เลี้ยงลูกให้ฉลาด ทำได้ตั้งแต่ยังเล็ก วัยกำลังวิ่งไม่หยุดนี่แหละที่เป็นช่วงเวลาทองในการสอนลูก Amarin Baby & Kids มี 6 เทคนิควิธีดีๆ จากผู้เชี่ยวชาญด้านสมองที่จะเพิ่มพูนประสบการณ์และความรอบรู้ให้กับลูกน้อยมาฝากค่ะ
1. พูดน้ำไหลไฟดับเวลาอยู่กับลูก
เด็กส่วนใหญ่เรียนรู้คำใหม่ 1 คำต่อสัปดาห์ในช่วงอายุ 1 ขวบครึ่งถึง 2 ขวบ และเมื่อครบ 2 ขวบก็จะพูดได้ 50-100 คำ Tracy Cutchlow ผู้เขียนหนังสือ Brain Rules for Baby บอกว่า ยิ่งพ่อแม่พูดคุยกับลูกเตาะแตะมากเท่าไหร่ ลูกก็จะได้รู้คำมากขึ้นเท่านั้น ไม่ว่าพ่อแม่จะทำอะไรอยู่ ก็บรรยายสิ่งที่ทำให้ลูกฟังไปด้วย เป็นวิธีง่ายๆ ที่ดีมากในการให้ลูกได้เรียนรู้คำใหม่ๆ ทั้งวัน
(อ่านเพิ่มเติม เรากำลังเลี้ยงลูกให้เป็น “ออทิสติกเทียม” ด้วย ทีวี แท็บเล็ต และเร่งเรียน หรือเปล่า?)
แค่ให้ลูกได้ฟังพ่อแม่คุยด้วยอย่างต่อเนื่อง ใช้คำศัพท์หลากหลาย เท่านี้คุณพ่อคุณแม่ก็ช่วยเตรียมพร้อมให้ลูกมีทักษะการอ่าน เขียน และสะกดคำที่ดีขึ้นในอนาคตได้แล้วค่ะ
อ่านต่อ “ข้อ 2 ช่วยลูกเรียนรู้เท่าทันอารมณ์ของตนเอง” หน้า 2
2. ปูพื้นฐานเรื่อง “อารมณ์” ให้ลูก
พัฒนาการด้านความฉลาดทางอารมณ์นั้นสำคัญต่อพัฒนาการทางสติปัญญาและสังคมของลูกเล็ก Ross Flom ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาและประสาทวิทยาที่มหาวิทยาลัยบริกแฮม ยัง บอกอย่างนั้น คุณพ่อคุณแม่เองก็ช่วยให้ลูกเรียนรู้วิธีรู้เท่าทันอารมณ์ของตนเองและผู้อื่น ซึ่งเป็นทักษะชีวิตที่สำคัญมากๆ ได้ค่ะ
สมมติว่าลูกน้อยกำลังเล่นในบ่อทราย แล้วมีเด็กคนอื่นเดินเซมาชนลูก ผศ. Ross บอกว่า “พ่อแม่ควรช่วยให้ลูกเข้าใจว่าสถานการณ์ไหนคืออุบัติเหตุ เพื่อไม่ให้ลูกคิดแค้นและคิดว่าเป็นการตั้งใจทำ” แค่บอกลูกว่า “อ๊ะ เมื่อกี้นี้มันอุบัติเหตุจ้ะลูก” ก็จะช่วยคุมสถานการณ์ได้แล้ว และช่วยให้ลูกคิดได้ว่าเกิดอะไรขึ้นและเข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้น ผศ. Ross เสริมว่า ปฏิกิริยาของลูกก็สำคัญ เพราะเด็กที่คิดว่าเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นเพราะมีคนตั้งใจทำจะมีทักษะการเรียนรู้ สังคม และสติปัญญาไม่ดี
(อ่านเพิ่มเติม 3 เทคนิคเชิงบวก ฝึกลูกเล็กควบคุมอารมณ์ และความรู้สึกให้ได้ผล!)
