AMARIN Baby And Kids – เพื่อลูกฉลาดและมีความสุข

ไม่ควรพูดกับลูก ด้วย 4 ประโยคนี้ เพราะทำร้ายจิตใจเด็ก

4 ประโยคที่ ไม่ควรพูดกับลูก

ประโยคที่ ไม่ควรพูดกับลูก กับวัยที่แม่เผลอพูดประโยคทำร้ายจิตใจเจ้าตัวเล็กช่างคุย ชวนปวดประสาทและทำให้ฉันคลั่ง!จนระเบิดคำร้ายๆออกไป “เลิกถามโง่ๆสักที ออกไปซะ อย่าทำให้แม่โกรธไปกว่านี้”  ลูกต่างทำหน้าเหวอและร้องไห้จนแม่รู้สึกว่า ไม่น่าพูดคำนี้ออกไปเลย

ไม่มีใครอยากให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้ มาหยุดคำพูดร้ายกับลูกเพราะอารมณ์กันเถอะค่ะ

 

ประโยคที่ 1 
“ออกไปไกลๆเลยแม่กำลังยุ่ง”

“ออกไปไกลๆเลยแม่กำลังยุ่ง”

พูดอย่างนี้อันตรายอย่างไร ผู้เชี่ยวชาญบอกว่า “ยิ่งลูกได้ยินประโยคนี้มากเท่าไหร่ เท่ากับรู้กำลังรู้สึกว่าถูกผลักไสไปจากคุณมากเท่านั้น เพราะเขาจะคิดว่าแม่ไม่อยากคุยด้วย เมื่อไม่ได้คุยกันบ่อยๆ เรื่องที่จะคุยก็น้อยลง ยิ่งโตขึ้นจะยิ่งห่างกันออกไป ทีนี้เวลามีเรื่องอะไรเขาก็จะไม่คิดจะปรึกษาหรือขอความเห็นจากคุณแน่นอน”

ทำอย่างไรดี : ถ้าคุณกำลังยุ่งก็ควรบอกลูกอย่างละมุนละม่อมแต่จริงจัง และหากิจกรรมอื่นให้เขาทำแทน เช่น “ตอนนี้แม่กำลังยุ่งมากๆ ลูกไปนั่งวาดรูปเล่นเงียบๆสักพักนะได้ไหม พอแม่เสร็จแม่จะรีบมาเล่นด้วยเลย

 

อ่านเรื่อง “4 ประโยคที่ไม่ควรพูดกับลูก” คลิกหน้า 2

ประโยคที่ 2
“เด็กอย่างแกมันช่าง…”

“เด็กอย่างแกมันช่าง…”

แม้จะพูดเพราะอารมณ์ มิได้ตั้งใจแต่คำต่อท้ายในทางลบ “ร้าย โง่ ไม่เอาไหน หรือขี้เกียจ” ล้วนเป็นคำที่ทำร้ายจิตใจเจ้าตัวเล็กอย่างร้ายกาจ วิธีที่ดีกว่าคือพูดคุยกับลูกถึงพฤติกรรมของเขาจะดีกว่า เช่น แม่ว่าพีพีต้องเศร้ามากแน่เลยที่ลูกไปบอกทุกคนว่าไม่ให้เล่นด้วย เรามาช่วยกันทำให้พีพีมีความสุขดีกว่ามั๊ย” อย่างนี้ลูกเข้าใจง่ายกว่า “เด็กอย่างแกมันร้าย” ตั้งเยอะซ้ำร้ายถ้าโดนดุแบบนี้ทุกวัน เดี๋ยวเขาก็ร้ายให้ดูจริงๆซะเลย

 

ประโยคที่ 3
“อย่าร้องนะ!”

“อย่าร้องนะ!”

คำว่า “อย่า” ไม่ได้มีผลใดๆ กับเด็ก กลับเป็นยิ่งห้ามเหมือนยิ่งยุมากกว่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งวัยเตาะแตะที่ยังไม่สามารถบอกอารมณ์และความรู้สึกของตัวเองได้ดี เพราะยังมีคำพูดน้อย การร้องไห้จึงเป็นวิธีช่วยป้องกันตัวจากความรู้สึกต่างๆได้ เปลี่ยนมานั่งลงข้างๆ หรือโอบกอดเขาเมื่อลูกและคุณผ่อนคลายลงแล้ว ค่อยไถ่ถามสาเหตุร้องไห้กัน การแสดงความเห็นอกเห็นใจจะทำให้ลูกรู้สึกดีขึ้น

 

 

ประโยคที่ 4
“ทำตัวให้เหมือนพี่เธอบ้างไม่ได้รึไง”

“ทำตัวให้เหมือนพี่เธอบ้างไม่ได้รึไง”

เด็กแต่ละคนล้วนมีความแตกต่างกัน แม้ว่าเขาจะเป็นพี่น้องกันการพูดเปรียบเทียบจึงไม่ได้มีผลดีต่อการปรับพฤติกรรมของเด็กเลยแต่ผู้เชี่ยวชาญก็เห็นว่า “การเปรียบเทียบเพื่อดูพัฒนาการของลูกๆ ก็เป็นเรื่องปกติและทำได้ แต่ไม่ใช่การทำให้น้องเหมือนพี่เพราะจะกลายเป็นความกดดันและเป็นไปไม่ได้ เพราะเด็กคนละวัยกัน เปลี่ยนคำพูดเปรียบเทียบเป็นการให้กำลังใจกับสิ่งที่ลูกกำลังทำอยู่ดีกว่า เช่น ว้าวหนูใส่เสื้อเองได้แล้วเก่งมากจ้า” หรือ”ขอบใจจ้ะลูกบอกได้แล้วว่าอยากเข้าห้องน้ำเจ๋งมาก” เป็นต้น

            รู้อย่างนี้แล้ว ต้องข่มใจตัวเองไม่ให้เผลอพูด ประโยคที่ไม่ควรพูดกับลูก ทำร้ายลูก จนลูกรักเสียความรู้สึก และร้องไห้เสียใจกับคำพูดของแม่ AMARIN Baby & Kids อยากเห็นคุณแม่ใช้วิธีสงบๆ ในการพูดคุยกับลูกๆ นะคะ  แล้วมาพบกันอีกครั้งในบทความหน้าค่ะ^^

บทความโดย: กองบรรณาธิการนิตยสาร  AMARIN Baby & Kids