AMARIN Baby And Kids – เพื่อลูกฉลาดและมีความสุข

ทำอย่างไรไม่ให้เบื่อ เมื่อต้องเล่นเกมแบบเด็กๆ

ถึงอย่างนั้นคุณก็ไม่ควรละเลยที่จะเล่นกับลูก ไม่อย่างนั้นเจ้าตัวเล็กอาจเข้าใจไปว่าเขาไม่มีความสำคัญกับคุณ

 
เล่นแบบเด็กอย่างไรไม่ให้ (ผู้ใหญ่) ทรมานใจมากนัก ไปดูกันดีกว่า

 

 

 
เปิดใจรับ

 
ลองพาตัวเองเข้าไปในโลกของเด็กอีกครั้ง ใช้จินตนาการให้มากกว่าเหตุผล ถ้าคุณเล่นกันในบ้าน ยิ่งไม่ต้องกังวลใหญ่ว่าภาพลักษณ์ของ “คนโตๆ” อย่างคุณจะเสียหาย แล้วคุณก็จะค่อยๆ สนุกกับการเล่นกับลูกไปได้เอง สำคัญว่าให้ใส่ความตั้งใจเข้าไปด้วย เวลาเล่นกับลูก ทุ่มเทกับเขาให้เต็มที่ อย่าล้างจานไปด้วย ดูโทรทัศน์ไปด้วยเชียวเรียนรู้การเล่นในแบบของลูก

 
เด็กๆ มีไอเดียในการเล่นของเขาอยู่แล้วคุณจึงไม่จำเป็นต้องเป็นคนตั้งกติกาไปเสียทุกเกม แต่ถ้าคุณรู้สึกเบื่อเกมที่เขาคิดขึ้นมาเต็มที ก็ให้ชวนเขาเล่นเกมใหม่ แต่ถ้าลูกไม่เอาด้วย อย่าไปบังคับเขาเลย (อีกสักพักหนูน้อยก็เบื่อเกมที่เล่นอยู่ไปเองแหละ)บอกขีดจำกัดของคุณแก่ลูก

 
ให้ตั้งเป้าไว้ว่า จะต้องเล่นกับลูกด้วยความเต็มอกเต็มใจ อย่างน้อยก็สักระยะหนึ่ง เพราะถึงแม้จะเป็นช่วงสั้นๆ แต่จะทำให้ลูกรู้สึกดีมากกว่าการที่คุณเล่นกับเขานานๆ แต่ทำหน้าเบื่อโลกเต็มทน

 
หากเล่นไปสักพัก แล้วเกิดอาการง่วงเหงาหาวนอนหรือเริ่มกระสับกระส่าย ให้รีบบอกลูกก่อนคุณจะเก็บอาการหงุดหงิดไว้ไม่อยู่ เช่น “เราอาบน้ำให้คุณหมีมาสองรอบแล้ว เดี๋ยวไปอ่านนิทานกันดีกว่านะลูก” หรือ “แม่แมวเหมียวกับลูกแมวเหมียวเหลือเวลาเล่นกันอีกแค่เกมเดียวนะจ๊ะ ต่อไปแม่แมวเหมียวจะต้องไปเตรียมอาหารเย็นแล้วจ้า”

 

 

 
เป็นฝ่ายเลือกเกมเองบ้าง

 
พ่อแม่บางคนอาจจะไม่ชอบเล่นเกมสมมุติ (เช่น เล่นเป็นคุณพยาบาล แม่ค้า ฯลฯ) แต่สนุกกับเกมทดลองมากกว่า บางคนอาจชอบอ่านหนังสือ แต่ทนไม่ได้ถ้าจะต้องมาเล่นรถแข่งกับเจ้าตัวเล็ก

 
เวลาลูกทำท่าเว้าวอนว่าอยากเล่นอะไรสักอย่าง แต่ยังนึกไม่ออกว่าสักอย่างที่ว่าคืออะไร ก็ให้คุณฉวยโอกาสเสนอเกมในแบบที่คุณชอบได้เลย เจ้าตัวน้อยอาจจะสนุกกับเกมของคุณมากๆ ก็ได้ ใครจะรู้

 

 

 
อยู่ใกล้ๆ เวลาเขาเล่น

 
บางครั้งการมีพ่อแม่นั่งอยู่ใกล้ๆ ก็ทำให้หนูน้อยพอใจได้แล้ว เขาก็เล่นตามประสาเขาไป ส่วนคุณก็ “เล่น” ตามประสาผู้ใหญ่อยู่ใกล้ๆ กัน (อาจจะทำบัญชี ตอบอีเมล หรือจัดการธุระอะไรก็ว่ากันไป) พอมีคุณอยู่ใกล้ๆ เวลาลูกอยากให้ใครมาช่วยชิมซุป (ของเล่น) หรือคุยกับลูกของเขา (ตุ๊กตา) คุณก็จะได้ปลีกเวลาไปเป็นเพื่อนเล่นให้ลูกทันท่วงที

 
สลับหน้าที่ จากที่ลูกเคยเป็นฝ่ายขอให้ไปเล่นด้วย คุณอาจจะเป็นฝ่ายชวนเขามาเล่น “เกม” ของคุณบ้าง เช่น ให้เขาช่วยถอนหญ้า แยกผ้าที่จะซัก หรือออกกำลังกายด้วยกัน ซึ่งลูกอาจจะชอบสุดๆ หรือเบื่อบ้างในบางกิจกรรม (เหมือนอย่างที่บางทีคุณก็ไม่ชอบเล่นสนุกในแบบของเขาอย่างไรล่ะ)

 

 

บทความโดย: กองบรรณาธิการนิตยสารเรียลพาเรนติ้ง