อันที่จริง เราพ่อแม่ก็อดดีใจอยู่ลึกๆ ไม่ได้เวลาที่ลูกแสดงอาการ “ติด” เรา แต่ครั้นพออาการ “ติดแม่” ของลูกออกจะดราม่ามากเข้า ถึงกับร้องไห้งอแงเวลาที่แม่หรือพ่อลับสายตา ความดีใจก็มักจะเปลี่ยนไปเป็นความกลุ้มใจกับอาการที่มากมายขึ้นของลูกแทน.. มาทำความเข้าใจลูกกันดีกว่าค่ะ
ทำไมลูกถึง “ติดแม่”?
• เพราะกลัวแม่ทิ้ง
อาการ “ติด” ของหนูๆ ทั้งหลายมาจากความรู้สึกกังวลต่อการพรากจาก หรือที่เรียกกันว่า Separation Anxiety ดร.เอริน บอยด์-ซอยสัน ผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาการมนุษย์ อธิบายว่าอาการ “ติด” พ่อแม่หรือคนที่ทำหน้าที่ดูแลของลูกมักจะเกิดขึ้นกับเด็กตั้งแต่อายุ 8 เดือนขึ้นไป จนถึง 3 ขวบ เพราะเด็กในวัยนี้จะยึดว่าพ่อแม่ หรือผู้ที่ทำหน้าที่ให้การดูแลคือแหล่งรวมความรักและความมั่นคงปลอดภัย
อ่านต่อ “คนอื่นๆ ดีแค่ไหน ก็แทน ‘พ่อแม่’ ไม่ได้!” หน้า 2
มีแค่ “พ่อแม่” เท่านั้น ที่จะทำให้ลูกมั่นใจ
เด็กวัยเตาะแตะยังเล็กเกินกว่าจะรู้จักเรื่องเวลา สำหรับหนูน้อยวัยนี้ การต้องอยู่คนเดียวในห้องเพียงไม่กี่นาที หรือการไปอยู่ที่เดย์แคร์สองสามชั่วโมงนั้น ไม่ทำให้เกิดความรู้สึกที่แตกต่างกันเท่าไร สิ่งที่พ่อแม่หรือผู้ใหญ่ที่ให้การดูแลควรทำคือ
1. บอกกล่าวให้รู้กันก่อนล่วงหน้า
ด้วยคำพูดที่สั้น กระชับ เด็กเล็กๆ พอเข้าใจได้ เช่น “แม่จะฝากลูกให้คุณครูช่วยดูแทนแม่ ครูจะเล่น และพาลูกนอน พอตื่นมากินนม แม่จะมารับนะ แม่รักลูก” และ
2. กลับมาตามสัญญาเสมอ
จะทำให้หนูน้อยคุ้นชินกับการแยกห่างกันสักพัก โดยไม่กังวล เพราะรู้ว่า “เดี๋ยวก็มา และมาจริงๆ” และ
3. ไม่แอบแว่บหายไปเพราะสรุปเอาเองว่า “ไปแป๊บเดียว”
แต่ให้บอกคนที่คุณฝากลูกไว้ เพื่อเขาจะได้สื่อสารกับลูกน้อย และอยู่เป็นเพื่อน ชวนทำกิจกรรมให้เขาสบายใจ
อ่านต่อ “พอลูกโตขึ้น ก็ติดแม่น้อยลงเอง..” หน้า 3
อาการติด จะทุเลาลงเมื่อโตขึ้น
โดยทั่วไปแล้ว ความกังวลในการพรากจากของเด็กมักจะเป็นไปอย่างไม่หนักหนาสาหัส และทุเลาลงตามอายุที่มากขึ้น และท่าทีของพ่อแม่ ที่จะสร้างความมั่นใจให้เขา ก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ลูก ลดอาการ “ติด” แจ ได้ช้าหรือเร็ว แต่อย่างไรก็ดี อาจมีบางกรณีที่เด็กแสดงออกถึงความกังวลอย่างรุนแรงจนควรพาไปปรึกษาแพทย์ เช่น อาเจียน หรือวิตกกังวลจนไม่เป็นอันทำอะไร
(อ่านเพิ่มเติม 4 สไตล์ “ติด” แม่ ลูกคุณแบบไหน)
บทความโดย: กองบรรณาธิการนิตยสาร Amarin Baby & Kids
ภาพ: Shutterstock