้นๆ เพื่อไม่ให้ลูกเบื่อ
3-4 ขวบ แม่จ๋าหนูขอทำเอง
ลูกในวัยนี้จะมีความเป็นตัวของตัวเองมากขึ้น และมีความเชื่อมั่นและต้องการแสดงศักยภาพให้พ่อแม่ได้เห็น สิ่งที่พ่อแม่ควรทำคือต้องเชื่อมั่นลูกด้วย ปล่อยให้เด็กได้หัดทำอะไรด้วยตัวเองบ้าง เช่น ถอดเสื้อผ้า รองเท้า ถุงเท้า ล้างหน้า อาบน้ำ สระผมเอง โดยคอยดูแลอยู่ข้างๆ อธิบายว่าการทำความสะอาดเป็นเรื่องจำเป็นที่ต้องทำทุกวัน เพราะพ่อแม่ก็ทำแบบนี้เช่นกัน
และถ้าลูกยังทำอะไรไม่ดีนัก ไม่ต้องรีบจัดการให้เสียหมดทุกอย่างจนลูกเกิดความเคยชินไม่ยอมทำอะไรด้วยตัวเองอีก และยิ่งถ้าคุณบ่นว่า จะเป็นการลดทอนความมั่นใจของเด็กด้วยค่ะ
แปรงฟัน : อายุที่ควรทำเองได้คือ 5 ขวบ
คุณช่วยลูกได้โดย คอยดูให้แน่ใจว่าเขาไม่ได้แปรงฟันแบบถูไป – มาตามแนวนอนแต่ใช้วิธีแปรงขึ้น – ลงหรือแปรงวนเป็นวงกลมเล็กๆ เด็กวัยนี้มักลืมแปรงฟันด้านในโดยเฉพาะฟันหน้าซึ่งเป็นแหล่งสะสมเชื้อแบคทีเรีย อ้อ! อย่าลืมเตือนให้เขาแปรงลิ้นด้วยทุกครั้งนะคะ
เคล็ดลับ : ตั้งเวลาให้เขาแปรงฟันบน 1 นาทีและแปรงฟันล่างอีก 1 นาที ให้เขาลองนึกภาพฟันแต่ละซี่ที่กำลังยืนเข้าแถวรอให้ช่วยแปรง (และอย่าลืมว่าคุณต้องเป็นคนใช้ไหมขัดฟันให้ลูกไปจนกว่าเขาจะอายุครบ 11 ขวบเป็นอย่างน้อย)
ทำความสะอาดหลังเข้าห้องน้ำ : อายุที่ควรทำเองได้คือ 5 ขวบ
คุณช่วยลูกได้โดย ถ้าลูกยังไม่ค่อยคล่อง ต้องคอยเช็กดูทุกครั้งที่เขาเข้าห้องน้ำถ่ายหนัก เพื่อให้แน่ใจว่าเขาทำความสะอาดดีแล้ว จะได้ไม่เป็นผื่นคันหรือติดเชื้อตามมา
เคล็ดลับ : หากต้องเข้าห้องน้ำสาธารณะที่ไม่มีกระดาษชำระ ต้องสอนลูกผู้หญิงให้เช็ดทำความสะอาดจากด้านหน้าไปด้านหลัง (เศษอุจจาระจะได้ไม่ติดเข้าไปในช่องคลอด) และสอนลูกทั้งสองเพศให้เช็ดทำความสะอาดจนไม่มีอะไรติดกระดาษชำระออกมาอีก (อาจใช้กระดาษชำระแบบเปียกที่ทิ้งในชักโครกได้ เพื่อความสะดวกและหมดจด)
อาบน้ำ : อายุที่ควรทำเองได้คือ 5 – 6 ขวบ
คุณช่วยลูกได้โดย คอยเตือนให้เขาทำความสะอาดในบริเวณที่มักจะลืม เช่น รักแร้ หู และคอ
เคล็ดลับ : เด็กวัยนี้ยังชอบเล่นในอ่าง อาบน้ำ คุณอาจเตรียมของเล่นตอนอาบน้ำที่เหมาะกับวัยไว้ให้ลูก หรือจะแถมสบู่เหลวสีสันสดใสและผ้าถูตัวน่ารักๆ ให้ด้วยก็ยังได้
สระผม : อายุที่ควรทำเองได้คือ 7 ขวบ
คุณช่วยลูกได้โดย คอยควบคุมปริมาณแชมพูที่ลูกใช้ และคอยดูให้ล้างฟองออกจนหมด
