AMARIN Baby And Kids – เพื่อลูกฉลาดและมีความสุข

มาสอนลูกน้อยหัดพูดกันเถอะ

Q : ลูกชาย 1 ขวบ 4 เดือนแล้วค่ะ พัฒนาการทางกายไม่น่าเป็นห่วง กินเก่ง น้ำหนักดีอยู่ในเกณฑ์ เวลาพูดคุยกัน เขาก็โต้ตอบและเข้าใจได้ดี บอกให้ทำอะไรก็เข้าใจทำตามที่บอก แต่ไม่ยอมพูดเป็นประโยคยาวๆ ค่ะ จะพูดเป็นคำๆ เช่น พ่อ แม่ จ๊ะ หรือถ้าเป็นคำมีหลายพยางค์ ก็จะพูดพยางค์เดียว ควรแก้ไขอย่างไรดีคะ ต้องพาไปตรวจพัฒนาการช้าหรือไม่ อย่างไร

 

 

 
จากที่คุณแม่เล่ามา พัฒนาการน้องอยู่ในเกณฑ์ปกติดี ไม่มีอะไรต้องกังวลค่ะ พูดกันรู้เรื่อง มีการตอบโต้เป็นสัญญาณที่ดีมากๆ เลยนะคะ แสดงว่า ทักษะการพูดและความเข้าใจภาษาก้าวหน้าค่ะ

 
แทนที่จะกังวล เรามาช่วยกันเสริมทักษะการพูดของลูกน้อยกันดีกว่าค่ะ และจะให้ดีนอกจากคุณแม่แล้ว สมาชิกผู้ใหญ่คนอื่นๆ ในบ้านเป็นกำลังเสริมได้ทุกคนค่ะ เริ่มจาก…

 

ขอเวอร์ชั่นพูดช้าและชัดบ้าง เรายังคงพูดคุยกับลูกเป็นปกติ พูดคุยเล่นหยอกล้อกันแต่จังหวะไหนที่คุณรู้ตัว ช่วยพูดให้ช้าลงและออกเสียงให้ชัดหน่อย เพราะเด็กๆ จะฟังเสียงไปพร้อมมองและจดจำรูปปากถูกแล้วค่ะ เขากำลังจดจำเพื่อเลียนแบบนั่นเอง

 

ทุกอย่างรอบตัว คุยกันได้หมด ทั้งสิ่งที่ลูกกำลังทำในกิจวัตรประจำวันต่างๆ (ซึ่งช่วยสอนเรื่องระเบียบวินัยให้ลูกไปด้วยในตัว) สิ่งแวดล้อมตั้งแต่ใต้ดินถึงท้องฟ้ากว้าง หรือจะบอกเล่าสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ทำมาในแต่ละวันก็ยังได้)

 

เล่าเรื่องจากนิทานภาพ ลูกสาวโน้ตทั้ง 2 คน ชอบมากๆ เขาฟังกันมาตั้งแต่แบเบาะ นิทานช่วยเสริมพัฒนาการรอบด้านรวมทั้งด้านทักษะภาษาได้เป็นอยางดี เป็นแหล่งคลังศัพท์ที่หลากหลาย คำกลอน คำคล้องจอง การเล่นเสียงโทนสูงต่ำ เสียงเล็กเสียงน้อยต่างๆ สารพัด

 

 

 
Tips

 
โน้ตมีเคล็ดลับทำให้พ่อแม่ลูกมีความสุขร่วมกันในโลกของหนังสืออย่างง่ายๆ เรื่อง “อุ้มลูกนั่งตัก สื่อรักด้วยหนังสือ” จากมูลนิธิหนังสือเพื่อเด็กมาฝากค่ะ

 
1 จัดมุมหนึ่งในบ้านให้เป็นมุมหนังสือ ลูกต้องการหนังสือเมื่อไหร่ มาหยิบจากมุมนี้ได้อย่างสะดวกด้วยตัวเอง

 
2 บรรยากาศในบ้านต้องเอื้อ เช่น ปิดโทรทัศน์แล้วเปิดหนังสือทุกวันหลังอาหาร

 
3 อุ้มลูกนั่งตัก หากทำอย่างสม่ำเสมอ ในทุกสถานที่ไม่จำกัด ลูกจะรู้ว่าทุกครั้งที่หยิบหนังสือ คือช่วงเวลาแห่งความสุขและอบอุ่นในตักพ่อตักแม่

 
4 อ่านออกเสียงสูงๆ ต่ำๆ หรือถ้าไม่ถนัดก็อ่านเป็นโทนเสียงเดียวก็ได้ และชี้ชวนให้เด็กดูภาพ พร้อมกอดสัมผัส หยอกเย้าเด็กไปด้วย

 
5 กรณีที่ยังอ่านไม่ออกหรืออ่านไม่คล่อง ให้ใช้ภาพในหนังสือชี้ชวน พูดคุยกับเด็ก

 
6 ใส่ใจและตอบรับทุกครั้งที่เด็กแสดงความต้องการอ่านหนังสือ

 
7 อ่านหนังสือทุกวัน วันละ 5-15 นาที

 

 

บทความโดย: โน้ต-ณัฐกานต์ ประสพสายพรกุล