ฝึกลูกวัย 1-3 ขวบ รู้จัก ‘รอ’ - Amarin Baby & Kids

ฝึกลูกวัย 1-3 ขวบ รู้จัก ‘รอ’

Alternative Textaccount_circle
event

เข้าสู่วัยเตาะแตะความสนอกสนใจทุกอย่างตลอดเวลาของลูกวัยนี้ทำให้ความอยากมีมากมายไปด้วย และพอไม่ได้อย่างใจ ลูกวัยนี้ก็พร้อมออกท่าไม้ตาย ร้องไห้โวยวาย ได้ในพริบตา ซึ่งมักจะได้ผลกับพ่อแม่เสียด้วย

 

Challenge # 1 : พ่อแม่ผู้รู้ใจ

ไม่ใช่โรคติดต่อแต่พ่อแม่เป็นกันค่ะ แค่ลูกปรายตามอง อยากได้อะไร คุณพ่อคุณแม่ก็รีบหยิบมาให้ทันที เรียกว่าเป็นผู้รู้ใจลูกจนน่าชื่นชม น่าจะแฮปปี้เอ็นดิ้งๆ “แต่คุณรู้หรือไม่ว่าการตอบสนองไวเกินไปทำให้ลูกรอคอยไม่เป็น แถมข่าวเศร้าทักษะภาษาของลูกจะเนิ่นช้าออกไปอีกด้วย เพราะไม่ต้องพูดอะไร แค่มองก็มีคนเอามาให้ แล้วจะพูดทำไมให้เมื่อย เลือกไม่พูดก็ได้นี่นา”

เอาตัวรอดกันดีกว่า : “หัดยื้อเวลาเสียหน่อย เช่น ลูกชี้ไปที่ขวดนม คุณพ่อคุณแม่แกล้งทำท่างงใส่ พร้อมถามว่า “อะไรเหรอลูก” หรือลูกอยากจะได้ลูกบอลที่อยู่ข้างๆ ตัวเรา เราก็ดึงเวลาหน่อยด้วยการนับ หนึ่ง สอง สาม แล้วค่อยยื่นให้ ลูกจะเริ่มรู้ว่าบางครั้งอยากได้อะไร ก็ต้องรอหน่อยนะ”

 

Challenge # 2 : แค่ขยับก็นึกว่าลูกอยากได้

ธรรมชาติของเด็กวัยเตาะแตะคือการสำรวจสิ่งต่างๆ รอบตัว ชอบหยิบจับ คว้า สัมผัส และรื้อค้น ไม่ว่าอะไรก็รู้สึกแปลกใหม่และอยากรู้อยากเห็นไปหมด เพราะเขายังไม่เคยพบเห็นมาก่อน ยิ่งออกไปนอกบ้านยิ่งตื่นเต้นดีใจใหญ่ เดินไปไหนก็จะคว้าจะจับไปทุกสิ่ง “มีคุณพ่อคุณแม่จำนวนมากเข้าใจผิดนึกว่า ความสนใจนั้นหมายความว่าลูกอยากได้จึงซื้อให้ทุกครั้ง พอไปห้างสรรพสินค้า เห็นอะไรก็ร้องเพราะอยากได้ไปหมด โดยลืมว่าเด็กยังแยกไม่ออกระหว่างความอยากชั่ววูบกับความต้องการที่จำเป็นจริงๆ”

เอาตัวรอดกันดีกว่า : หาพื้นที่ในบ้านจัดมุมเล่นของลูกเป็นสัดส่วน มีกล่องใส่สมบัตินานาชนิดของเขาโดยเฉพาะ เพื่อให้เขาได้รื้อค้นอย่างอิสระ แต่หากพาลูกไปนอกบ้าน ในแผนกของเล่นมักมีโซนสำหรับเด็กให้เล่นของเล่นอยู่แล้ว ก็พาลูกไปเล่นเสียตรงนั้น ให้เขาเล่นและสำรวจอย่างเต็มที่ ซึ่งมักตามมาด้วยว่า ลูกมักติดใจอยากเอาของเล่นนั้นกลับบ้านด้วย วิธีจัดการคือ กำหนดเวลาก่อนให้ลูกเล่น ให้ลูกได้เห็นคุณตั้งนาฬิกาปลุกจากโทรศัพท์มือถือ เมื่อหมดเวลาเรียกเขามาดู เพื่อให้ลูกรู้ว่าคุณเอาจริง

 

Challenge # 3 : เงินไม่กี่บาท ดีกว่าปล่อยให้ดิ้นพราด

            เด็กในวัยนี้ยังควบคุมความอยากไม่ได้ เขายังสนุกและอยากเล่น เมื่อถูกขัดใจก็เป็นธรรมดาที่จะร้องไห้ พอเขาไปร้องกรี๊ดๆ กลางที่สาธารณะ คุณพ่อคุณแม่อาจรับมือไม่ถูกว่าจะทำอย่างไรดี ดุก็แล้ว ปลอบก็แล้ว อธิบายด้วยเหตุผลก็แล้ว ไม่ได้ผล สุดท้ายตัดปัญหาซื้อของเล่นชิ้นนั้นกลับบ้าน

“คุณพ่อคุณแม่บางคนอาจรู้สึกว่าเงินไม่กี่บาทไม่เป็นอะไรหรอก แต่การตามใจลูกทุกครั้งเป็นผลเสียมากกว่า ทั้งที่เป็นโอกาสฝึกให้ลูก แยกแยะระหว่างความอยากกับความต้องการได้ แต่ปล่อยโอกาสไป เมื่อโตขึ้นคุณอาจมีเงินมรดกที่มอบให้ลูก แต่ลูกก็จะได้ความไม่รู้จักยับยั้งชั่งใจเป็นมรดกทางอารมณ์ไปด้วย เรื่องเศร้าก็คือมีเงินเท่าไรก็หาซื้อทักษะยับยั้งชั่งใจไม่ได้ค่ะ”

เอาตัวรอดกันดีกว่า : เมื่อหมดเวลาเล่น แต่ลูกไม่ยอมปล่อยของเล่นชิ้นนั้น ให้คุณพ่อคุณแม่พูดกับลูกว่า “รู้จ้ะว่าอยากเล่น พร้อมทั้งแกะของเล่นในมือออกไปด้วย ลูกร้องไห้แน่นอน แต่เขาจะค่อยๆ เรียนรู้เองว่าร้องไห้ใช้ไม่ได้ผลกับพ่อแม่นะลูก”

 

บทความและภาพโดย : กองบรรณาธิการนิตยสารเรียลพาเรนติ้ง

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up