เด็กเล็กๆ ก็เหมือนผู้ใหญ่ คือ มีอารมณ์และบุคลิกภาพเป็นของตัวเอง แม้ว่าเด็กวัยนี้ส่วนมากจะชอบออกไปเล่นนอกบ้านแต่อย่าลืมว่าบางคนก็ยังไม่ชอบเล่นร่วมกับคนอื่นๆ และไม่อยากออกไปนอกบ้าน ปัญหาแก้ได้ง่ายมากถ้าคุณรู้ว่าสาเหตุที่ลูกไม่ชอบออกจากบ้านคืออะไร
ไม่ชอบออกโดยไม่รู้ล่วงหน้า เช่น แทนที่คุณจะบอกว่า “ไปซื้อของที่ห้างกันเถอะ” ก็ควรบอกให้ลูกรู้ตัวล่วงหน้าก่อน “เดี๋ยวพอกินข้าวเสร็จแล้วเราออกไปห้างสรรพสินค้าด้วยกันนะ” เป็นการเผื่อช่วงเวลาให้ลูกได้เตรียมพร้อมเจอกิจกรรมใหม่
ไม่อยากแยกจากของเล่นชิ้นโปรด ถ้าเวลาออกนอกบ้านแล้วคุณอนุญาตให้ลูกนำของชิ้นโปรด เช่น ตุ๊กตา ผ้าห่ม ติดตัวไปได้ก็จะช่วยให้ลูกออกจากบ้านง่ายขึ้น
ไม่อยากเปลี่ยนกิจกรรม เด็กบางคนมีความสุขเมื่อได้เล่นเงียบๆ คนเดียว เช่น วาดรูป ระบายสี คุณก็บอกลูกว่าเขาสามารถนำกระดาษกับสีออกไปวาดที่สนามเด็กเล่นได้เหมือนกัน
กิจกรรมมากเกินไป เพราะบางคนรู้สึกว่าเขาไม่มีเวลาอยู่บ้านเลย เช่น ไปเนิร์สเซอรี่เสร็จแล้วคุณแม่ก็พาไปห้าง ไปสนามเด็กเล่นอีก ซึ่งเขาอาจจะอยากอยู่เงียบๆ ที่บ้าน หากเป็นเช่นนี้คุณก็ควรเข้าใจและให้ลูกได้อยู่บ้านบ้าง
เผชิญหน้าความกลัว ลูกอาจจะมีประสบการณ์เลวร้ายที่คุณไม่เคยรู้ เช่น กลัวสุนัขของเพื่อนบ้าน หรือเคยได้ยินใครเล่าว่ามีรถชนที่ข้างบ้าน อธิบายให้เขามั่นใจว่า เมื่ออยู่กับคุณ คุณจะไม่ปล่อยให้เกิดอันตรายขึ้น
อย่าตำหนิหรือวิจารณ์เปรียบเทียบ เช่น “เด็กคนไหนๆ ก็ชอบออกไปเล่นที่สนามเด็กเล่นทั้งนั้นนะลูก ทำไมถึงอยากอยู่แต่ในบ้าน”ซึ่งจะทำลายความมั่นใจในตัวเองของลูกและอาจทำให้เขาต่อต้านการออกจากบ้านมากขึ้นด้วย
บทความโดย: กองบรรณาธิการนิตยสารเรียลพาเรนติ้ง