AMARIN Baby And Kids – เพื่อลูกฉลาดและมีความสุข

ลูกล้มหัวฟาดพื้น อุบัติเหตุใกล้ตัวลูกน้อย

มีคุณแม่คนหนึ่งโพสต์เล่าเรื่องราวของลูกชาย เมื่อ ลูกล้มหัวฟาดพื้น เพราะตกจากที่นอนสปริงธรรมดา แล้วศีรษะฟาดพื้น ตอนแรกลูกน้อยร้องไห้ตามปกติ คุณพ่อก็อุ้มขึ้นมาปลอบ จนลูกชายนอนดูดน้ำ แล้วอีกสักพักก็ร้องไห้ขึ้นมาอีก คุณพ่อจึงอุ้มลูกขึ้นมาอีกครั้ง พบว่าลูกมีอาการชักเกร็ง

หลังจากที่ ลูกล้มหัวฟาดพื้น

คุณพ่อของหนูน้อยจึงรีบพาลูกชายไปโรงพยาบาล เมื่อไปถึงคุณหมอส่งตัวไปเอ็กซเรย์ หนูน้อยหมดสติไม่รู้เรื่องแล้ว ในผลเอ็กซเรย์พบว่ามีเลือดออกในสมอง เนื่องจากโดนแกนสมอง มีเลือดคั่งอยู่รอบสมอง คุณหมอไม่ผ่าตัดให้เนื่องจากสภาพร่างกายของหนูน้อย ม่านตาไม่ตอบสนอง คุณหมอแจ้งว่าสมองของลูกชายตายแล้ว เหลือเพียงหัวใจที่ยังเต้นอยู่ อวัยวะอื่นๆ จะค่อยๆ หยุดการเจริญเติบโต แล้วเสียชีวิตไปเอง คุณพ่อ คุณแม่ใจแทบสลาย

เรื่องราวนี้คงเป็นอุทาหรณ์ให้คุณพ่อ คุณแม่ได้เป็นอย่างดี ให้ระมัดระวังความปลอดภัยให้ลูกน้อย โดยเฉพาะที่นอนแบบสปริง ระมัดระวังที่สิ่งของที่อยู่ตามพื้นที่อาจทำให้ลูกน้อยสะดุด ไม่ปล่อยให้ลูกปีนป่ายในที่สูงเกินไป

อ่านต่อ “วิธีสังเกตหลัง ลูกล้มหัวฟาดพื้น” คลิกหน้า 2

วิธีสังเกตหลัง ลูกล้มหัวฟาดพื้น

การที่ ลูกล้มหัวฟาดพื้น เป็นเรื่องที่พบบ่อยในเด็กวัย 2-3 ขวบ เพราะเป็นวัยกำลังซน กล้ามเนื้อกำลังพัฒนา วิ่งเล่นได้ทั้งวัน แต่ขาดความระมัดระวัง และไม่ค่อยฟังคำห้ามปรามของผู้ใหญ่ จึงมักจะทำให้เกิดการบาดเจ็บอยู่เป็นประจำ แต่ส่วนใหญ่มักจะบาดเจ็บแค่เพียงเล็กน้อย คือร้องไห้แล้วเล่นต่อได้อีก เด็กบางคนอาจจะอาเจียนประมาณ 1 ครั้ง เพราะร้องไห้หนักมาก เนื่องจากหัวโน หรือมีแผลเลือดออก แต่ไม่กระทบกระเทือนทางสมอง ต้องการแค่คำปลอบโยน ประคบเย็น หรือทำแผล ก็จะดีขึ้น

แต่ถ้าลูกมีอาการ หมดสติ เรียกไม่รู้ตัว ชัก รูม่านตาขยายไม่เท่ากัน พูดไม่ชัด เดินเซ กล้ามเนื้ออ่อนแรง อาเจียนมากกว่า 1-2 ครั้ง มีน้ำ หรือเลือกออกทางหู หรือจมูก กะโหลกยุบ ก็แสดงว่ามีความผิดปกติ อาจมีภาวะเลือดคั่งในสมอง หรือสมองบวม คุณพ่อ คุณแม่ ควรรีบพาไปพบแพทย์ เพื่อจะได้มีการตรวจร่างกายอย่างละเอียด ส่งเอ็กซเรย์สมอง และได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที

เด็กบางคนอาจจะไม่มีอาการผิดปกติที่ชัดเจน เพราะอาจมีเลือดคั่งในสมองแบบช้าๆ มีการบ่นว่าปวดศีรษะ แต่ไม่หายปวดสักที อาการไม่ดีขึ้นแม้จะรับประทานยาแก้ปวดแล้วก็ตาม ในเด็กเล็กอาจจะแสดงออกโดยการร้องกวน เอามือจับศีรษะ ไม่ค่อยเล่น ดูง่วงซึม นอนมากผิดปกติ หรือลุกลี้ลุกลนผิดปกติ

คุณพ่อ คุณแม่ควรสังเกตลูกน้อยอย่างใกล้ชิด เพื่อที่จะได้รีบพาลูกน้อยไปรักษานะคะ

เครดิต: Cartoon’z Suchada

อ่านเพิ่มเติม คลิก!!

8 สัญญาณเตือนโรคเลือดออกในสมอง

ลูกน้อยตกเตียง ช่วยเหลืออย่างไรไม่ให้เสียชีวิต?

อุ้มโยน เขย่า ดึงแขน อันตรายกับลูกน้อยกว่าที่คิด