AMARIN Baby And Kids – เพื่อลูกฉลาดและมีความสุข

ลดอาการโวยวาย โมโหร้ายของวัยเตาะแตะ

 

การใจแข็งไม่สนใจอาการโมโหร้ายที่ลูกแสดงออกมาย่อมดีกว่าการให้ความสนใจไม่ว่าจะทางลบ (ดุ ว่า ตี) หรือทางบวก (ปลอบ อธิบาย) จะเป็นผลดีต่อลูกในระยะยาวมากกว่า และเป็นการตอบสนองที่เหมาะสมกับสถานการณ์ซึ่งต้องการการรอคอยสักพัก เพื่อให้ลูกรู้ว่าทำอย่างนั้นแล้วไม่ได้อะไรขึ้นมา ที่สำคัญ ไม่ควรพยายามให้เหตุผลใดๆ แก่ลูกในตอนนั้น เพราะเขาไม่ฟังแน่

 
สิ่งที่ควรทำที่สุด คือ เข้าไปหาเขาอย่างสงบ และแสดงให้ลูกรู้ว่าคุณเข้าใจความรู้สึกเขา ด้วยคำพูดง่ายและสั้น เช่น นั่งลงจับตัวเขาเบาๆ (ถ้าเขายอม) บอกว่า “แม่รู้ / เข้าใจว่าหนูผิดหวังที่ไม่ได้ของเล่น” รอดูท่าทีเขาสักครู่และชวนไปนั่งพักที่ใกล้ๆ

 
เหตุหนึ่งที่ทำให้เด็กวัยนี้โมโหร้าย อธิบายได้ว่า เป็นความรู้สึกขัดแย้งของวัยที่เกิดจากความต้องการมั่นใจในตัวเอง จากความรู้สึกเป็นอิสระ ควบคุมสิ่งรอบตัวได้บ้าง แต่ในความเป็นจริงลูกยังทำอย่างนั้นได้ไม่มากนัก ถ้าคุณช่วยให้เขารู้สึกว่าเป็นอิสระ เป็นตัวของตัวเองได้ในสถานการณ์ปกติ จะช่วยลดอารมณ์รุนแรงของลูกได้ แม้ว่าจะไม่หายไปโดยสิ้นเชิงก็ตาม

 
– สร้างตัวเลือกให้เขา เช่น ถ้าลูกไม่อยากกินยา อาจถามเขาก่อนว่า เขาจะกินน้ำผลไม้หรือไอศกรีมสัก 1 ลูกเล็กๆ หลังกินยา ทางออกที่พอจะจับต้องหรือเห็นได้ย่อมช่วยให้ลูกรู้สึกว่าเขาคุมสถานการณ์บางอย่างได้บ้าง

 
– ให้สถานการณ์หรือคนอื่นๆ สอนลูกเรื่องความผิดหวังบ้าง เพราะบางครั้งการให้เหตุผลของแม่อาจกลับทำให้ลูกวัยนี้รู้สึกว่าโลกนี้ช่างไร้เหตุผลจริงๆ เพราะเขาเข้าใจว่านี่เป็นเหตุผลสำหรับการกระทำของคุณ และพอเขารับรู้ได้ว่า เพราะอะไรคุณถึงปฏิเสธ เขาจะรู้สึกต่อโดยอัตโนมัติว่าที่คุณอธิบายกับเขาก็เพื่อจะให้เขายอมนั่นเอง

 
– ใช้คำบอกความรู้สึกพูดกับลูกจะช่วยได้มากกว่า เพราะเด็กวัยขวบต้นๆ เพิ่งเริ่มใช้ภาษาสื่อสาร ขณะที่เขามีความต้องการ และความรู้สึกต่างๆ เกิดขึ้นมากมายในแต่ละวัน ทว่า ยังไม่อาจบอกออกมาได้อย่างที่รู้สึก จึงเป็นช่วงวัยที่อึดอัดใจได้ง่าย

 
การใช้คำบอกความรู้สึกจะช่วยลูกเรียนรู้และบอกได้ในที่สุดเมื่อเขาโกรธ ผิดหวัง เสียใจ แทนที่จะร้องกรี๊ดๆ และตะโกน หากคุณช่วยให้ลูกพัฒนาวิธีการสื่อสารความรู้สึกได้มากขึ้น ก็มั่นใจได้ว่าอาการโมโหร้ายของลูกจะลดลงแน่นอน

 

บทความโดย: กองบรรณาธิการนิตยสารเรียลพาเรนติ้ง