อ่านต่อ “ข้อ 3 เล่นเกมแบบ “ฉลาดๆ” กับลูก” หน้า 3
3. เล่นกับลูกแบบ “ฉลาดคิด”
การเล่นสมมติแบบผู้ใหญ่เป็นการเล่นแบบหนึ่งที่เน้นฝึกฝนการควบคุมตนเองจากแรงกระตุ้น และการกำกับดูแลตนเอง Tracy Cutchlow ผู้เขียนหนังสือ Brain Rules for Baby แนะนำเกม 2 เกมน่าเล่นกับลูกน้อย เพื่อช่วยให้ลูกเรียนรู้และฝึกฝนการควบคุมตนเองจากแรงกระตุ้นค่ะ
2) สร้างจังหวะ ถ้าลูกไม่พร้อมจะเล่นเกมเกี่ยวกับคำ ก็ลองเปลี่ยนเป็นเสียงดู เช่น คุณพ่อคุณแม่ตีกลองหนึ่งครั้ง แต่กำหนดกฎว่าสลูกต้องตี 2 ครั้ง
จุดประสงค์ของทั้งสองเกมนี้คือการให้ลูกน้อยได้หยุดคิดแวบหนึ่ง และแก้ไขสิ่งที่เขาคิดจะทำเป็นอันดับแรกเสียก่อน (จากในตัวอย่างคือพูดคำตรงกับสิ่งที่เห็น หรือตีกลองเป็นจำนวนครั้งเท่าพ่อแม่) ทั้ง 2 เกมนี้เหมาะกับลูกอายุ 3-4 ขวบ คุณพ่อคุณแม่สามารถคิดเกมแนวนี้ขึ้นมาเองได้ด้วยนะคะ
อ่านต่อ “ข้อ 4 สร้างที่ให้ลูกได้ “สร้างสรรค์” ” หน้า 4
4. สร้างพื้นที่ให้ลูกได้ปล่อยความสร้างสรรค์
คุณพ่อคุณแม่ทุกท่านย่อมอยากได้พื้นที่เล่นของลูกที่ดีที่สุดใช่ไหมคะ? แต่..วางหนังสือแต่งบ้านลงเสีย แล้วมาดูคำแนะนำจาก John Medina นักชีววิทยาโมเลกุลพัฒนาการ และผู้เขียนหนังสือ Brain Rule for Baby กันก่อนค่ะ
John บอกว่าให้คุณพ่อคุณแม่สร้างบรรยากาศที่เหมาะกับจินตนาการ เพื่อให้ความคิดสร้างสรรค์ตามธรรมชาติของลูกพัฒนาได้ดี ไม่ได้หมายความว่าต้องมีของเล่นที่ใหม่ล่าสุด ดีที่สุด แต่เขาบอกว่า แค่กล่องเปล่า และสีเทียนสัก 2-3 แท่งก็อาจเป็นของเล่นที่ดีที่สุดในโลกแล้วก็ได้ แทนที่จะลงทุนกับของเล่น พ่อแม่ควรให้เวลาและจัดพื้นที่ให้ลูกได้ลองทำสิ่งใหม่ๆ มากกว่า
อ่านต่อ “ข้อ 5 ชื่นชมในความพยายาม” หน้า 5
5. ชื่นชมในความพยายาม
ผลวิจัยระบุว่าเด็กๆ จะพยายามมากขึ้นและทำได้ดีขึ้นที่โรงเรียนหากพ่อแม่ชมความพยายามของลูกแทนที่จะชมว่าลูกเก่ง ดังนั้น แม้คุณพ่อคุณแม่จะอยากพูดว่า “ลูกเก่งจริงๆ เลย” แต่สิ่งที่ควรพูดจริงๆ ก็คือ “ลูกคงพยายามมากเลยนะเนี่ย” ให้เน้นสิ่งที่ลูกทำเพื่อให้งานสำเร็จ มากกว่าผลของงาน จะช่วยให้ลูกเชื่อมโยง “ความพยายาม” เข้ากับ “ความสำเร็จ” ได้
การศึกษามากว่า 30 ปี แสดงให้เห็นว่าเด็กๆ ที่เลี้ยงมาในบ้านที่มี “กรอบความคิดที่ก้าวหน้า” จะทำผลการเรียนได้ดีกว่าเพื่อนที่มีกรอบความคิดที่จำกัด
อ่านต่อ “ข้อ 6 แค่ ‘ชี้’ ก็ช่วยให้ลูก ‘ฉลาด'” หน้า 6
6. “ชี้” ให้ลูกดู
ผศ. Ross Flom บอกว่า ตอนลูกทารกอายุ 9 เดือน เขาจะเริ่มหันมองตามนิ้วของคุณพ่อคุณแม่ว่ากำลังชี้ที่อะไร ผลวิจัยชี้ว่าเด็กๆ จะเรียนรู้ภาษาได้เร็วกว่า ถ้าพ่อแม่ชี้ที่วัตถุนั้นๆ ไปด้วยระหว่างที่พูดคำ เช่น นก แล้วในช่วงนี้ลูกน้อยวัยเริ่มเตาะแตะก็เล่นเกม “ชี้แล้วพูดคำ” เก่งเสียด้วย
การมีปฏิสัมพันธ์ด้วยกันแบบนี้เรียกว่า “ความสนใจร่วม” หมายถึง ลูกสามารถสื่อสารกับคุณพ่อหรือคุณแม่เกี่ยวกับบางสิ่ง (หรือบางคน) นอกเหนือจากตัวเองและพ่อ (หรือแม่) เมื่อลูกสามารถทำสิ่งนี้ได้ ผศ. Ross บอกว่า คุณพ่อคุณแม่จะสามารถสื่อสารกับลูกได้ละเอียดและซับซ้อนมากขึ้น
ตัวอย่างเช่น หากพาลูกไปสวนสัตว์ เวลาคุณพ่อคุณแม่ชี้ชวนให้ลูกดูหมีขั้วโลกด้วยกัน ผศ. Ross บอกว่า ให้ “ชี้ที่หมี พูดถึงหมี และอธิบายเกี่ยวกับหมี” ให้ลูกฟัง แค่วิธีง่ายๆ แบบนี้ ก็ช่วยส่งเสริมพัฒนาการด้านสังคม สติปัญญา และภาษาของลูกให้ดีขึ้นได้แล้วค่ะ
6 ข้อที่กล่าวมาข้างต้น ไม่ยากเลยใช่ไหมคะ เมื่อคุณพ่อคุณแม่ลองทำดูก็จะพบว่าลูกเราสามารถพัฒนาทุกด้านได้ในทุกวัน ขอเพียงคุณพ่อคุณแม่รู้เทคนิคที่ถูกต้อง และทำอย่างสม่ำเสมอให้เป็นชีวิตประจำวันเท่านั้นเองค่ะ
ที่มา: babycenter.com
แปลและเรียบเรียง: กองบรรณาธิการเว็บไซต์
ภาพ: Shutterstock