เป็นไปได้หรือ เล่นจั๊กจี้กับลูก จะช่วยเสริมพัฒนาการได้ แล้วต้องเล่นประมาณไหน ที่นี่มีคำตอบ!
คุณพ่อคุณแม่คนไหนชอบแกล้งลูกกันบ้างเอ่ย … รู้นะคะว่า หลังไมค์แอบยกมือกันอยู่ เพราะผู้เขียนก็เป็นคนนึงที่ชอบแกล้งลูกเหมือนกันค่ะ ไม่ว่าจะเป็นการแกล้งแต่งตัว แกล้งให้ลูกขำด้วยการ เล่นจักจี้กับลูก … ที่แกล้งนั้นไม่ใช่เพราะอะไรหรอกนะคะ แต่เป็นเพราะรักและเอ็นดูมากกว่า
ที่เกริ่นนำเรื่องนี้เพราะทีมงาน Amarin Baby and Kids ได้มีโอกาสไปอ่านเจอบทความที่น่าสนใจบทความหนึ่งค่ะ เป็นบทความที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับเรื่องของการ “เล่นจั๊กจี้กับลูก” ค่ะ … ใครเล่าจะไปคิดละว่า การเล่นแบบนี้จะช่วยเสริมพัฒนาการลูกได้ จะเสริมได้อย่างไรนั้น เราจะไปหาคำตอบนี้พร้อม ๆ กันเลยค่ะ
แพทย์หญิงนลินี เชื้อวณิชชากร กุมารแพทย์ด้านพัฒนาการ และพฤติกรรม ได้อธิบายว่า การ เล่นจั๊กกะจี้กับลูก นั้น เป็นการเล่นรูปแบบหนึ่งของเด็ก ที่ช่วยส่งเสริมปฏิสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่ลูก และเสริมสร้างความรักใคร่ผูกพันให้แน่นแฟ้นขึ้น นอกเหนือจากนี้ยังเป็นการเสริมพัฒนาการลูกด้านประสาทสัมผัสและการเคลื่อนไหวได้อีกด้วยนะคะ
แต่ทั้งนี้ต้องเล่นอย่างระมัดระวังด้วยเช่นกัน ไม่ใช่แกล้งลูกจนเกินขอบเขต จนบางทีอาจทำให้ลูกหัวเราะมากจนเหนื่อยหอบได้ ดังนั้น ทางที่ดีที่สุดเวลาเล่นกับลูก อย่าลืมดูท่าทีของลูกด้วยนะคะว่า พวกเขาสนุกไปกับคุณพ่อคุณแม่ด้วยหรือไม่
เพราะลูกอาจจะมีอาการบ้าจี้โดยที่เราไม่รู้ตัวได้ สำหรับเด็กที่มีอาการ “บ้าจี้” คุณหมอได้อธิบายเสริมว่า บ้าจี้ เป็นภาวะที่เด็กรับรู้ไวเกินกว่าปกติ ซึ่งที่เด็กบางคนแค่ถูกสัมผัสเพียงนิดเดียว จะรู้สึกจั๊กกะจี๋ทันทีนั้นเป็นเรื่องของระบบการรับรู้ของสมอง โดยเด็กแต่ละคนจะไวมาหรือน้อยนั้นขึ้นอยู่ที่เด็กแต่ละคนค่ะ เด็กบางคนอาจจะไม่บ้าจี้เลย ผิดกับบางคนที่เล่นนิดเดียวก็ขำแล้วขำอีกจนไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยเลยก็มีค่ะ
จั๊กจี้เกิดจากอะไร?
