AMARIN Baby And Kids – เพื่อลูกฉลาดและมีความสุข

เตือนลูกฟันผุ พัฒนาการล่าช้า-เตี้ยแคระแกร็น

กรมอนามัย เผย เด็กไทยฟันผุถึง 78.5% ส่งผลพัฒนาการล่าช้า เตี้ย แคระแกร็น … ชี้คุณภาพแปรงเด็กตกมาตรฐาน พบหัวแปรงใหญ่ ปลายขนคม คด ขนแปรงหลุดร่วงง่ายสถานการณ์ฟันผุในเด็กไทย ถือว่าน่าเป็นห่วง จากการสำรวจพบว่าเด็กไทยมีปัญหาฟันผุตั้งแต่อายุ 9 เดือน และจะผุมากขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงอายุ 1 – 3 ขวบ นอกจากนี้ ข้อมูลสุขภาพช่องปากคนไทยปี 2555 พบว่า เด็กอายุ 3 ปี มีปัญหาฟันผุ ร้อยละ 51.7 หรือมีฟันผุเฉลี่ย 2.7 ซี่ต่อคน ในขณะที่เด็กอายุ 5 ปี มีปัญหาฟันผุ ร้อยละ 78.5 หรือมีฟันผุเฉลี่ย 4.4 ซี่ต่อคน ทั้งนี้ ในเด็กที่มีฟันน้ำนมผุมากจะมีแนวโน้มว่าฟันแท้จะผุมากขึ้นตามไปด้วย หากไม่ได้รับการดูแลรักษาอย่างทันท่วงที โรคจะลุกลามและเสียฟันในที่สุด

สำหรับปัญหาฟันผุแม้จะไม่อันตรายถึงชีวิต แต่ก็ไม่ควรมองข้าม เพราะปัญหาฟันผุหลายซี่ในปาก มีความสัมพันธ์กับภาวะ เตี้ย แคระแกร็น ส่งผลให้เด็กมีพัฒนาการล่าช้า เพราะได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ เนื่องจากเวลาฟันผุ ทำให้ไม่อยากเคี้ยวอาหาร ดังนั้น ฟันที่ดีจึงถือเป็นประตูด่านแรกที่ทำให้ได้เด็กที่สุขภาพดีสมส่วน

การแก้ปัญหาเรื่องช่องปากที่ดี ต้องเริ่มจากผู้ปกครองเป็นหลัก ที่ต้องใส่ใจดูแลอย่างใกล้ชิด สอนให้รู้จักการใช้แปรงสีฟันที่ถูกวิธี และใช้แปรงสีฟันที่มีคุณภาพมาตรฐาน ตั้งแต่เด็ก แต่เมื่อเด็กเติบโตขึ้น จะเป็นหน้าที่ของศูนย์เด็กเล็ก และโรงเรียนตามช่วงอายุ ที่ต้องให้การดูแลต่อไป

ทั้งนี้ ทพ.สุธา เจียรมณีโชติชัย รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ช่องปากจะมีสุขภาพดีได้ แปรงสีฟันถือเป็นเครื่องมือสำคัญ โดยเฉพาะในเด็กเล็กที่ผู้ปกครองควรเลือกตามช่วงอายุของเด็กเพื่อความเหมาะสม โดยจะแบ่งเป็นแปรงสีฟันสำหรับเด็กอายุต่ำกว่า 3 ปี แปรงสีฟันเด็กอายุ 3 – 6 ปี และแปรงสีฟันเด็กอายุ 6 – 12 ปี โดยแปรงจะต้องมีขนนุ่ม ไม่ขรุขระ กระจุกแปรงยึดติดกับหัวแปรงแน่นไม่หลุดร่วงง่าย และที่สำคัญ แปรงสีฟันที่เลือกควรเป็นแปรงที่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานกรมอนามัย ซึ่งจะมีตราสัญลักษณ์เป็นรูปดาว

