AMARIN Baby And Kids – เพื่อลูกฉลาดและมีความสุข

8 กิจกรรม เสริมพัฒนาการ วัย 1-3 ปี

ลูกน้อยวัย 2 – 3 ขวบนั้นเปี่ยมด้วยพลังงาน (ล้นเหลือ)  จนบางทีคุณพ่อคุณแม่หัวหมุน แต่ในขณะเดียวกันพลังงานเหล่านี้ก็ช่วยกระตุ้นให้หนูๆ อยากขยับเขยื้อนเคลื่อนไหว สร้างความคล่องแคล่ว ผู้เชี่ยวชาญแนะนำว่า เด็กวัย 2 – 4 ขวบควรพัฒนากล้ามเนื้อทุกส่วน พัฒนากล้ามเนื้อมัดใหญ่ด้วยการวิ่ง กระโดด ยืดเขย่งตัวฯลฯ และพัฒนากล้ามเนื้อมัดเล็ก เช่น กล้ามเนื้อมือ ด้วยการวาดภาพหรือเล่นของเล่นชิ้นเล็กๆ

เรามีกิจกรรมเสริมพัฒนาการและกล้ามเนื้อมัดต่างๆ มาให้ทดลองกันดู

1. เดิน เดินเถิดเรา

ไปเดินเล่น วิ่งช้าๆ หรือแข่งเดินทนในสวนสาธารณะใกล้บ้าน ถ้าเดินเฉยๆ แล้วเบื่อ ลองเปลี่ยนเป็น “เกมล่าสมบัติ” เก็บก้อนหิน หรือใบไม้รูปทรงแปลกๆ มาสะสม(ได้ฝึกทักษะด้านการสังเกตด้วย) ถ้าวันไหนฝนตกก็ทำธงกระดาษอันเล็กๆ เปิดเพลงสนุกๆ แล้วให้ลูกเล่นเดินพาเหรดอยู่ในบ้านก็ได้

2. กระบะทรายหรรษา

ปูกระดาษหนังสือพิมพ์ลงบนพื้นหรือวางกระบะทรายไว้ในสนาม เอาของเล่น เช่น รถพลาสติกหรือตัวต่อไม้มาเตรียมไว้ ลูกจะเอาไปปักบนทรายหรือหยิบย้ายที่เล่นก็ตามสะดวก

3. เล่นน้ำแสนเพลิน

ไม่ว่าจะเป็นเล่นน้ำในสระว่ายน้ำหรือสระพลาสติก ใช้สายยางรดน้ำต้นไม้ หรือช่วยคุณพ่อล้างรถ ก็ช่วยเสริมพัฒนาการหนูๆ ได้ทั้งนั้น แต่ต้องระวังเรื่องความปลอดภัยและอาบน้ำเช็ดตัวให้แห้งทันทีที่เลิกเล่น

4. เล่นลูกบอล

เด็กวัยนี้เล่นลูกบอลแบบง่ายๆ เช่น ขว้าง เตะโยน แล้วผลัดกันรับได้แล้ว แต่อย่าเพิ่งใส่กติกายากๆ เกินกว่าวัยของหนูๆ ละ

5. เกมสมมุติ

ผลัดกันถามว่า “ไหน เป็ดเดินยังไง” หรือ “ลองทำเสียงม้าหน่อยซิ” นอกจากลูกจะได้ใช้จินตนาการปรับเปลี่ยนแขนขาเป็นท่าต่างๆ แล้ว ยังเรียกเสียงหัวเราะอีกต่างหาก

6. ดนตรีผสานจังหวะ

เริ่มต้นจากเพลงง่ายๆ อย่างเพลงช้าง เป็ด หรือแมงมุม ที่เด็กๆ คุ้นเคยอยู่แล้ว ลองเปิดดนตรีหลายๆ แบบให้ลูกฟัง แล้วเต้นประกอบเพลงไปด้วยกัน หรือให้ลองนึกท่าเต้นเข้ากับจังหวะ (ไม่ต้องสนใจเนื้อร้อง) เครื่องดนตรีแบบเด็กเล่นก็ช่วยพัฒนากล้ามเนื้อมัดเล็กเช่นนิ้วมือได้ด้วย

7. สนุกกับเส้นสาย

เอาเชือกมาขึงบนพื้นให้ลูกเดินตามเส้นเชือกโดยสมมุติว่าเป็นลวดกายกรรม ฝึกการทรงตัว

8. เกมเก่าเล่าใหม่

เกมที่คุณพ่อคุณแม่เคยเล่นสมัยเด็ก ไม่ว่าจะเป็น “รีรีข้าวสาร” “ตี่จับ” “ตั้งเต” หรือ “กระต่ายขาเดียว” ยังไม่ล้าสมัย เอาไว้สอนลูกเล่นได้เหมือนกัน

 

บทความโดย: กองบรรณาธิการนิตยสารเรียลพาเรนติ้ง