เคล็ดลับ : ติดกระจกบานใหญ่ไว้บนผนังห้องน้ำ เขาจะได้ใช้ส่องดูว่าล้างฟองออกหมดหรือยัง หาหมวกสำหรับกันน้ำและแชมพูเข้าตาให้ลูกใส่ถ้าเขายังลูบออกจากหน้าเองไม่เป็น และสอนให้เอนศีรษะไปข้างหลังเมื่อจะล้างฟองออก
อ่านต่อ >> “เทคนิคการสร้างสุขนิสัยในการดูแลความสะอาดของตัวเอง” คลิกหน้า 3
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
การสร้างสุขนิสัยในการดูแลความสะอาด ฝึกลูกอาบน้ำเอง
การสร้างสุขนิสัยในการดูแลความสะอาดของตัวเอง เป็นสิ่งที่คุณแม่มือใหม่ต้องให้ความสำคัญในการสอนลูก ซึ่งทำได้โดย
-
ให้ลูกเลือกอุปกรณ์เอง
ให้ลูกเลือกอุปกรณ์เกี่ยวกับการทำความสะอาดร่างกายไม่ว่าจะเป็นแปรงสีฟัน แชมพู สบู่ ฟองน้ำขัดตัวด้วยตัวเอง แต่คุณแม่ช่วยดูว่าของทุกชิ้นที่ลูกเลือกเหมาะกับช่วงวัยของลูกจริงๆ เช่น แปรงสีฟันสำหรับเด็ก แชมพู สบู่ที่อ่อนโยนต่อผิวบอบบาง เป็นต้น
-
มีอุปกรณ์หลากหลาย
ให้ลูกมีแปรงสีฟัน แชมพู สบู่ ที่หลากหลาย เพื่อเป็นตัวเลือกที่เพิ่มความสนุกตื่นเต้นก่อนเริ่มกิจกรรมได้เหมือนกัน รวมทั้งของเล่นหลอกล่อเล็กๆ น้อยๆ ด้วยยามอาบน้ำ เช่น หมวกคลุมเวลาสระผม ถามลูกว่าอยากได้สีไหน และอธิบายสรรพคุณ เช่น “หมวกเอาไว้ใส่เวลาสระผม กันแชมพูเข้าตาลูกไง ลูกอยากได้สีไหนเลือกไปเลย” หรือผ้าคลุมอาบน้ำน่ารักๆ เพื่อจูงใจให้ลูกอยากอาบน้ำ เป็นต้น
-
ทำเป็นกิจวัตร
ทำให้ลูกคุ้นเคยกับการทำความสะอาดร่างกายเป็นประจำสม่ำเสมอ โดยเลือกเวลาเดิมหรือใกล้เคียงกับเวลาเดิม เช่น อาบน้ำตอนตื่นนอน และก่อนเข้านอนทุกวัน แปรงฟันหลังอาหารทุกครั้ง เป็นต้น
-
พูดจูงใจแทนการบังคับ
ควรหลีกเลี่ยงการบังคับ หันมาใช้วิธีพูดจูงใจแทน เช่น พูดกับลูกว่า “วันนี้มาลองอาบน้ำด้วยสบู่กลิ่นใหม่ที่ลูกไปเลือกซื้อมาดีไหมจ๊ะ” หรือ “วันนี้ลูกอยากใช้แปรงสีไหนแปรงฟันจ๊ะ” หรือ “มาดูสิว่าหลังจากอาบน้ำแล้วใครตัวหอมกว่ากัน” เป็นต้น ถ้าเขายังไม่อยากทำก็อย่าบังคับ ค่อยๆ เป็นค่อยๆ ไปดีที่สุด
-
ทำเป็นตัวอย่าง
เมื่อถึงเวลาอาบน้ำ แปรงฟัน คุณพ่อคุณแม่อาจพูดขึ้นมาลอยๆ ว่า “กินข้าวเสร็จแล้วต้องแปรงฟัน ไปดูคุณแม่แปรงฟันไหมคะ” จากนั้นก็แปรงฟันให้ลูกดู ลูกจะค่อยๆ จดจำ และอยากทำเหมือนคุณบ้าง ตามลักษณะนิสัยชอบเลียนแบบของวัยนี้
-
เล่านิทานเรื่องเด็กรักความสะอาด