อ่านต่อ >> “การเลือกแปรงสีฟันและยาสีฟันให้เหมาะสมสำหรับลูกน้อย” คลิกหน้า 2

การเลือกแปรงสีฟันและยาสีฟันให้เหมาะสมสำหรับลูกน้อย

ลักษณะของแปรงสีฟันที่ดี

  1. เป็นแปรงหัวตรง มีขนาดเหมาะสมกับช่องปากของเด็ก ขนแปรงมีลักษณะนุ่มและหน้าตัดเรียบ สำหรับด้ามจับควรเลือกให้มีขนาดพอเหมาะสำหรับให้เด็กจับได้ถนัดมือ ซึ่งแปรงสีฟันสำหรับเด็กสามารถหาซื้อได้ทั่วไปทั้งนี้ก็ต้องขึ้นกับการตัดสินใจของคุณพ่อ คุณแม่ที่จะต้องเลือกให้เหมาะสมกับลูกน้อยของคุณ
  2. เมื่อได้ใช้แปรงสีฟันไปได้ระยะหนึ่งควรทำการเปลี่ยนแปรงสีฟันใหม่ ซึ่งโดยปกติควรเปลี่ยนแปรงสีฟันเมื่อใช้ไปนานเกิน 3 เดือน หรือเมื่อขนแปรงมีลักษณะบานออก
  3. สำหรับแปรงสีฟันเด็กที่ไม่ควรเลือกซื้อ คือ แปรงสีฟันที่มีขนแข็งๆ มีความสูงของขนแปรงที่ต่างระดับกัน เนื่องจากจะทำให้เกิดการฉีกขาดของเหงือกและเหงือกร่นได้ ให้เลือกซื้อที่เป็นแปรงสีฟันสำหรับเด็กโดยเฉพาะ

การเลือกยาสีฟันให้กับลูกน้อย

ยาสีฟันที่ควรเลือกใช้ควรเป็นยาสีฟันผสมฟลูออไรด์ เนื่องจากมีประสิทธิภาพในการป้องกันฟันผุได้ดี ซึ่งความเข้มข้นของฟลูออไรด์ที่แนะนำให้ใช้สำหรับผู้ใหญ่คือ 1,000-1,500 ppm. สำหรับเด็กที่อายุน้อยกว่า 6 ปีซึ่งมีโอกาสที่เด็กจะกลืนยาสีฟันได้สูง อันจะก่อให้เกิดฟันตกกระ จึงควรเลือกซื้อยาสีฟันที่มีปริมาณของฟลูออไรด์ประมาณ 500 ppm. แทน

ปริมาณของยาสีฟันที่เหมาะสมสำหรับเด็กแต่ละวัย

อ่านต่อ >> “วิธีการแปรงฟันให้ลูกน้อยอย่างถูกวิธี” คลิกหน้า 3

มาแปรงฟันให้ลูกน้อยอย่างถูกวิธีกันเถอะ

ในการแปรงฟันให้เด็ก หากเด็กอยากแปรงด้วยตนเอง ผู้ปกครองอาจให้เด็กลองแปรงเองดูก่อนพร้อมจับมือช่วยสอนหรือแนะนำ และต้องแปรงซ้ำอีกครั้งให้สะอาด

วิธีการแปรงฟันที่ง่ายและมีประสิทธิภาพดีในเด็กคือเทคนิคการแปรงที่เรียกว่า Horizontal scrub คือวางแปรงในแนวนอน และขยับสั้นๆในแนวนอนประมาณสิบครั้งต่อตำแหน่ง แล้วขยับเลื่อนแปรงไปยังบริเวณถัดไป โดยทำเป็นลำดับจากซ้ายไปขวา และต้องแปรงทั้งด้านนอกและด้านใน ส่วนบริเวณฟันกรามต้องแปรงด้านบดเคี้ยวด้วย โดยวางแปรงลงตรงๆให้ปลายขนแปรงวางอยู่บนด้านบดเคี้ยวของฟัน และขยับแปรงสั้นๆไปมา 20 ครั้ง (ไม่ได้แปรงปัดขึ้นลง เหมือนเพลงที่เด็กๆร้องสมัยก่อน) จากนั้นให้เด็กแลบลิ้นออกมายาวๆ และแปรงลิ้นเบาๆโดยลูบออกมาหลายๆครั้ง จากนั้นให้เด็กบ้วนปากแต่น้อย เพื่อให้ฟลูออไรด์ของยาสีฟันยังคงเหลืออยู่ในช่องปากมากที่สุด สุดท้ายให้ผู้ปกครองใช้ไหมขัดฟัน (Dental floss) ทำความสะอาดบริเวณซอกฟันที่ติดกันทั้งฟันหน้าและฟันหลังไล่ไปตามลำดับเหมือนลำดับการแปรงฟันทั่วทั้งช่องปาก

ขอขอบคุณข้อมูลและภาพจาก : เกร็ดความรู้ประจำเดือน มกราคม 2558 ชื่อคลินิก คลินิกทันตกรรมสำหรับเด็ก ชื่อเรื่อง มาแปรงฟันให้ลูกน้อยอย่างถูกวิธีกันเถอะโดย อาจารย์ ทันตแพทย์หญิง ฤดี สกุลรัชตะ


ข้อมูลอ้างอิง : www.info.dent.nu.ac.th , www.manager.co.th