จั๊กจี้ เป็นความรู้สึกที่ให้ความหมายตรงตัวได้ยากค่ะ แต่ก็มีงานวิจัยชิ้นหนึ่งได้ให้ความหมายของการจั๊กจี้โดยแบ่งเป็น 2 ลักษณะคือ
- ความรู้สึกที่กับคล้ายอาการคันจากการสัมผัสผิวหนังตามร่างกายอย่างแผ่วเบา อาการนี้อาจจะไม่ได้ทำให้ลูกยิ้มหรือหัวเราะ แต่อาจจะทำให้เกิดความรำคาญแทนได้
- ความรู้สึกจากแรงกดซ้ำ ๆ บนร่างกายตามจุดจั๊กจี้ เช่น ซี่โครงหรือบริเวณรักแร้ ที่จะทำให้ยิ้มหรือหัวเราะออกมา
ประโยชน์ของการจั๊กจี้
มีงานวิจัยกล่าวว่า การเล่นจั๊กจี้กับลูก นั้นสามารถสร้างความรู้สึกผ่อนคลายให้กับลูกได้ อีกทั้งยังช่วยบรรเทาอาการซึมเศร้าได้อีกด้วยนะคะ เนื่องจาก ความรู้สึกจั๊กจี้ มีส่วนช่วยบรรเทาอาการปวดเรื้อรังได้ชั่วคราว นอกเหนือจากนี้ ยังส่งผลดีกับพัฒนาการด้านการรับรู้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเด็กเล็กตั้งแต่แรกเกิดถึง 7 ขวบ ที่เรียนรู้โลกผ่านระบบประสาทสัมผัส ไม่ว่าจะเป็นการมองเห็น การได้ยิน การรับรู้รส การสัมผัส การทรงตัว และการเคลื่อนไหว เป็นต้น
เล่นจั๊กจี้กับลูก แบบไหนถึงไม่มากเกินไป?
ถึงแม้ว่าการเล่นจั๊กจี้กับลูกจะมีข้อดี แต่การเล่นเกินไปก็อาจจะส่งผลกระทบกับลูกได้เช่นกัน ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่จึงจำเป็นต้องมีวิธีเล่นที่พอดี ๆ ยกตัวอย่างเช่น
– แกล้งทำท่าขยับนิ้วไปมาใกล้ ๆ ตัวลูก เพียง “สัญญาณ” ของการเล่นจั๊กจี้ ก็เรียกเสียงหัวเราะจากเจ้าตัวเล็กได้แล้ว
– ค่อย ๆ ไต่นิ้วขึ้นไปตามตัวลูก (เกมปูไต่) โดยจะเริ่มไต่จากนิ้วเท้าขึ้นไปถึงพุง หรือจากนิ้วมือขึ้นไปถึงหัวไหล่ก็ได้ จังหวะการไต่ที่สม่ำเสมอ ซึ่งคุณพ่อคุณแม่สามารถคาดเดาได้จะเรียกรอยยิ้มจากลูกได้เรื่อย ๆ หรือจนกว่าจะเบื่อ หิวหรือง่วง
– เล่นเกมแย่งถุงเท้า โดยให้แต่ละคนพยายามถอดถุงเท้าของฝ่ายตรงข้าม พร้อม ๆ กับปกป้องถุงเท้าของตัวเองไว้ให้ได้ (การเล่นสนุกแบบนี้ทำให้ลูกได้เป็นฝ่ายคุมเกมเอง)
– อย่าจี้ลูกแรงจนเกินไป เพราะอาจจะทำให้ลูกเจ็บได้ จนไม่อยากที่จะเล่นอีกก็เป็นได้
สุดท้ายนี้ คุณหมอได้ฝากเรื่อง “การเล่น” กับลูกของพ่อแม่ยุคใหม่ทุกคนว่า “ช่วงอายุตั้งแต่แรกเกิด ถึง 7 ปีนั้น เป็นช่วงที่เด็กเรียนรู้ผ่านระบบประสาทสัมผัส และการเคลื่อนไหว ดังนั้น จึงควรให้เด็กได้มีโอกาสเล่นตามวัย และควรให้ลูกได้อยู่กับธรรมชาติโดยตรง มากกว่าจะให้เล่นกับเครื่องใช้ไฮเทค อย่าง ทีวี คอมพิวเตอร์ ที่มีเสียง แสง ที่อาจเร้าเด็กมากจนเกินไป จนทำให้ลูกสมาธิสั้น มีพัฒนาการไม่สมวัย อีกทั้งยังมีปัญหาด้านอารมณ์และพฤติกรรม รวมถึงการเรียนรู้ได้ ดังนั้น เปลี่ยนจากการปล่อยให้ลูกเล่นมือถือ มาเป็น เล่นจั๊กจี้กับลูก กันเถอะนะคะ
อ้างอิงเนื้อหา: MGR Online และPobpad
บทความโดย: กองบรรณาธิการ Amarin Baby and Kids
บทความอื่นที่น่าสนใจ:
- 20 ของเล่นเสริมพัฒนาการลูก ให้ดียิ่ง ๆ ขึ้น
- งานยุ่ง จนไม่มีเวลาเล่นกับลูก จะพูดกับลูกอย่างไรไม่ให้ลูกเสียใจ
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่