ช่วยให้ลูกรับรู้ว่าการดูแลความสะอาดร่างกายเป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องปฏิบัติทุกวัน ฉะนั้นคุณต้องพูดข้อดีให้ลูกเห็นทั้งขณะและหลังทำความสะอาดร่างกายทุกครั้ง
-
เล่น ๆ อาบ ๆ
เด็กๆ ชอบเล่นน้ำอยู่แล้ว ก็ใช้นำมาเล่น เช่น สายฝนด้วยฝักบัวตัวเอง เล่นอาบน้ำให้ตุ๊กตา เป่าฟองสบู่ ตุ๊กตาฟองน้ำ ฯลฯ ลูกจะสนุกและรู้สึกดีกับเวลาอาบน้ำ
-
ชมลูก
สุดท้ายการพูดชมลูกทุกครั้งที่เขาทำกิจกรรมเสร็จ ช่วยเพิ่มความมั่นใจให้ลูกได้ เช่น อาบน้ำแล้วลูกตัวหอมมาก วันนี้ลูกแปรงฟันได้นาน เก่งจริงฟันลูกสะอาดแข็งแรงแน่ๆ เลย เป็นต้น
สอนลูกให้อาบน้ำคนเดียว อย่างไรให้ปลอดภัย
ในสายตาของเด็กวัยนี้ การอาบน้ำในอ่างโดยมีคุณคอยใช้ฟองน้ำถูตัวให้กลายเป็นเรื่องของเบบี๋ไปเสียแล้ว พวกเขาเริ่มอยากอาบน้ำฝักบัวหรืออยากจะอาบคนเดียวบ้าง (ประมาณว่าเริ่มรู้สึกว่าตัวเองเป็นผู้ใหญ่พอ และทำความสะอาดตัวเองได้ดีแน่ๆ นั่นเอง) ซึ่งจริงๆ แล้วลูกวัยนี้สามารถอาบน้ำเองได้ แต่ก็ต้องมีคุณช่วยจัดการบางอย่างเพื่อความมั่นใจว่าลูกจะอาบน้ำคนเดียวได้อย่างปลอดภัย
- พิถีพิถันกับผลิตภัณฑ์อาบน้ำ เช่น เลือกผลิตภัณฑ์ที่ไม่ระคายเคืองตาเพื่อป้องกันการร้องกรี๊ดๆ (เพราะแสบตา) จนทำให้คุณอดใจไม่อยู่ต้องเดินกลับไปดู
- ใส่ขวดให้เหมาะมือ เทสบู่หรือแชมพูใส่ขวดขนาดเล็กเพื่อให้ลูกน้อยถือและบีบใช้ได้ง่ายด้วยตัวเอง
- เรื่องต้องสอน วิธีปรับอุณหภูมิของเครื่องทำน้ำร้อนทั้งร้อนและเย็น แต่แน่นอนว่าคุณต้องเป็นคนตั้งและปรับอุณหภูมิให้เขาก่อน จนกว่าลูกจะสูงถึงตัวเครื่อง
- ของอันตรายเก็บให้พ้นมือ อย่างมีดโกน ครีมโกนหนวด หรือสเปรย์ทำความสะอาดต่างๆ ควรเก็บออกจากห้องน้ำหรือจนกว่าลูกจะหมดช่วงอยากรู้อยากสำรวจต่อไปแล้ว
- ติดตั้งเพื่อความปลอดภัย ผ้ายางกันลื่นมาปูทับบนพื้นกระเบื้องของห้องน้ำกันไม่ให้ลูกน้อยหกล้ม
- เลิกสบู่เหลว ถึงวัยนี้ลูกควรจะเลิกใช้สบู่เหลวได้แล้ว เพราะอาจทำให้เขาลื่นหกล้มได้ เลือกสบู่ก้อนเล็ก ลวดลายน่ารักให้เขาลองใช้จะเหมาะกว่า
อ่านต่อ “บทความดี ๆ น่าสนใจ” คลิก!
- สร้างวินัยเด็กอนุบาล อย่างไร? ให้ได้ผลดี
- อยากให้ลูกฉลาด ต้องรู้จักปล่อยให้ลูกกินข้าวและดื่มน้ำเอง
- 7 ทักษะฝึกลูกก่อนถึง เกณฑ์อายุเข้าอนุบาล 3 ขวบ
ขอบคุณข้อมูลดี ๆ จาก : taamkru.com